ความเข้าใจผิดและข้อสังเกต เกี่ยวกับค่าขยะใหม่ 150 บาท (ตอน3)

ความเข้าใจผิดและข้อสังเกต เกี่ยวกับค่าขยะใหม่ 150 บาท (ตอน3)

ในสองตอนแรกเราได้ชี้ให้เห็นว่า ตามกฎหมายแล้วอปท.สามารถเก็บค่าขยะได้สูงสุด

ถึง 350 บาทต่อบ้านต่อเดือน แต่ราคานั้นยุติธรรมกับเราหรือไม่ เรามาดูกัน

ข้อสิบ ทำไปขาดทุนไป จากข้อมูลที่ผู้เขียนได้มา พบว่ากระทรวงมหาดไทยกำลังร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ และมีอัตราค่าขยะที่จะเก็บในช่วงแรกนี้ต่ำกว่าค่าสูงสุด 350 บาทต่อบ้านต่อเดือน ที่กำหนดให้จัดเก็บได้ตามกฎหมายพรบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 โดยจะเก็บ“ค่าเก็บและขน”ที่หน่วยละเพียง 40 บาทไปจนถึงอัตราสูงสุดที่ 150 บาท และค่ากำจัดอีกหน่วยละ 20 ถึง 200 บาท รวมเป็น 60 ถึง 350 บาทต่อบ้านต่อเดือน หรือเทียบเท่ากับ 500 ถึงเกือบ 3,000 บาทต่อตันขยะ โดยคิดให้หน่วยขยะหนึ่งๆเป็น 120 กิโลกรัม หรือ 600 ลิตร 

ตรงนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า เมื่อตัวเทศบาลเองอยากจะเก็บให้แพงขึ้นใจจะขาด แต่เก็บไม่ได้เพราะปัญหาทางสังคมการเมืองท้องถิ่น และหวังพึ่งรัฐส่วนกลางให้ออกกฎเกณฑ์ที่เอื้อให้เขามีเหตุผลไปเก็บให้แพงขึ้นได้โดยไม่ต้องกังวลกับเสียงประท้วง (ดูข้อหนึ่ง) แต่เมื่อรัฐเองกลับมากำหนดขั้นต่ำเป็นเทียบเท่ากับเพียง 500 บาทต่อตัน ในขณะที่ต้นทุนจริงอยู่ที่ 1,165 ถึง 2,350 บาทต่อตัน (ดูข้อหก) การณ์ก็จะเข้าอีหรอบเดิม คือ ทำไปขาดทุนไป และก็จะเกิดเหตุการณ์เดิมๆคือ เทศบาลทำแบบขอไปที จะทำเพียงแค่เก็บและขนขยะไปเทกองที่กองขยะ แล้วก็จะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้กองขยะ มีน้ำเสียมาปนเปื้อนแหล่งน้ำสำหรับที่จะเอามาทำประปา มีสารพิษที่ทำให้ชาวบ้านเป็นมะเร็ง ฯลฯ ออกมาอีก ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข 

ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยกับการกำหนดค่าบริการด้านขยะให้ต่ำกว่าต้นทุนแบบที่กำลังทำอยู่ จะทำทั้งทีก็ควรแก้ไขปัญหาให้เบ็ดเสร็จแบบถอนรากถอนโคน ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์ไม่ดีๆทั้งหลายก็จะเกิดครั้งแล้วครั้งเล่า และที่ร้ายที่สุดคือจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าเสียของ”อีกครั้ง

ข้อสิบเอ็ด ค่าขยะในอัตราก้าวหน้า ผู้เขียนจะขอพูดเลยไปถึงหลักการ“พี่ช่วยน้อง”สักหน่อย คือ ถือเป็นหลักสากลที่ผู้มีโอกาสมากกว่าหรือมีศักยภาพมากกว่า ควรต้องช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสและด้อยศักยภาพกว่า สังคมจึงจะเป็นธรรมและดำรงอยู่ได้ แต่อัตราค่าขยะที่กำหนดใหม่นี้ไม่ได้ใช้หลักการนี้เลย คือไม่ว่าจะตัวใหญ่แค่ไหน จะเป็นองค์กรขนาดยักษ์ขนาดไหน จะเป็นศูนย์การค้าขนาดมหึมา จะเป็นสถานบันเทิงครบวงจร ก็จ่ายค่าขยะเทียบต่อตันเท่ากับชาวบ้านจนๆหนึ่งคน เพราะในร่างกฎกระทรวงฉบับนี้กำหนดให้เก็บค่าเก็บขนขยะขั้นต่ำสำหรับผู้ที่ผลิตขยะปริมาณมากๆไว้เพียง 40 บาทต่อหน่วยขยะ(120 กก.ต่อเดือน)เหมือนกับชาวบ้านธรรมดา 

แม้จะทิ้งขยะเกินกว่า 3,600 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งนั่นหมายความว่าบริษัทใดองค์กรใดที่ทิ้งขยะเดือนละถึง 10,000 กก.หรือ 10 ตันต่อเดือน ก็จะจ่ายค่าขยะเทียบต่อกิโลกรัมเท่ากับชาวบ้านที่ทิ้งขยะออกมาเพียง 25-30 กิโลกรัมต่อเดือน

สิ่งนี้ถือว่าไม่ยุติธรรมต่อสังคม และเราเห็นว่ารัฐควรปรับให้ตรงกับหลักการอัตราก้าวหน้า (progressive rate)แบบเดียวกับที่การประปาและการไฟฟ้ากำลังใช้อยู่ในปัจจุบัน ก่อนที่จะสายเกินแก้และมีกฎหมายออกมาบังคับใช้จริง เพราะมิฉะนั้นแล้วมาตรการจูงใจให้ใช้หลักการ 3R (Reduce, Reuse, Recycle ขยะ) ก็จะไม่เกิดขึ้น และปัญหาก็จะท่วมหัวแบบในอดีตอีกต่อไป และต่อไป

ข้อสิบสอง ขยะครั้งคราว นอกจากส่วนที่ได้กล่าวมาแล้ว พรบ.ฉบับนี้ยังมีการกำหนดค่าขยะสำหรับการบริการแบบเป็น“ครั้งคราว” เช่น ตามงานวัด งานแข่งกีฬา งานออกร้านของเอกชน งานการท่องเที่ยว ที่สูงสุดไม่เกิน 400 บาทต่อหน่วยขยะ (120 กก.) ซึ่งราคานี้รวมทั้งการเก็บการขนและการกำจัดไว้ด้วยกันแล้ว 

แต่มีข้อสังเกตหรือช่องโหว่ในกรณีที่ร่างประกาศฯฉบับนี้ไม่มีการกำหนดอัตราขั้นต่ำเอาไว้ ซึ่งกรณีจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ และเป็นการเอื้อโอกาสให้เกิดการคอร์รัปชั่นขึ้นได้ ประกอบกับการบริการเก็บ + กำจัดขยะแบบครั้งคราวนี้ไม่ใช่การบริการเป็นปกติ (routine) อันทำให้การจัดการขยะของเมืองมีความซับซ้อนมากขึ้นโดยเฉพาะสำหรับเทศบาลขนาดเล็ก ด้วยไม่รู้ว่าจะมีขยะมาเพิ่มมากน้อยเพียงไรในเวลาใด ทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาได้มาก ค่าบริการในส่วนนี้จึงไม่ควรเก็บในหลักคิดปกติ แต่ต้องเก็บให้มากพอจนมีกำไร เช่นขั้นต่ำไม่ต่ำกว่า 250 บาทต่อหน่วยขยะ เพราะตัวหน่วยงานหรือองค์กรธุรกิจที่จัดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดขยะมากเป็นการเฉพาะครั้งคราวเช่นนี้ย่อมมีผลกำไรจากการกระทำเช่นนั้น จึงสมควรต้องเป็นผู้แบกภาระนั้น มิใช่ปล่อยทิ้งให้สังคมมารับความรับผิดชอบนั้นแทน

ข้อสิบสาม ส่วนลด ในร่างกฎกระทรวงฉบับที่กำลังพิจารณาออกมาบังคับใช้นี้มีข้อที่ควรนิยมชมชื่นอย่างมากอยู่ 2 ข้อ ข้อแรกคือมีการกำหนดว่าถ้าใครหรือหน่วยงานใดหรือองค์กรใดสามารถคัดแยกขยะ แล้วทำให้ปริมาณขยะลดลง โดยหากได้ถึงเกณฑ์(ที่อปท.จะกำหนดต่อไป) ใครคนนั้นหรือหน่วยงานนั้นหรือองค์กรนั้นก็มีสิทธิ์ได้รับส่วนลดค่าเก็บ ค่าขน และค่ากำจัดขยะจากอปท.ด้วย มาตรการนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้มีการทำ 3R ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมกว่ากฎกระทรวงฉบับอื่นๆที่เคยมีมา

ข้อสิบสี่ ยกเว้นค่าขยะ ส่วนอีกข้อเป็นเรื่องของการยกเว้น อปท.จะไม่เก็บค่าขยะเลยหากมีใครหรือหน่วยงานใดหรือองค์กรใดสามารถจัดการขยะของตนเองจนไม่มีขยะทิ้งออกมา ข้อดีข้อนี้เหมือนกำปั้นทุบดินเพราะถ้าไม่มีขยะออกมาแล้วอปท.จะไปเก็บค่าขยะจากเขาได้อย่างไร แต่อย่างไรก็ตามมาตรการในข้อนี้ก็เป็นตัวส่งเสริมและสนับสนุนอย่างดีที่จะทำให้เกิดกระบวนการ 3R ขึ้นได้จริง จึงน่าสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

ข้อสิบห้า negative tax แต่ข้อดีที่สนับสนุนให้เกิด 3R ในข้อ13 และข้อ14 ข้างต้นนั้น ผู้เขียนมีข้อคิดเพิ่มเติมอีกในแง่ที่เกี่ยวกับอัตราค่าขยะที่อปท.จัดเก็บจากประชาชน คือถ้าอปท.จะเก็บแพงและเก็บจนกำไร เช่นเก็บที่ 300 บาทต่อบ้านต่อเดือน แบบนี้ก็เป็นแรงจูงใจให้แต่ละคนแต่ละองค์กรต้องพยายามลดและจัดการขยะของตัวเองอย่างเต็มที่ด้วยจะเป็นประโยชน์แก่ตนเองอย่างเห็นได้ชัด แต่ถ้าอปท.เก็บในอัตราที่ถูกและในรูปแบบที่ขาดทุน เช่นเก็บที่ 40 บาทต่อบ้านต่อเดือนในขณะที่ต้นทุนของอปท.อยู่ที่ 140-280 บาทต่อเดือน (คิดที่ 120 กก.ขยะ) การที่แต่ละคนหรือองค์กรจะพยายามทำ 3R จนลดหรือไม่มีขยะผลิตออกมา ก็จะไม่มีแรงจูงใจ เพราะค่าใช้จ่ายหรือค่าขยะนั้นถูกมาก ถูกกว่าต้นทุนที่ตัวเองต้องลงทุนไป 

ดังนั้นเราจึงเห็นว่าหากหน่วยงานใด หรือชุมชนใดสามารถจัดการขยะของตนเอง จนไม่เป็นภาระให้แก่อปท.หนึ่งใด อปท.นั้นๆก็จะสามารถลดการขาดทุนลง ค่าการขาดทุนที่ลดลงนี้จึงเป็นผลงานของหน่วยงานหรือชุมชนนั้น มากกว่าที่จะเป็นของอปท. และอปท.ควรเอาค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้นี้คืนไปให้แก่หน่วยงานหรือชุมชนนั้นๆ ให้เป็นในรูปแบบที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า negative tax แบบนี้จึงจะยุติธรรมและช่วยสนับสนุนให้คนหันมาสนใจ 3R กันมากขึ้นได้จริง

เรื่องขยะเป็นเรื่องใหญ่ที่เดี๋ยวนี้ใครๆโดยเฉพาะเทศบาลหรือแม้กระทั่งรัฐบาลกลาง ไปจนถึงคนระดับนายกรัฐมนตรีเริ่มตระหนักรู้แล้วว่ามันเป็นปัญหาใหญ่จริง และต้องเร่งแก้ไขให้หมดไปในเร็ววัน เราขอแสดงความชื่นชมต่อกระทรวงมหาดไทยที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหานี้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องขอฝากข้อสังเกตดังข้างต้นไว้ให้ท่านช่วยพิจารณาและนำไปปรับแก้ไขให้เกิดความยุติธรรมต่อคน ทั้งตัวเล็กตัวน้อยไปจนถึงคนตัวใหญ่ และต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นของเราทุกคน

ขอขอบพระคุณ

.............................................................................

ดนยภรณ์ พรรณสวัสดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย