สำรวจ - ผลิตปิโตรเลียม กฎหมายต้องก้าวทันยุค 4.0

สำรวจ - ผลิตปิโตรเลียม กฎหมายต้องก้าวทันยุค 4.0

ประเด็นที่สร้างความคลุมเครือให้กับผู้ผลิตปิโตรเลียม 7 บริษัท บนที่ดินของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

 (ส.ป.ก.) นับตั้งแต่ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2560 พิพากษาให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติ ในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ส่งผลให้มีเอกชน 7 บริษัท ต้องหยุดผลิตปิโตรเลียม ลงตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย.2560ที่ผ่านมา

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการหยุดผลิตปิโตรเลียม ทำให้น้ำมันดิบหายไปจากระบบ 16,000 บาร์เรลต่อวัน ก๊าซธรรมชาติลดลง 110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลวหายไป 100 บาร์เรลต่อวัน 

ความเสียหายรวม 20 วัน คิดเป็นมูลค่า 950 ล้านบาท และกว่าอัตรากำลังผลิตจะทยอยกลับมาเท่าเดิม จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน รวมทั้งหมดประมาณ 50 วัน คิดเป็นมูลค่าปิโตรเลียมที่หายไปกว่า 1 พันล้านบาท,ค่าภาคหลวงที่หายไป 125 ล้านบาท และรายได้ที่ส่งเข้าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 60% คิดเป็นส่วนที่หายไป 75 ล้านบาท

แม้ว่าภาครัฐจะเร่งยุติปัญหานี้ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2560 เห็นชอบให้ออกคำสั่งตาม ม.44 ในการปลดล็อกการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมการติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้า และ การทำเหมืองแร่ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วบนที่ดินของ ส.ป.ก. ให้สามารถทำต่อไปได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขัดกับวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

ที่ผ่านมาเอกชน พยายามหารือกับกระทรวงพลังงานเพื่อหาทางออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเป็นอำนาจของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทำให้เวลาในการแก้ไขปัญหายืดเยื้อมาเกือบ 4 ปี จนกระทั้งศาลฯมีคำตัดสินดังกล่าว

ในมุมของเอกชนผู้รับสัมปทานมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้น อาจไม่ได้เป็นข่าวร้ายต่อผู้รับสัมปทานในพื้นที่ส.ป.ก.เท่านั้นแต่ข้อดีที่เกิดขึ้นก็คือหากจะสามารถสร้างความชัดเจนให้กับปัญหาที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2556ก็ถือว่าเป็นประโยชน์จากการแก้ปัญหาครั้งนี้

ส่วนประเด็นที่ผู้รับสัมปทานต้องปฏิบัติตามขั้นตอน การกำหนดพื้นที่และการยื่นขอใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ใหม่ เพื่อให้ประกอบกิจการปิโตรเลียมได้ตามเดิม และผู้ประกอบการจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อเกษตรกรรมเพิ่มเติม จากเดิมที่จ่ายผลประโยชน์โดยตรงให้เกษตรกร การทำกิจกรรมเพื่อสังคม(CSR) การจ่ายค่าภาคหลวง และการจัดสรรกระจายรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจเป็นต้นทุนธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมายของรัฐในอดีตเช่นกัน 

ปัญหานี้อาจจะไม่มีผลกระทบรุนแรงเหมือนปัจจุบัน หากหน่วยงานภาครัฐ ยอมรับความล้าหลังและไม่สอดคล้องกันระหว่างของกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน และร่วมมือกันหาแนวทางแก้ไขตั้งแต่แรก รัฐอาจไม่ต้องเลือกใช้คำสั่ง ม. 44 เป็นทางออกสุดท้าย และไม่กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

หากไทยจะก้าวสู่ นโยบายประเทศไทย 4.0 คงต้องถามไปยังรัฐบาลว่ากฎหมายไทยวันนี้ เป็น 4.0 แล้วหรือยัง? ไม่เช่นนั้นการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่อาจเป็นเรื่องหนักใจของนักลงทุน

........................

ณัฐณิชา ดอนสุวรรณ