สร้างบ้านคนจน ต้องจูงใจ'คนสร้าง-คนซื้อ'

สร้างบ้านคนจน  ต้องจูงใจ'คนสร้าง-คนซื้อ'

แนวคิดของรัฐบาลในการ “สร้างที่อยู่อาศัย” ให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือ “บ้านคนจน”

ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อปีเศษที่ผ่านมา รัฐได้เดินหน้าเรื่องนี้ผ่านทั้งโครงการ “บ้านประชารัฐ”  และ “บ้านธนารักษ์ประชารัฐ” ล่าสุด ในการประชุมคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม (อี6) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายหลังการประชุมรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเรื่องสำคัญที่คณะทำงานชุดนี้ต้องเร่งดำเนินการคือ การจัดหาบ้านให้กับคนยากจนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำอยากให้คนไทยทุกคนมีบ้านเป็นของตัวเอง  

ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินการเรื่องดังกล่าว ได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ การเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และภาคเอกชนโดยเฉพาะใน“กลุ่มวัสดุก่อสร้าง”เข้าร่วมโครงการนี้ ภายใต้ความคาดหวังที่ว่า เมื่อคนจนมีบ้านจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปหารือ เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องนี้โดยเร็ว โดยการดำเนินงานจะเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในลักษณะ “พีพีพี ฟาสต์แทรค” เพื่อให้การดำเนินการรวดเร็ว ผ่านการ“ระดมทุนจากเอกชน”เข้าไปช่วยเหลือคนยากจน เพราะรัฐมีงบประมาณไม่มาก

อย่างไรก็ตาม เกิดคำถามตามมาว่า โครงการใหม่ที่รัฐจะเร่งดำเนินการผ่านพีพีพี ฟาสต์แทรค จะซ้ำซ้อนกับโครงการเดิมที่ดำเนินการอยู่แล้วหรือไม่อย่างไร และเหตุใดจึงไม่ขยายผลจากโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว เรื่องนี้แม้จะไม่มีคำตอบชัดๆจากรัฐบาล แต่ประเมินว่าผลลัพธ์ของทั้งสองโครงการ คนในรัฐบาลไม่น่าจะประทับใจ สะท้อนผ่านการแสดงความรู้สึกของนายสมคิด ที่ระบุว่า “รู้สึกผิดหวัง”กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากรัฐบาลขอความร่วมมือให้มาสร้างบ้านราคาถูก แต่กลับมีผู้เข้าร่วมโครงการน้อย จนไม่เห็นความคืบหน้ามากนัก 

นอกจากนี้ ยังมีเสียงต่อว่าต่อขานจะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลัง ที่อาการหงุดหงิดกับภาคเอกชนอสังหาฯ ทำนองว่า ที่ผ่านมารัฐบาลก็ช่วยเหลือลดค่าธรรมเนียมการโอน จดจำนอง เพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯให้แล้ว แต่พอรัฐบาลขอความช่วยเหลือให้ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมบ้าง ให้ยอมหั่นกำไรลง กลับไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร

ขณะที่ในมุมผู้ประกอบการอสังหาฯหลายราย สะท้อนความรู้สึกว่า พร้อมให้ความร่วมมือภาครัฐ แต่ติด “อุปสรรค”ที่เงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ร่วมโครงการค่อนข้าง“เข้มงวด” ทำให้มีผู้ผ่านเกณฑ์ขอสินเชื่อกู้ซื้อที่อยู่อาศัยน้อย เมื่อความต้องการที่อยู่อาศัยมีจำกัด ทำให้ธุรกิจอสังหาฯเกิด “ความเสี่ยง” ในดำเนินโครงการตามมา จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงมีผู้ประกอบการอสังหาฯเพียงไม่กี่ค่ายที่ร่วมโครงการนี้ 

เข้าทำนอง ในภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ภาพรวมธุรกิจอสังหาฯ เติบโตน้อยหรือแทบไม่เติบโต มีสต็อกที่อยู่อาศัยล้นเกินในบางทำเล จนมีผู้ประเมินว่า กำลังเกิด“ฟองสบู่อ่อน”ในภาคอสังหาฯในบางทำเล ทำให้พวกเขาต้องช่วยเหลือตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก หรือไม่อย่างไร แม้ว่าในภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.)จะเงื่อนไขโครงการประชารัฐ และบ้านธนารักษ์ประชารัฐ ให้ผู้ที่เคยมีกรรมสิทธิ์ที่อยู่แต่ขายไปแล้วสามารถเข้าโครงการได้ พร้อมปรับการคำนวณวงเงินกู้ 1.5 ล้านบาทไม่รวมราคาที่ดินสิ่งปลูกสร้าง เพื่อหวังให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าโครงการมากขึ้น ก็ตาม

ประมวลจากภาพรวมปัญหาที่เกิดขึ้น เข้าหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ในเรื่อง “ดีมานด์-ซัพพลาย” ที่ยังหากันไม่เจอ ซึ่งเชื่อว่าโครงการสร้างบ้านคนจน ที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องน่าจะได้“บทเรียน”จากการดำเนินการที่ผ่านมา ว่าจะต้อง“สร้างแรงจูงใจ”ที่มากพอให้ภาคเอกชนยอมลงทุนทำธุรกิจเพื่อสังคม พร้อมไปกับการสร้างแรงจูงใจ ให้ผู้มีรายได้น้อยที่อยากมีที่อยู่อาศัย เข้าถึงความต้องการนั้นให้ได้ ไปพร้อมกับความอยู่รอดทั้ง “ผู้ซื้อ-ผู้ขาย”