Smart Contract … อนาคตของการโอนเงินระหว่างประเทศ (ตอนที่ 2)

Smart Contract … อนาคตของการโอนเงินระหว่างประเทศ (ตอนที่ 2)

Smart Contract … อนาคตของการโอนเงินระหว่างประเทศ (ตอนที่ 2)

การโอนเงินระหว่างประเทศที่ดีคือ โอนถึงเร็ว รู้เลยว่าถึงเมื่อไร เช็คสถานะได้ว่าเงินถึงไหน

ทั้งหมดนี้ไกลกับความเป็นจริงที่ต้องเจอในการโอนเงินไปต่างประเทศกับธนาคาร พูดกันตามตรงแล้วผู้ให้บริการที่เป็น non-bank ยังทำได้ดีกว่าในจุดนี้ ติดแค่ค่าธรรมเนียมที่แพงกว่า ขนาดธุรกรรมและเครือข่ายที่จำกัดและความน่าเชื่อถือที่อาจยังไม่เท่าระบบธนาคาร ถ้าเป็นการโอนเงินส่วนบุคคลนี่คงไม่เป็นประเด็น แต่ถ้าเป็นการชำระเงินในภาคธุรกิจซึ่งต้องการหลักฐานที่มีผลทางกฏหมายและการใช้เครื่องมือทางการค้าระหว่างประเทศ เช่นการเปิด Letter of Credit อย่างไรคู่ค้าคงจะขอรับเงินผ่านธนาคาร

แล้วระบบธนาคารจะปรับตัวอย่างไรให้การบริการตรงนี้ดีขึ้นตามที่กล่าวไว้ตอนต้น … คำตอบอยู่ที่เทคโนโลยี Smart Contract   

เรามาเข้าใจกันก่อนครับว่า Smart Contract ก็คือ สัญญาในรูปแบบดิจิทัลที่อยู่บนเครือข่าย Blockchain ที่มีการกระจายข้อมูลให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทุกคนมีข้อมูลที่เหมือนกันหมด ทำให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ว่าสัญญานี้มีตัวตนและมีการบรรลุจริง โดยข้อตกลงหรือธุรกรรมต่างๆในสัญญาจะถูกจัดการโดยอัตโนมัติ ทันทีที่เงื่อนไขในสัญญานั้นเกิดครบถ้วน  ซึ่งจะช่วยให้การบังคับใช้สัญญาตามข้อตกลงถูกดำเนินการโดยอัตโนมัติ รวดเร็ว ถูกต้อง โปร่งใส ลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน      

แล้ว Smart Contract จะเข้ามาปฏิวัติระบบการโอนเงินระหว่างประเทศอย่างไร เราดูได้จากภาพประกอบครับ เริ่มจาก ผู้โอนให้คำสั่งการโอนและโอนเงินบาทไปให้ธนาคารผู้ส่งที่อยู่ในเครือข่าย  ธนาคารผู้ส่งทำการสร้างสัญญาดิจิทัลซึ่งธนาคารผู้รับจะได้ข้อมูลทันที  โดยสัญญามีรายละเอียดและเงื่อนไขของธุรกรรมทั้งหมด ซึ่งประกอบไปด้วยตัวตนของผู้รับ ผู้โอน จำนวนเงิน วันเวลา อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในสัญญา และเงื่อนไขการโอนอื่นๆ   จากนั้นธนาคารผู้ส่งก็โอนเงินดิจิทัลหรือที่เราเรียกกันว่า Crypto-currency ไปให้ธนาคารผู้รับเพื่อให้เงื่อนไขของ Smart Contract สมบูรณ์  จากนั้นธนาคารผู้รับโอนเงินสกุลต่างประเทศต่อให้ผู้รับ จากนั้นธนาคารผู้ส่งจึงส่งเงินจริงๆในรูปสกุลต่างประเทศตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงไว้ในสัญญาให้ธนาคารผู้รับ

แล้วทำไมต้องใช้เงินดิจิทัล … ถ้าสุดท้ายแล้วธนาคารก็โอนเงินจริงๆข้ามประเทศ ตรงนี้ต้องเข้าใจครับว่าขั้นตอนนี้ซับซ้อนเพราะต้องทำผ่านการ credit/debit จาก Vostro เงินบาทและ Nostro เงินสกุลต่างประเทศ และใช้เวลานานเพราะเจอเรื่องความต่างของเวลาทำการ วันหยุดและอื่นๆ  ซึ่งตรงนี้ลูกค้าทั้งผู้โอนและผู้รับไม่จำเป็นต้องมารอ ถ้ามีการใช้ Smart Contract และธนาคารผู้ส่งทำการโอนเงินดิจิทัล (ซึ่งก็คือสัญญาการชำระเงินระหว่างธนาคารอย่างนึง) ให้ธนาคารผู้รับทันที โดยลูกค้าฝั่งผู้รับได้รับเงินไปก่อน ส่วนธนาคารก็ตามเคลียร์บัญชีกันภายหลัง

พูดง่ายๆคือเงินไปถึงมือผู้รับเร็วขึ้น และการที่เป็น Smart Contract จะทำให้การเช็คสถานะง่ายขึ้น เนื่องจากธนาคารทั้งสองฝ่ายเห็นข้อมูลเดียวกันและพร้อมกัน อีกทั้งยังสามารถบอกลูกค้าได้ว่าโอนไปแล้วเงินน่าจะถึงเมื่อไร

ถ้ามันดีขนาดนี้ ทำไมระบบธนาคารไม่ใช้สักที …  ประเด็นอยู่ที่ทำยังไงให้ธนาคารต่างๆในหลายประเทศเข้ามาอยู่ในเครือข่าย เพราะถ้าธนาคารผู้รับหรือผู้ส่งไม่อยู่ในระบบ Blockchain เดียวกัน การโอนท้ายสุดก็ต้องโอนผ่านธนาคารตัวกลางบนขั้นตอนและระบบเดิมๆทำให้ไม่มีประสิทธิภาพอยู่ดี 

 ปัจจุบันมีหลายค่ายที่พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศในลักษณะที่ว่า แต่ที่น่าจับตาคือ Ripple ใช่ครับเจ้าเดียวกันที่ทำเงินดิจิทัลที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก Bitcoin ซึ่งหลายธนาคารระดับโลกได้ให้ความสนใจมาพาร์ทเนอร์ในระบบและมีการเริ่มใช้งานใน 27 ประเทศ  ทางเลือกที่มีขึ้นอีกทางคือระบบ SWIFT GPI ซึ่ง SWIFT เองเป็นรากฐานของการชำระเงินระหว่างประเทศมานานกว่าสี่สิบปีและมีธนาคารสมาชิกถึง 11,000 ธนาคาร  แต่โดยเนื้อแล้วระบบของ SWIFT GPI ต่างจาก Ripple ก็คือไม่มีการใช้เงินดิจิทัลของตัวเองเอง แต่เป็นการใช้ระบบ Blockchain เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงินเดิม

อนาคตของการโอนเงินระหว่างประเทศจะไปอยู่ที่ไหน … เหมือนกับทุกธุรกิจในยุคดิจิทัลครับ คือ Winner takes all (or most of it!)  แพลตฟอร์มที่จะประสบความสำเร็จคือแพลตฟอร์มที่มีธนาคารทั้งในและระหว่างประเทศมาเข้าร่วม ยิ่งสมาชิกเยอะการโอนก็ยิ่งครอบคลุมรองรับลูกค้าได้ทั่วทุกมุมโลก  ถ้า SWIFT GPI ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในช่วง Proof of Concept  สามารถนำมาใช้งานจริงได้เร็วและใช้ความแข็งแกร่งจากจำนวนธนาคารสมาชิกที่มีอยู่ ตรงนี้น่าจะได้เปรียบมาก แต่กว่าเราๆท่านๆจะได้ใช้แบบเต็มรูปแบบและครอบคลุมธุรกรรมในทุกประเทศ คงเกิดขึ้นไม่ทันในปีนี้ ปีหน้าครับ