Box Office Futures (Revisited)

Box Office Futures (Revisited)

Box Office Futures (Revisited)

สำหรับช่วงสองเดือนสุดท้ายของปี 2560 นี้ ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนภาพยนตร์ Hollywood คงรู้สึกอิ่มเอมเหมือนผม ที่หนังฟอร์มยักษ์ Big Name ต่างเปิดตัวเข้าฉายมาเป็นระลอก ไล่ไปตั้งแต่ Thor-Ragnarok (จาก Marvel)  Justice League (จาก DC)  และตามมาปิดท้ายปีด้วยสุดยอดหนัง franchise อย่าง Star Wars The Last Jedi

เป็นที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วสำหรับค่าย DC ที่จะต้องผิดหวังกับผลงานของ Justice League ที่ถึงแม้จะรวมเอาบรรดา Super Hero ที่เป็นที่รู้จักกันดี อย่าง Batman/Wonder Woman และ Superman แต่จากตัวเลขรายได้ Box Office ที่ตั้งแต่เปิดตัวออกมาทำได้ต่ำกว่าหนังเดียวของ Wonder Woman เสียอีก โดยตัวเลขล่าสุดใน Box Office รายงานโดย Box Office Mojo (วันที่ 10 ธันวาคม 2560) Justice League ทำเงินทั่วโลกได้เพียง 614.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่ำกว่าที่คาดหวังที่มากกว่าพันล้านเหรียญ ซึ่งแม้จะสูงกว่าต้นทุนการสร้างที่ประมาณ 300 ล้านเหรียญอยู่พอสมควร แต่ความหวังของ DC ที่จะนำ Justice League มาต่อกรอย่างสมน้ำสมเนื้อกับ Brand Avengers ของค่าย Marvel ก็ดูเหมือนจะเหลือความหวังเพียงริบหรี่เท่านั้น

เป็นที่รู้ดีกันว่า การสร้างภาพยนตร์หรือหนังแต่ละเรื่อง ต่างต้องมีการทุ่มทุนกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการ Hollywood (วงการหนังของสหรัฐ) แค่ค่าตัวของคนแสดงหนัง ก็ปาเข้าไปเกินกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว (กว่า 350 ล้านบาทต่อเรื่อง) ยังไม่รวมถึงต้นทุนในการสร้างที่ส่วนใหญ่ก็ปาเข้าไปอีกหลายสิบล้านเหรียญ ซึ่งเป็นเหตุให้เมื่อถึงเวลาที่หนังนั้นเข้าฉาย ปรากฏมีหนังเป็นจำนวนมากต้องประสบกับภาวะขาดทุน จากการไม่สามารถทำตัวเลขใน Box Office ให้สูงเพียงพอกับค่าใช้จ่ายได้

ทำให้หวนนึกถึงเรื่องราวเมื่อประมาณ 7 – 8  ปี ที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องราวเกียวกับ Box Office Futures ที่บริษัท Cantor Fitzgerald ได้ริเริ่มขึ้นที่ตลาดที่ชื่อว่า Cantor Exchange ซึ่งถูกออกแบบไว้สำหรับ Media Derivatives โดยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2553 ทาง US Commodity Futures Trading Commission (US CFTC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลการซื้อขายล่วงหน้าในสหรัฐ (ในบ้านเราก็อาจเทียบเคียงได้กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. บ้านเรา) ได้อนุมัติเจ้าตัว Movie Box Office Futures Contract ดังกล่าว ให้ซื้อขายใน Cantor Exchange ได้

การซื้อขายล่วงหน้า Movie Box Office Futures เป็นการซื้อขายล่วงหน้าตัวเลขรายได้ของภาพยนตร์ในแต่ละเรื่องในช่วง 4 สัปดาห์แรกที่ภาพยนตร์แต่ละเรื่องออกฉาย ผู้ที่คาดการณ์ว่ารายได้ของภาพยนตร์เรื่องใดจะมากกว่าราคาของ Futures ที่ซื้อขายกันอยู่ก็สามารถเข้าซื้อล่วงหน้า หรือ เข้ามาเปิด Long Position สำหรับ Movie Box Office Futures สำหรับหนังเรื่องนั้น ๆ ได้ แล้วจะมีกำไรเมื่อราคาของ Futures ปรับตัวสูงขึ้น (รายได้ของหนังได้มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้)

ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่คาดการณ์ว่ารายได้ของหนังในช่วง 4 สัปดาห์แรกจะน้อยกว่าราคาของ Futures ที่ซื้อขายกันอยู่ก็สามารถเข้ามาขายล่วงหน้า หรือ เข้ามาเปิด Short Position สำหรับ Movie Box Office Futures และจะทำกำไรเมื่อราคา Futures ปรับตัวลดลง (รายได้ของหนังได้น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้)

การเปิดให้มีการซื้อขายล่วงหน้า Movie Box Office Futures หากประสบความสำเร็จจะช่วยให้ผู้สร้างหนัง สามารถบริหารความเสี่ยงของตนได้ด้วยการเข้าบริหารความเสี่ยงในตลาด Cantor Exchange นี้ เพื่อประกันรายได้ที่ตนจะได้รับจากการสร้างหนังแต่ละเรื่องได้

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553 ก็ได้มีเหตุเกิดขึ้นกับ Movie Box Office Futures ซึ่งหากเรียกเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ตายก่อนที่จะคลอด โดยในระหว่างการผ่านร่างกฏหมาย Financial Reform Bill สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ได้มีมติไม่อนุมัติให้มีการซื้อขาย Movie Box Office Futures แม้ว่าจะผ่านการเห็นชอบจาก CFTC แล้ว เป็นการปิดฉากของ Media Derivatives ในเวลานั้น

กลับมาปัจจุบัน หลังจาก Bitcoin Futures ได้รับการอนุมัติและได้เริ่มการซื้อขายแล้วที่ตลาดชั้นนำอย่าง Chicago Mercantile Exchange หรือ CME group ผู้คนที่เกี่ยวข้องกับ Media Derivatives ได้กลับมาเริ่มพูดถึง Box Office Futures กันอีกครั้ง ภายใต้เหตุผลสนับสนุนที่ว่า Media Derivatives น่าจะมีประโยชน์กว่า Bitcoin Futures ที่ได้รับอนุมัติออกมาล่าสุดนี้