แค่พลาด ก็แพ้แล้ว

แค่พลาด ก็แพ้แล้ว

แค่พลาด ก็แพ้แล้ว

การพยายามกะเก็งตลาดหุ้นเพื่อให้มีโอกาสลงทุนในหุ้นก่อนที่ราคาหุ้นจะขึ้น และหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่หุ้นจะตกนั้น นับเป็นยอดปรารถนาของนักลงทุนทั่วโลก

การจับจังหวะตลาด หรือที่เรียกกันว่า Market Timing โดยเลือกช่วงเวลาที่จะเข้าลงทุนในหุ้นเมื่อมีแนวโน้มว่าราคาหุ้นในตลาดจะปรับเพิ่มขึ้นและขายหุ้นทั้งหมดที่มี หรือลดการถือหุ้นลงบางส่วนเมื่อประเมินว่าราคาหุ้นในตลาดจะปรับตัวลดลง เป็นวิธีการที่นักลงทุนบางส่วนนิยมใช้กัน โดยเชื่อว่าตนจะสามารถประเมินตลาดในอนาคตได้ถูกมากกว่าผิด และสามารถทำกำไรได้สูงกว่าผลตอบแทนของตลาดอย่างมากได้

ได้มีการศึกษาวิจัยจำนวนมากในต่างประเทศ ว่าผู้ที่ใช้กลยุทธ์การจับจังหวะตลาดนั้นมีโอกาสประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด โดยสำหรับตลาดหุ้นไทยนั้น จะพบว่าหากลงทุนในหุ้นตามน้ำหนักในดัชนี SET50 หรือดัชนีที่ประกอบด้วยหุ้นบริษัทขนาดใหญ่ 50 บริษัทแรกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนำเงินปันผลที่ได้รับจากการลงทุนในหุ้นกลับไปลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีต่อไป เป็นระยะเวลาตั้งแต่ต้นปี 2545 จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2559 (นับเป็นจำนวน 3,667 วันทำการซื้อขาย) ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนสะสม 757.4% ตลอดระยะเวลา 15 ปี หรือเฉลี่ย 15.4% ต่อปี)

หรืออีกนัยหนึ่ง คือ หากวันที่ 2 มกราคม 2545 เราได้ลงทุนในดัชนี SET50 ไว้ 10,000 บาท ในอีก 15 ปีถัดมาเงินลงทุนดังกล่าวจะเพิ่มมูลค่าเป็น 85,735 บาท หรือเกือบ 8.6 เท่าของเงินลงทุนเริ่มต้นนั่นเอง

ทีนี้ลองมาดูกันว่าผลตอบแทนจากการลงทุนที่ว่านี้จะเป็นอย่างไร หากเราซื้อขายหุ้นแบบจับจังหวะตลาด แต่เนื่องจากไม่มีใครรู้อนาคตเป็นการแน่นอน จึงเป็นเหตุให้พลาดวันที่ดัชนีSET50 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อวันมากที่สุดไปเพียง 5 วันเท่านั้น (ในจำนวนทั้งหมด 3,667 วัน หรือระยะเวลา 15 ปี) มูลค่าเงินลงทุนปลายทางจะเหลือเพียง 56,415 บาท หรือเท่ากับ 12.2% ต่อปี (จากที่ไม่ทำอะไรเลยได้ 85,735 บาท)

แต่ถ้าหากเราซื้อขายหุ้น จนพลาดวันที่ดัชนี SET50 เพิ่มมากที่สุดเป็นจำนวน 10 วัน ผลตอบแทนจะลดลงเหลือเพียง 10.1% ต่อปี และหากพลาดไป 20 วัน ผลตอบแทนก็จะยิ่งลดลงไปอีกเหลือเพียง6.6% ต่อปีเท่านั้น หรือคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน ณ สิ้นปีที่ 15 เป็นเงิน 26,076 บาท

แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราพลาดวันที่ดัชนีราคาหุ้นเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเป็นจำนวน 40 วัน ตลอดระยะเวลา 15 ปี หรือเฉลี่ยเพียงปีละ 2.7 วันเท่านั้น จากผลการศึกษาจะพบว่าผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับนั้น จะลดลงเหลือเพียง 1.2% ต่อปีเท่านั้น หรือคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนปลายทางเพียง 11,931 บาท (หายไปถึง 73,804 เทียบกับลงทุนในตลาดหุ้นตลอดเวลา)

ในมุมกลับกัน หลายท่านอาจเถียงว่า การจับจังหวะตลาดนั้น หลายครั้งก็เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงที่ตลาดปรับตัวลดลงอย่างหนักจากวิกฤติการณ์ต่างๆ ซึ่งหากว่าเราสามารถหลีกเลี่ยงวันที่ดัชนีตลาดหุ้นมีการขาดทุนต่อวันมากที่สุดจำนวน 5 วันได้ ผลตอบแทนตลอดระยะเวลา 15 ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 19.8%ต่อปี หรือหากเลี่ยงได้ 10 วัน 20 วัน หรือ 40 วัน ผลตอบแทนก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็น 22.3%, 26.4%, 33.3% ต่อปีตามลำดับ (ซึ่งหมายความว่าในขณะเดียวกัน เราต้องไม่พลาดที่จะถือหุ้นไว้ในวันที่ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดด้วย จึงจะได้รับผลตอบแทนข้างต้น)

จากผลการศึกษานี้ ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเราจะรู้ล่วงหน้าอย่างแม่นยำได้อย่างไรว่าวันใดควรที่จะหลีกเลี่ยงตลาดหุ้น และถึงแม้สามารถหลีกเลี่ยงวันแย่ๆของตลาดหุ้นได้จริง เราจะต้องไม่พลาดที่จะกลับไปให้ทันลงทุนในวันที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างมากด้วย เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของตลาดได้