Digital Nomad และ Workation

Digital Nomad และ Workation

การเชื่อมต่อของอินเทอร์เน็ตและดิจิทัลไม่เพียงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการในการแข่งขันและดำเนินธุรกิจ

แต่ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีในการทำงานของมนุษย์เรา ปัจจุบันผมจะได้ยินและอ่านเกี่ยวกับวิถีการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้นอย่างเช่นเรื่องของ Digital Nomad และ Workation ก็เป็นอีกสองเรื่องที่ได้พบเจอมากขึ้นในช่วงหลัง

 

Digital nomad มีที่มาจากหนังสือชื่อเดียวกันในปี 1997 ที่ผู้เขียนบัญญัติศัพท์นี้ขึ้นมา โดยพยากรณ์ว่าในอนาคตคนจะเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบชาว nomadic (ที่เร่ร่อนจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งและเปลี่ยนที่อยู่เรื่อยๆ) และเทคโนโลยีจะกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การทำงานของคนไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับสถานที่ใดสถานที่หนึ่งโดยเฉพาะ

 

ชีวิตแบบ digital nomad คือ การที่คนยุคปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องอยู่ประจำ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งเพื่อทำงานหาเลี้ยงชีพ แต่สามารถเร่ร่อนไปตามประเทศต่างๆ เพียงขอให้แค่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ก็สามารถที่จะทำงานเลี้ยงชีพไปด้วย ท่องเที่ยวไปด้วย ดังนั้นอย่าแปลกใจที่จะเห็นชาวต่างชาติ มานั่งตามร้านกาแฟ หรือตาม co-working space ต่างๆ แล้วก็นั่งทำงานกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

 

อาชีพที่เหมาะกับพวก Digital nomad เหล่านี้ ก็มักจะเป็นงานที่สามารถทำงานได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสถานที่หรือ location เช่น การเป็นนักเขียน นักพัฒนาเว็บ หรือ แอพ นักการตลาด ผู้ดูแลสื่อสังคมออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาชีพที่สามารถทำงานจากสถานที่ใดในโลกก็ได้

 

นอกจาก Digital nomad แล้วยังมีศัพท์อีกคำที่โผล่มาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือ Workation ซึ่งเป็นการนำคำสองคำมาผสมกัน นั้นคือ work + vacation ถ้าแปลตรงตัว workation คือการทำงานไปพร้อมๆ กับการพักร้อน บางท่านจะมองว่า Digital nomad คือเรื่องเดียวกับ Workation แต่บางท่านก็จะมองสองส่วนนี้ต่างกัน โดยมองว่า Workation เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Digital nomad เนื่องจากมองว่า Workation นั้นเป็นการทำงานพร้อมกับการพักผ่อน ส่วน Digital nomad นั้นจะครอบคลุมกว่า เพราะเป็นการทำงานโดยไม่ยึดติดกับสถานที่และเปลี่ยนย้ายที่ไปเรื่อยๆ

 

แต่ไม่ว่าจะนิยามเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ทั้ง Digital nomad และ Workation ก็ล้วนแล้วแต่เป็นหนึ่งในผลิตผลของพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้คนสามารถทำงานได้จากทุกมุมโลก ขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพมุมมองและทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบการทำงานประจำ ไม่ยึดติดกับสถานที่และ office ในรูปแบบเดิมๆ สามารถนั่งทำงานตามร้านกาแฟหรือตาม co-working space ได้

 

ประเทศไทยรวมทั้งประเทศอื่นๆ ในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสวรรค์ของเหล่า Digital nomad จากทั่วโลก สื่อมวลชนจากต่างประเทศหลายแหล่งได้ยกย่องให้ประเทศไทยเป็นสุดยอดดินแดนสำหรับ Digital nomad เนื่องจากประเทศไทยนั้นประกอบด้วยบรรยากาศที่หลากหลายทั้งหาดทราย ภูเขา วัฒนธรรม รวมถึงความเป็นเมืองใหญ่ จังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำของไทยอย่างเช่นภูเก็ตหรือเชียงใหม่เป็นเป้าหมายสำคัญของเหล่า Digital nomad ทั้งหลาย นอกจากนี้สื่อมวลชนต่างประเทศยังมองว่าถึงแม้ความเร็วอินเทอร์เน็ตของไทยจะไม่ได้รวดเร็วมากเหมือนกับบางประเทศอย่างเช่นเกาหลีใต้หรือฮ่องกง แต่ก็มีความเร็วในระดับที่ใช้ได้ โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนที่สำคัญ

 

นอกจากนี้สาเหตุอื่นๆ ที่สำคัญที่ทำให้ไทยเป็นสวรรค์ของเหล่า nomad ทั้งหลายยังประกอบด้วยเรื่องของอากาศที่ดี คนที่เป็นมิตร ค่าครองชีพที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก ที่สำคัญคือมีเหล่า nomad อื่นๆ อยู่ในไทยค่อนข้างมาก และการขอวีซ่าสำหรับการเข้ามาท่องเที่ยวของไทยนั้นก็ไม่ได้ยากมากเหมือนประเทศอื่นๆ

 

แต่ Digital nomad รวมทั้ง Workation ก็ไม่ได้สวยหรูเหมือนในจิตนาการเสมอไปนะครับ ปัจจัยที่สำคัญคือ รายได้ที่จะหาได้จากการทำงานในลักษณะนี้จะต้องมากเพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นถ้าท่านผู้อ่านอยากจะเป็น nomad กับเขาด้วยคนก็ต้องอย่าลืมเรื่องนี้ด้วยนะครับ