เซ็นเซอร์สื่อ : กรณีวอยซ์ทีวี

เซ็นเซอร์สื่อ : กรณีวอยซ์ทีวี

แม้การระงับการออกอากาศ ของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวีเป็นเวลา 7 วันจะถูกนำเสนอเป็นพาดหัวข่าว และข่าวเด่นผ่านสื่อสารมวลชน

ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ทว่าหลายคนก็อาจไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไรนัก เพราะปรากฏมาตรการในลักษณะคล้ายคลึงกัน จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต่อวอยซ์ทีวีมาก่อนหน้า แม้จะไม่รุนแรงเท่า เป็นไปได้ด้วยว่าบางคนที่ไม่ได้ปลื้มวอยซ์ทีวีเป็นทุนเดิม ก็อาจจะรู้สึกว่าสมควรแล้วด้วยซ้ำ เนื่องจากมองว่าช่องทีวีนี้เป็นของกลุ่มการเมืองที่มีวาระชัดเจน และมีลักษณะเป็นสื่อเลือกข้าง

อย่างไรก็ดี การออกแถลงการณ์ขององค์กรวิชาชีพสื่อด้านข่าวสาร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาคมสื่อมวลชนในประเภทนี้ เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการปิดวอยซ์ทีวี ก็เป็นหลักฐานหนึ่งว่า การปิดสื่อมีนัยยะที่ร้ายแรงมากในสายตาของนักวิชาชีพสื่อ แม้ระบอบการเมืองการปกครองปัจจุบัน จะไม่ใด้เอื้อให้สื่อหรือประชาชนอ้างถึงสิทธิและเสรีภาพทางการสื่อสารได้อย่างเต็มที่ แต่การเซ็นเซอร์ในขั้นสูงสุดแบบที่วอยซ์ทีวีประสบ เป็นภาพสะท้อนถึงความระส่ำระสายที่วงการสื่อกำลังเผชิญ และน่าที่จะต้องถูกบันทึกไว้ และวิเคราะห์ให้เกิดความเข้าใจที่มีมิติ มากกว่าการลดรวบว่าวอยซ์ทีวีสมควรถูกปิดเพราะเป็นสื่อที่ต่อต้านรัฐ

ความเข้าใจแบบพื้นๆเกี่ยวกับวอยซ์ทีวีของสังคมไทย น่าจะไม่พ้นการเป็นสื่อที่มีสมาชิกของครอบครัวชินวัตรเป็นเจ้าของ (พานทองแท้ และพินทองทา ชินวัตร ถือหุ้นรวมในบริษัทรวมกันร้อยละ 44) และออกแนวเป็นสื่อทางเลือกหัวซ้ายในมุมมอง และจุดยืนทางการเมือง สำหรับยุคสมัยปัจจุบันที่ทหารเป็นใหญ่ในบ้านเมือง และชื่อของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ลี้ภัยมานานหลายปีอย่างทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นสิ่งต้องห้ามที่จะเอ่ยนามถึงเกือบๆ จะเหมือนลอร์ด โวลเดอร์มอร์ ที่เป็นตัวละครร้ายในหนังสือชุดยอดนิยมแฮร์รี่ พอตเตอร์ไปแล้ว

วอยซ์ทีวีเริ่มต้นประกอบการในฐานะโทรทัศน์ดาวเทียมมาตั้งแต่พ.ศ.2552 เปิดให้มีการประมูลใบอนุญาตช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าทีวีดิจิทัลในพ.ศ.2556 จึงได้เข้าสู่การประมูลและได้ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลไปในเวลาต่อมา ที่น่าสนใจคือวอยซ์ทีวีเป็นหนึ่งในทีวีดาวเทียม ที่เข้าข่ายว่าเป็นทีวีการเมือง ซึ่งถูกระงับการออกอากาศไปหมดหลังเหตุการณ์รัฐประหารในเดือน พฤษภาคม พ.ศ.2557 เช่นเดียวกับทีวีที่จัดไว้ในประเภทเดียวกันอย่าง เอเอสทีวี ผู้จัดการ สปริงนิวส์ และ บลูสกาย ซึ่งทั้งหมดได้รับอนุญาตให้กลับมาออกอากาศได้ใหม่ในเดือน สิงหาคม พ.ศ.2557 โดยต้องลงนามในบันทึกข้อตกลงกับทางกสทช. ซึ่งมีรายละเอียดในเรื่องของข้อห้ามด้านเนื้อหาที่เข้มข้นกว่าโทรทัศน์ประเภทอื่น แม้วอยซ์ทีวีจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นทีวีดิจิทัลแล้วข้อกำหนดนี้ก็ยังติดตัวและมีผลบังคับใช้ต่อไป

บางตัวอย่างของข้อกำหนดที่ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวก็เช่น ห้ามนำเสนอเนื้อหาข่าวสารที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติรวมทั้งหมิ่นประมาทบุคคลอื่น ห้ามวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคสช.ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ และห้ามนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร ซึ่งเนื้อหาของข้อกำหนดส่วนใหญ่จะอ้างอิงมาจากประกาศคสช.ฉบับที่ 97/2557 และ ฉบับแก้ไขที่ 103/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฎิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ โดยในฉบับที่ 97 กำหนดว่า หากพบการกระทำผิด ให้ระงับการจำหน่าย จ่าย แจก หรือเผยแพร่สื่อพิมพ์ รวมทั้งการออกอากาศของรายการดังกล่าวโดยทันที และให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ในฉบับที่ 103 มีการแก้ไขให้อ่อนลงเป็น อาจส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก ดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ อนึ่ง ประกาศคสช.ฉบับที่ 103 เป็นผลโดยตรงจากการเจรจาต่อรองขององค์กรวิชาชีพสื่อที่ไม่พอใจประกาศฉบับที่97 อย่างไรก็ดี เกือบๆ4ปีผ่านไปก็ยังไม่ปรากฏเลยว่าองค์กรวิชาชีพสื่อได้รับแจ้งให้ดำเนินการในกรณีใดๆเกี่ยวกับสื่อที่เข้าข่ายการกระทำผิดตามประกาศฉบับดังกล่าว แต่กลับกลายเป็นกสทช.ที่มีบทบาทในเรื่องนี้อย่างชัดเจน

ที่ผ่านมา คสช. โดยคณะทำงานติดตามสื่อ ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักเลขาธิการคสช.จะทำหน้าที่มอนิเตอร์สื่อต่างๆโดยเฉพาะวิทยุและโทรทัศน์และส่งรายงานการติดตามสื่อพร้อมแผ่นบันทึกข้อมูลการตรวจสอบเข้ามาให้กสทช.เป็นประจำทุกสัปดาห์ โดย คณะอนุกรรมการด้านเนื้อหาและผังรายการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ซึ่งเป็นบอร์ดด้านวิทยุและโทรทัศน์จะทำหน้าที่พิจารณาในเบื้องต้นก่อนจะนำเสนอมติต่อกสท.เพื่อพิจารณาดำเนินการในขั้นสุดท้าย

สำหรับวอยซ์ทีวี ตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการใหม่ดังกล่าวของการกำกับดูแลเนื้อหา ก็ถูกนำเสนอเป็นกรณีเพื่อให้ตรวจสอบอยู่เนืองๆจากคณะทำงานติดตามสื่อ และได้ถูกเรียกให้เข้ามาชี้แจงที่กสทช.เป็นระยะๆ โดยเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับเนื้อหาต้องห้ามตามประกาศคสช.ฉบับที่ 97และ103มาตลอด ในส่วนมติจากทางกสท.มีเป็นระดับไปตั้งแต่ ยุติเรื่องเพราะไม่มีลักษณะเป็นเนื้อหาต้องห้าม มีหนังสือขอความร่วมมือให้ใช้ความระมัดระวังและความละเอียดรอบคอบในการออกอากาศรายการในลักษณะที่เป็นเนื้อหาต้องห้าม ตักเตือนทำความเข้าใจให้ปรับปรุงเนื้อหาและผังรายการ ซึ่งทางช่องก็มีการนำเสนอแนวทางในการเซ็นเซอร์ตัวเองเช่น พักการดำเนินรายการของผู้ดำเนินรายการบางคน เช่น มล.ณัฎฐกรณ์ เทวกุล และ นายอธึกกิต แสวงสุข เป็นต้น ไปจนถึงกสท. กำหนดโทษทางปกครองดัวยการปรับเป็นเงิน 50,000 บาท และระงับการออกอากาศบางรายการ เช่น รายการ Wake Up News รายการ Daily Dose เป็นเวลา7 วัน เป็นต้น

ทั้งนี้ การระงับการออกอากาศของทั้งสถานีนับเป็นครั้งแรกสำหรับวอยซ์ทีวี และเป็นโทษขั้นสูงสุดที่เคยได้รับมา โดยประเด็นที่ถูกมองว่าเป็นเนื้อหาต้องห้ามอยู่ในสามรายการหลักๆคือ 1) รายการ “ใบตองแห้ง” ในหัวเรื่อง “จากธัมมี่ถึงทักกี้ ประเทศนี้ยังปรองดองได้อยู่หรือ?” ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การใช้มาตรา44 ต่อกรณีวัดพระธรรมกายตลอดจนการที่สื่อกระแสหลัก มีส่วนในการสร้างความเกลียดชังต่อวัดพระธรรมกาย 2) รายการข่าว Voice News ซึ่งนำเสนอข่าวในหัวข้อ “กองทัพปกป้องทหาร ยันยิงทิ้งเด็กลาหู่ถูกต้องทุกกรณี” ที่ผู้ดำเนินรายการตั้งคำถามและเรียกร้องให้ตรวจสอบเงื่อนงำ เบื้องหลังการวิสามัญฆาตรกรรมเด็กหนุ่ม ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชนพื้นเมือง เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ตายและคนในพื้นที่ และ 3) รายการข่าวVoice News ที่อ้างถึงนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการเปิดบ่อนในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และพูดเป็นนัยว่ามีนายทหารใหญ่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่าประเด็นทั้งหมดล้วนแต่มีความอ่อนไหวสูง ทว่าก็ล้วนแต่เป็นประเด็นที่มีความสำคัญต่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งประกอบขึ้นจากกลุ่มทางสังคมที่มีความหลากหลาย และไม่จำเป็นต้องมีฉันทามติร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวในความคิดเห็นและจุดยืนทางการเมือง

อย่างไรก็ดี วอยซ์ทีวีก็ได้ถูกตัดสินจากกสท.ว่ามีความผิดตามบันทึกข้อตกลงที่กล่าวไปข้างต้นและให้ระงับการออกอากาศ 7 วันโดยเน้นไปที่การทำผิดซ้ำซาก และข้อมูลที่นำเสนอเป็นข้อเท็จจริงไม่รอบด้านก่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิด ความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าโทษที่ได้รับไม่ได้สัดส่วนกับความผิด อีกทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนทั้งในมิติความเป็นพลเมือง และผู้บริโภค และยังขัดแย้งกับทิศทางของการสร้างความปรองดองที่รัฐบาลคสช.ตั้งธงไว้

ท่ามกลางมุมมองที่ขัดแย้งและหาจุดร่วมกันไม่ได้นี้ ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลยว่า นี่จะเป็นกรณีสุดท้ายของการเซ็นเซอร์สื่อ โดยองค์กรกำกับดูแลที่ก่อร่างขึ้นมาจากการเจตนารมย์ของการปฏิรูปสื่อหรือไม่ อย่างไร