รับสังคมผู้สูงอายุ กำกับ ‘ธุรกิจดูแลผู้สูงวัย’ ***

รับสังคมผู้สูงอายุ กำกับ ‘ธุรกิจดูแลผู้สูงวัย’ ***

หลายท่านคงทราบกันดีว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และในปี 2563 ไทยจะขยับไปเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

ซึ่งประชากร 20% จะมีอายุเกิน 60 ปี ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ โดยประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุราว 14 ล้านคน คำถามที่ตามมาคือ ไทยมีความพร้อมมากน้อยเพียงใดในการรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ

ปัจจุบันแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะเป็นกำลังหลักในการดำเนินการเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เช่น การส่งเสริมระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การจัดทำหลักสูตรอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น

แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคเอกชนเป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีส่วนเสริมความพร้อมต่อการรองรับสังคมผู้สูงวัยเช่นกัน โดยเฉพาะบทบาทการเป็นผู้ให้บริการสถานดูแลผู้สูงอายุ

ในอดีตการส่งพ่อแม่หรือผู้สูงอายุในครอบครัวไปอาศัยตามสถานดูแลผู้สูงอายุหรือที่นิยมเรียกกันว่า “บ้านพักคนชรา” นั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่ด้วยสภาพสังคมและความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่ลูกหลานต้องไปทำงานนอกบ้าน การดูแลผู้สูงอายุจึงถูกถ่ายโอนไปยังบุคคลภายนอก เราจึงเห็นภาพของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเกิดขึ้นจำนวนมาก

ปัจจุบันมีสถานดูแลผู้สูงอายุที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว 800 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประมาณการได้จากจำนวนของผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเตียงซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของสถานดูแลผู้สูงอายุ และการสำรวจสุขภาวะของผู้สูงอายุของกรมอนามัย พบว่า ผู้สูงอายุประมาณ 2% จะมีภาวะติดเตียง หมายความว่า ผู้สูงอายุในปัจจุบันจำนวน 11 ล้านคน จะมีภาวะติดเตียงและต้องการผู้ดูแลมากถึง 2 แสนคน

แม้เราจะมีผู้ให้บริการบ้านพักผู้สูงวัยจำนวนมาก หากแต่เรายังไม่มีมาตรฐานบังคับสำหรับการให้บริการ ทั้งในด้านของอาคารสถานที่ การรักษาสุขอนามัย วิธีการปฏิบัติตนของผู้ดูแลต่อผู้สูงอายุ ตลอดจนวิชาชีพของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเพียงมาตรฐานโดยสมัครใจ เช่น คู่มือมาตรฐานบ้านพักผู้สูงอายุ แนวทางการควบคุมการประกอบกิจการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เป็นต้น แต่งานดูแลผู้สูงอายุถือเป็นบริการที่มีความอ่อนไหวสูง เพราะเกี่ยวข้องกับผู้ที่มีความเปราะบางทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การขาดการกำกับดูแลที่เข้มงวดอาจทำให้เกิดปัญหา ดังเช่นข่าวการถ่ายคลิปวิดีโอล้อเลียนผู้สูงอายุ โดยผู้ดูแลผู้สูงอายุของสถานดูแลแห่งหนึ่ง แต่เพราะยังไม่มีกฎหมายกำหนดบทลงโทษ เบื้องต้นทางสถานดูแลจึงแก้ปัญหาโดยให้ผู้ก่อเหตุพ้นสภาพการเป็นพนักงาน

การที่ไทยยังไม่มีกฎหมายกำกับการประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในภาคบังคับยังส่งผลในด้านอื่นๆ เช่น คนทั่วไปสามารถประกอบธุรกิจได้โดยไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตและไม่ต้องมีวุฒิการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้อง สถานดูแลบางแห่งอาจฝึกอบรมพนักงานระหว่างปฏิบัติงานเท่านั้น หรือเรื่องความแออัดภายในสถานดูแล เป็นต้น

จากประเด็นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลและชวนให้สังคมกลับมาตั้งคำถามว่า การให้บริการของสถานดูแลผู้สูงอายุในปัจจุบันนั้นมีคุณภาพมาตรฐานเพียงใด แล้วเราควรจะมีมาตรการป้องกันปัญหาหรือไม่อย่างไร

เมื่อศึกษาการกำกับดูแลธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในต่างประเทศ พบว่า มีการกำหนดมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุที่ชัดเจน ตัวอย่างกรณีรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐ มีการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจโฮมแคร์ต้องขออนุญาตประกอบกิจการ โดยก่อนที่จะได้รับและต่ออายุใบอนุญาตนั้น เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นจะทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประกอบการ ซึ่งกฎหมายกำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นแพทย์ หรือพยาบาลวิชาชีพ หรือผ่านการอบรมและมีประสบการณ์ในงานบริการด้านสุขภาพอย่างน้อย 1 ปี และตรวจสอบว่าผู้ขออนุญาตได้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่รัฐกำหนดหรือไม่ เช่น การจัดทำรายงานประจำปี นอกจากนี้ ในระดับผู้ปฏิบัติงานยังมีการกำหนดคุณสมบัติไว้อย่างชัดเจนว่ากิจกรรมใดจะต้องดูแลรับผิดชอบโดยใคร เช่น การพักฟื้นที่บ้านต้องอยู่ภายใต้การดูแลของพยาบาลวิชาชีพ การบำบัดที่บ้านต้องให้บริการโดยนักบำบัดที่ขึ้นทะเบียนแล้ว เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ข่าวดีอย่างหนึ่งคือเรากำลังจะมีกฎกระทรวงว่าด้วยสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง ออกตาม พ.ร.บ. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 เพื่อใช้กำกับดูแลธุรกิจดูแลผู้สูงอายุโดยตรง ตัวอย่างข้อปฏิบัติสำคัญเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การขออนุญาตประกอบกิจการ คุณสมบัติของผู้บริหารหรือผู้ให้บริการจะต้องมีวุฒิหรือประกาศนียบัตรด้านบริการเพื่อสุขภาพ และการปฏิบัติตามมาตรฐานของสถานประกอบการใน 3 ด้าน ได้แก่ มาตรฐานด้านสถานที่ เช่น การเว้นระยะห่างระหว่างเตียง มาตรฐานด้านความปลอดภัย เช่น การฝึกอบรมการทำ CPR แก่บุคลากร และมาตรฐานด้านการให้บริการ เช่น พนักงานต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่

ขณะที่นโยบายสำคัญสำหรับธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของไทย คือ การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการดูแลผู้สูงอายุของโลก ทั้งการส่งเสริมการประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุและการดึงดูดผู้ใช้บริการต่างชาติ ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ได้ คือการสร้างคุณภาพและมาตรฐานการบริการที่ดี การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการยกระดับคุณภาพมาตรฐานของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในภาพรวม แต่ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการคัดกรองนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลดีทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 *** ชื่อเต็ม: รับสังคมผู้สูงอายุ กำกับ ‘ธุรกิจดูแลผู้สูงวัย’ อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย... อุไรรัตน์ จันทรศิริ