จะกระจายอำนาจต้องยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

จะกระจายอำนาจต้องยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค

เรื่องของการกระจายอำนาจได้มีการถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการเปิดให้มีการจดแจ้งพรรคการเมืองใหม่

และให้มีการยืนยันสถานภาพของสมาชิกพรรคเดิม หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า update หรือบางพรรคใช้คำว่า reset กันใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งพรรคใหม่และพรรคเก่าต่างก็พูดถึงการกระจายอำนาจกันเกือบทั้งสิ้น เพราะเรื่องของการกระจายอำนาจนั้นถือได้ว่าเป็นวาระร่วมที่เกือบทุกพรรค หรือทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสิ่งที่จะต้องทำ แต่ว่าเมื่อไปดูในรายละเอียดว่าจะทำกันอย่างไรแล้ว พบว่าน้อยรายที่พูดถึงปัญหาของการคงอยู่ของราชการส่วนภูมิภาคที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการกระจายอำนาจ

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจในเบื้องต้นเสียก่อนว่า การบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ที่พูดถึงนั้นของไทยเราหมายความถึงอะไร

ราชการส่วนกลาง

หมายถึงกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่มีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงทั้งหลายเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในแต่ละกระทรวง ซึ่งรวมถึงสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีฐานะเป็นกระทรวงๆ หนึ่ง แต่ไม่เรียกว่ากระทรวงเท่านั้นเอง และมีนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีเป็นเจ้ากระทรวงและมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ

ราชการส่วนภูมิภาค

หมายถึงจังหวัดและอำเภอ ซึ่งเป็นการแบ่งอำนาจของราชการส่วนกลางบางส่วนลงไปในพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในจังหวัด และมีนายอำเภอซึ่งสังกัดกรมการปกครองเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในอำเภอ ซึ่งทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมีอำนาจเฉพาะเพียงที่ได้รับมอบหมายจากส่วนกลาง และตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 และที่สำคัญทั้งจังหวัดและอำเภอไม่มีงบประมาณเป็นของตนเองแต่อย่างใด ต้องอาศัยการจัดสรรจากราชการส่วนกลางลงไปในพื้นที่

การบริหารราชการส่วนภูมิภาคนั้นเป็นการนำหลักการของการแบ่งอำนาจมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยหลักการแบ่งอำนาจการปกครองนั้นอันที่จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของหลักการรวมอำนาจปกครอง เพียงแต่ขยายไปยังราชการส่วนภูมิภาค โดยมีหลักการสำคัญ คือ

1.ใช้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง

2.บริหารโดยใช้งบประมาณจากส่วนกลางเป็นผู้อนุมัติ

3.บริหารงานภายใต้นโยบายและวัตถุประสงค์ของรัฐบาลกลาง

ราชการส่วนท้องถิ่น

การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการกระจายอำนาจปกครอง ซึ่งมีลักษณะสำคัญ คือ มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นนิติบุคคลแยกอิสระออกจากการบริหารราชการส่วนกลาง ทำให้มีสิทธิและอำนาจในการทำนิติกรรมและสัญญาต่างๆ ตลอดจนเป็นเจ้าของหรือถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชนในท้องถิ่น โดยมีเจ้าหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณและรายได้เป็นของท้องถิ่นเอง มีการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง ซึ่งของไทยเรามี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบทั่วไปได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กับรูปแบบพิเศษคือ กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

เหตุใดจึงต้องยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค

1.เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางด้านการเมืองและการปกครอง เพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่ไว้วางใจประชาชนในท้องถิ่น

2.เกิดความล่าช้า เพราะเป็นการเพิ่มขั้นตอน

3.ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อท้องถิ่น เพราะถูกบริหารจัดการจากเจ้าหน้าที่ที่มาจากที่อื่น ในบางจังหวัดปีเดียวมีการย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอตั้ง 2-3 หน

เมื่อยกเลิกจังหวัดที่เป็นราชการส่วนภูมิภาค เปลี่ยนเป็นราชการส่วนท้องถิ่นหรือจังหวัดจัดการตนเองแล้ว จังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำอะไร

อำนาจหน้าที่ของจังหวัดจัดการตนเอง มีดังนี้

1.กิจการตำรวจ บริหารงานโดยคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ

2.การควบคุมดูแลโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การวางผังเมือง ถนน ทางหลวง แม่น้ำ เคหะชุมชน

3.บริหารจัดการโรงเรียนมัธยมปลาย การจัดสรรเงินเดือนและสวัสดิการของครู

4.สวัสดิการสังคม ได้แก่ สวัสดิการเด็ก สวัสดิการผู้สูงอายุ

5.การสาธารณสุขและอนามัย

6.การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม เช่น การสร้างศูนย์อุตสาหกรรมเพื่อดึงดูดการลงทุน

อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดจัดการตนเอง มีดังนี้

1.บริหารงานของจังหวัดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

2.เสนอร่างกฎหมายต่างๆ เพื่อให้สภาจังหวัดพิจารณา

3.เสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อให้สภาจังหวัดอนุมัติ และบริหารงบประมาณตามที่ได้รับการอนุมัติอย่างมีประสิทธิภาพ

4.จัดเก็บภาษี ค่าธรรมเนียม และค่าปรับต่างๆ

5.ควบคุมดูแลบัญชีการเงิน

6.อนุมัติสัญญา จัดตั้ง บริหารกิจการสาธารณะ และยุบเลิกกิจการสาธารณะ

7.แต่งตั้งและปลดรองผู้ว่าราชการจังหวัด

8.แต่งตั้งและบริหารเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น

9.อำนาจในการยุบสภาจังหวัด

10.อำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทนรัฐบาลกลาง เพื่อดำเนินกิจการบางอย่างแทนให้สำเร็จลุล่วงตามกฎระเบียบและแนวทางที่รัฐบาลกลางวางไว้

จะเห็นได้ว่าเมื่อยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคแล้ว จังหวัดจัดการตนเองที่เป็นราชการส่วนท้องถิ่นนั้นเองก็จะเป็นผู้ทำหน้าที่แทน ขั้นตอนต่างๆ ก็จะลดสั้นลง จังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยให้ราชการส่วนกลางทำหน้าที่ในเรื่องสำคัญๆ เท่านั้น เช่น การทหาร การต่างประเทศ การเงินการคลังระดับชาติ และการศาล

เมื่อขั้นตอนสั้นลง ท้องถิ่นอำนาจมีมากขึ้นประสิทธิภาพย่อมมากขึ้น และเมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ชาติก็เข้มแข็ง หากปล่อยให้ท้องถิ่นอ่อนแอหรือหวงอำนาจอยู่อย่างนี้ จึงไม่มีทางที่ชาติจะเข้มแข็งได้อย่างแน่นอน 

 

หมายเหตุ ค้นคว้าเพิ่มเติมได้ที่

1.https://prachatai.com/journal/2011/02/33255

2.http://www.chaoprayanews.com/2011/11/30/%E0%B8%8A%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%8D-%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%84/

3.https://prachatai.com/journal/2013/12/50536