ย้อนมองพัฒนาการ Peer-to-Peer Lending ในช่วงปีที่ผ่านมา

ย้อนมองพัฒนาการ Peer-to-Peer Lending  ในช่วงปีที่ผ่านมา

ในขณะที่กระแสการลงทุนในเงินตราดิจิทัล(Cryptocurrency) อย่างBitcoin หรือการระดมทุนโดยการเสนอขายเหรียญดิจิทัล(Initial Coin Offings) กำลังมาแรง

จนน่าจะกลบกระแสธุรกิจฟินเทคอื่นไปหลายตัวทีเดียว หลาย ๆ ท่านอาจจำได้ว่าช่วงปี 2559 ที่ผ่านมานี้ ธุรกิจให้บริการการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลผ่านช่องทางออนไลน์ (Peer-to-Peer Lending หรือ P2P Lending) ก็เป็นรูปแบบธุรกิจฟินเทคที่ได้รับความสนใจในขณะนั้นเป็นอย่างมากเช่นกัน (ถึงแม้จะมีการทำธุรกิจนี้ในประเทศอื่นมานานมากแล้ว) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ตอบรับกระแสได้อย่างรวดเร็ว โดยร่างเกณฑ์การกำกับดูแลและจัดประชุมรับฟังความเห็นจากภาคธุรกิจอีกด้วย 

ผู้เขียนจึงอยากกล่าวถึงพัฒนาการในรอบปีที่ผ่านมาของธุรกิจ P2P Lending ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้างทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศอย่างในสหราชอาณาจักรค่ะ

กล่าวโดยสรุป ธุรกิจ P2P Lending คือ ธุรกิจให้บริการกู้ยืมระหว่างบุคคลต่อบุคคลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งอาจมีหรือไม่มีหลักประกันก็ได้ 

ตัวแพลตฟอร์มออนไลน์นี้ จะทำหน้าที่จับคู่ระหว่างผู้ให้กู้ (หรือนักลงทุน) ที่ต้องการผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนด้วยวิธีอื่น และผู้กู้ที่ต้องการกู้เงินด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการกู้เงินจากธนาคารหรือผู้ประกอบธุรกิจให้กู้ยืมเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น อิออน หรืออีซี่บาย และต้องการความยืดหยุ่นในการชำระเงินคืน 

ดังนั้น การเข้าทำธุรกรรมการกู้ยืมเงินจะเป็นการเข้าทำระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้โดยตรง และผู้ให้บริกาP2P Lending มีหน้าที่ดูแลธุรกรรมที่ทำขึ้นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย รูปแบบธุรกรรม P2P Lending นี้นอกจากจะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย และต้นทุนต่ำแล้ว ยังทำให้นักลงทุนสามารถใช้ทรัพยากรที่ตนมีเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้นได้อีกด้วย

ดังที่ได้กล่าวไปเบื้องต้นว่า ธปท. ได้ร่างเกณฑ์การกำกับดูแลธุรกิจ P2P Lending ขึ้นมา และผ่านขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากภาคธุรกิจกันไปเมื่อปีที่แล้ว ตามความเข้าใจของผู้เขียนในขณะที่เขียนบทความนี้ ร่างเกณฑ์การกำกับ P2P Lending กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง เนื่องจากเป็นรูปแบบธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง 

ระเด็นที่ทางหน่วยงานกำกับดูแลยังคงเป็นกังวล จึงยังคงหนีไม่พ้นเรื่องความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ความมั่นคงในการประกอบธุรกิจ และการคุ้มครองผู้บริโภค(เช่น การเก็บรักษาเงินที่รับมาจากผู้ให้กู้และผู้กู้ผ่านทางแพลตฟอร์ม การรักษาความลับ เป็นต้น) 

ผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจ P2P Lending ในประเทศไทยอาจจะต้องอดใจรออีกนิดและติดตามกันต่อไปว่าเกณฑ์การกำกับดูแลของ ธปท. จะออกมาในรูปแบบใด

ในประเทศที่มีการประกอบธุรกิจ P2P Lending เป็นที่แรกอย่างสหราชอาณาจักร  ธุรกิจ P2P Lending ถือเป็นแหล่งเงินทุนที่มีความสำคัญมากต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SME 

ในปี 2559 แหล่งเงินทุน P2P Lending ให้บริการธุรกรรมรวมกันมูลค่าสูงถึง 1.2 พันล้านปอนด์ทีเดียว และในขณะนี้รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อรับรองว่าธุรกิจการให้กู้ยืมเงินแบบ P2P Lending เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (นอกจากว่าธุรกิจหลักเป็นธุรกิจธนาคารพาณิชย์) 

ผลของการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบธุรกิจ P2P Lending มากขึ้น เพื่อให้คลายความกังวลว่าการให้กู้ยืมเงินแบบ P2P Lending จะต้องถูกกำกับดูแลอย่างธนาคารพาณิชย์หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจ P2P Lending ให้บริการแก่ประชาชนและภาคธุรกิจได้กว้างขวางยิ่งขึ้น และเชื่อว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้นต่อไป

รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ประกาศให้มีการใช้บัญชีฝากเงินแบบใหม่เรียกว่า Innovative Finance Individual Savings Accounts (Innovative Finance ISAs) เพื่อให้ผู้ฝากเงินในบัญชีนี้ (ซึ่งต้องเปิดบัญชีกับผู้ให้บริการ P2P Lending ที่อยู่ในโครงการ เช่น Zopa) สามารถนำเงินในบัญชีทั้งหมดหรือบางส่วนเ พื่อลงทุนในธุรกิจ P2P Lending ที่ตนมีบัญชีอยู่ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าบัญชีเงินฝากปกติ ดอกเบี้ยที่จ่ายเข้าบัญชี Innovative Finance ISA และส่วนต่างผลตอบแทน (Capital Gain) ที่ได้รับจ ะิรับการยกเว้นภาษีอีกด้วย ทั้งนี้ เพดานการลงทุนในบัญชี Innovative Finance ISA จะอยู่ที่ 20,000 ปอนด์ สำหรับปีภาษี 2017/2018

แม้ธุรกิจ P2P Lending จะมีความเสี่ยงอย่างที่หน่วยงานกำกับดูแลในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยเป็นกังวลก็ตาม แต่จะเห็นได้จากตัวอย่างการดำเนินธุรกิจและการกำกับดูแลจากประเทศที่มีการทำธุรกิจ P2P Lending มาอย่างช้านาน เช่น สหราชอาณาจักรดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ก็เป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่า ธุรกิจฟินเทคก็มีส่วนช่วยให้มีการพัฒนาแหล่งเงินทุนในประเทศให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น 

ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแลจึงควรพิจารณาไม่ให้กรอบการกำกับดูแลที่ออกมาไม่เป็นการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจจนเกินไป

พบกันใหม่คราวหน้าค่ะ

 

โดย... 

วิภาวัส ยิ่งศักดิ์มงคล

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]

/บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่