เมื่อไต้ฝุ่นหาญปะทะทอร์นาโด

เมื่อไต้ฝุ่นหาญปะทะทอร์นาโด

เมื่อไต้ฝุ่นหาญปะทะทอร์นาโด

การแลกหมัด สาดกระสุนทางคำพูดในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯนายโดนัลด์ ทรัมป์ และฝ่ายเกาหลีเหนือ ภายใต้การนำของผู้นำสูงสุด คิม จอง อึน เพิ่มอุณหภูมิระหว่างประเทศให้ร้อนระอุขึ้นอย่างมาก

ผู้นำเกาหลีเหนือนั้น เชื่อกันว่าเป็นคนอารมณ์ร้าย และยึดถือตนเองเป็นศูนย์กลาง โดยนับตั้งแต่ขึ้นรับตำแหน่งผู้นำสูงสุดก็ได้ดำเนินนโยบายแข็งกร้าว โดยประหารทั้งญาติและผู้ใต้บังคับบัญชาที่ต้องสงสัยว่าจะทรยศ หรือเป็นภัยต่อฐานอำนาจของตน รวมถึงสร้างขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์พิสัยไกลที่สามารถโจมตีดินแดนบางส่วนของสหรัฐฯได้

ส่วนนายทรัมป์นั้น เป็นผู้นำที่เน้นการสร้างวาทกรรมทางการเมืองที่โลดโผน วันนี้พูดอย่างหนึ่ง ทำจริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ไม่มีใครรู้แน่ว่าเขาจะทำอะไรกันแน่ (ไม่เว้นแม้แต่ที่ปรึกษาของตนเอง!) ซึ่งทำให้หลายคนระลึกถึงนโยบายต่างประเทศแบบ “ทฤษฏีคนบ้า” (Madman Theory) ของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ในสงครามเวียดนามที่พยายามสร้างภาพของตนเองให้คู่ต่อสู้อย่างเวียดนามเหนือรู้สึกครั่นคร้ามใจตลอดเวลาว่าสหรัฐฯอาจดำเนินนโยบายทางการทหารที่คาดไม่ถึง และกดดันให้เลือกที่จะทำการเจรจากับสหรัฐฯแทน

การประมือกันของสองผู้นำที่มีความ “ระห่ำ” ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันนี้ สร้างความกังวลใจให้กับพันธมิตรของทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่รู้เลยว่าที่ขู่กันฟ่อดๆนี้เป็นเพียงคำขู่หรือเป็นเรื่องจริงกันแน่ และถ้าเกิดใครตัดสินใจเปิดฉากทำจริงขึ้นมาก่อน ผลที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในคาบสมุทรเกาหลี หรือแม้กระทั่งประเทศอื่นๆในโลกจะเป็นเช่นไร

สำนักวิจัย Capital Economics โดย กาเร็ธ เล็ธเธอร์ และ คริสตัล แทน ได้ออกบทวิเคราะห์ถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่อาจมีขึ้นหากเกิดสงครามในคาบสมุทรเกาหลีขึ้นจริง โดยได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบของสงครามต่างๆนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2เป็นต้นมา พบว่าสงครามที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงที่สุดคือสงครามเกาหลีในช่วงปี 2493 – 2496 ซึ่งส่งผลให้ประชาชนเกาหลีใต้เสียชีวิตกว่า 1.2 ล้านคน และ GDP ลดลงกว่า 80%ในขณะที่สงครามในอิรักคูเวต(ปี 2534)และซีเรีย (ปี 2554 – 2559)ส่งผลให้ GDP ของประเทศเหล่านี้ลดลงมากถึงประมาณ 60%

แม้ว่าเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสงครามครั้งนี้ แต่เนื่องด้วยเกาหลีใต้มีสัดส่วนถึง 2% ของ GDP โลก และมีสัดส่วนการส่งออกของผลผลิตขั้นกลาง (Intermediate Exports) เกือบ 4% ของโลก เทียบกับไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกของผลผลิตขั้นกลางเพียง 1% เศษ แต่กลับส่งผลให้ GDP ของโลกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ลดลงถึง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย

เกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตจอ LCD รายใหญ่ที่สุดของโลก (สัดส่วน 40%) เป็นผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 (สัดส่วน 17%)และยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ รวมถึงเป็นผู้ต่อเรือ 3 รายที่ใหญ่ที่สุดของโลกอีกด้วย

ดังนั้น หากเกิดเหตุใดๆที่กระทบกับสายการผลิตสินค้าในเกาหลีใต้ จะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้าเพื่อการผลิตต่อไปทั่วโลก โดยการสร้างโรงงานเซมิคอนดัคเตอร์ขึ้นใหม่ตั้งแต่ต้นนั้นต้องใช้เวลาอีกถึง 2 ปีจึงจะกลับมาผลิตได้

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในมุมของการลงทุนในหลักทรัพย์ จากข้อมูลการวิเคราะห์ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJIA) ภายหลังเหตุการณ์รุนแรงทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2525 ของ Ned Davis Research พบว่าในกรณีการใช้กำลังทหารเข้าสู้รบ นั้น DJIA ปรับลดลงทันทีมากที่สุด -13.3% เมื่ออิรักบุกยึดคูเวต ในขณะที่ 1 เดือนให้หลังมีเพียงกรณีหมู่เกาะฟอร์คแลนด์ การถล่มลิเบียของสหรัฐฯการบุกยึดปานามา การเข้ารุกล้ำอธิปไตยของจอร์เจียโดยรัสเซีย ที่ DJIA ลดลงตั้งแต่ – 2.7 ถึง – 8.5% ขณะที่ในช่วง 6 เดือนให้หลังนั้นมีเพียงการรุกรานเกรนาดาของสหรัฐฯ การทิ้งระเบิดในลิเบีย และการสู้รบในจอร์เจียที่ DJIAยังคงเป็นลบ แสดงให้เห็นว่าสงครามมิได้ส่งผลต่อตลาดหุ้นในทางลบยาวนานอย่างที่หลายคนคิดกัน และการกระจายการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตนรับได้นั้นจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้นลงได้