‘ศักยภาพของคนจน’ คือพลังสร้างชาติที่แท้จริง

‘ศักยภาพของคนจน’ คือพลังสร้างชาติที่แท้จริง

วันก่อน มีโอกาสนั่งพูดคุย

กับ Muhammad Yunus เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากการสร้างกระบวนการ ธนาคารคนจน ที่กลายเป็นแนวคิดระดับโลก ได้แรงบันดาลใจมากโข ประเด็นสำคัญที่สุดของโลกวันนี้คือ ต้องเชื่อในศักยภาพของคนจน

คุณยูนุสบินตรงมากรุงเทพฯ จากรีโอ ประเทศบราซิล หลังจากร่วมถือคบเพลิงร่วมงานเปิดโอลิมปิก เพราะเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลตกลงตั้งเป็นเงื่อนไงจะให้ประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพครั้งต่อไป ต้องแสดงผลงานด้าน “social business เพื่อคนจน เป็นหนึ่งในคุณสมบัติเพื่อการพิจารณาด้วย

“โลกนี้อยู่ต่อไปไม่ได้หรอก ถ้าหากคนเพียง 1% มีความมั่งคั่งมากกว่าคนอีก 99%” นักต่อสู้เพื่อปิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนระดับโลกคนนี้ บอกผมด้วยสีหน้าและอารมณ์เอาจริงเอาจังและมุ่งมั่นเหมือนทุกครั้งที่ผมได้สัมผัสกับท่าน

และทุกครั้งที่ตั้งวงเสวนากับคุณยูนุส ที่เกิดบังกลาเทศ แต่ทำงานระดับสากล โดยเฉพาะในกิจกรรมที่ต้องการให้คนด้อยโอกาสได้สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการลงมือทำ ธุรกิจสังคม ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน ไม่แบมือขอเงินจากรัฐบาลหรือนักการเมือง

“การกุศลทำได้เพียงครั้งเดียว แต่ social business มีความยั่งยืนได้ตลอดไป อีกทั้งยังรักษาศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ได้อย่างเยี่ยมด้วย” คุณยูนุสบอกผมอย่างเชื่อมั่นในเป้าหมายของการรณรงค์เพื่อคนไร้โอกาสส่วนใหญ่ของโลกใบนี้

ยูนุสประกาศเป้าหมายในอันที่จะบรรลุ 3 Zeroes: Zero poverty, zero unemployment and zero carbon emission

แปลว่าจะต้องกำจัดสามอุปสรรคสำคัญที่สุดของมนุษย์ นั่นคือความยากจน, การว่างงาน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

หากมนุษย์เราไม่สร้างความแข็งแกร่ง ให้กับประชาชนรากหญ้าเพื่อให้ความยากจน การว่างงาน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โลกนี้ก็อาจถึงกาลล่มสลาย... เขาบอกผมระหว่างการสัมภาษณ์ยาวประมาณ 1 ชั่วโมงเมื่อวันก่อนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข่าวดีสำหรับเมืองไทยคือคุณยูนุสมาร่วมตั้ง Yunus Center โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากที่ได้ร่วมมือสร้างกิจกรรมทำนองเดียวกันนี้กับ Asian Institute of Technology (AIT) มาระยะหนึ่งแล้ว

ดร.ศศิวิมล มีอำพล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ ของม.เกษตรฯ กับ ดร.บดินทร์ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของคณะเดียวกันนี้บอกผมว่าการตั้ง Yunus Center ครั้งนี้จะเร่งฝีเท้าให้เกิด “ธุรกิจเพื่อสังคม” อย่างจริงจัง โดยสามารถใช้เครือข่ายของคุณยูนุสทั่วโลก (วันนี้มี Yunus Center ทั่วโลกกว่า 20 แห่ง) เพื่อสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมให้เกิดในประเทศไทยและขยายผลไปประเทศข้างเคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แนวคิด social business ของคุณยูนุส ระดมทุนเพื่อทำธุรกิจที่รับใช้สังคม โดยผู้ถือหุ้นไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงินปันผล แต่กำไรที่ได้จะผลักกลับไปเป็นทุนเพื่อขยายงานให้เกิดประโยชน์กับสังคมอย่างเต็มที่

คุณยูนุสบอกว่า ม.เกษตรฯ มีงานวิจัยและทรัพยากรบุคคลในด้านต่าง ๆ ที่เหมาะกับการทำ social business อย่างดียิ่ง เหมาะสมกับการสร้างธุรกิจในทุกระดับเพื่อสร้างความยั่งยืน ความเสมอภาคพร้อม ๆ กับการสร้างสันติสุขในสังคมที่ลดความเหลื่อมล้ำ

เพราะระบบทุนนิยมสุดขั้วที่ตั้งเป้าทำกำไรสูงสุดนั้น ไม่อาจจะอยู่ต่อไปได้ หากคนส่วนใหญ่ยังเป็นพลเมืองชั้นสองและชั้นสาม

แนวคิดเรื่องนี้มีความสำคัญต่อการสร้างสังคมไทย ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเท่าเทียม และเพื่อให้คนไทยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนเสมอภาคในกรอบของคำว่า “ประชาธิปไตยของประชาชน เพื่อประชาชน และโดยประชาชน” ได้อย่างแท้จริง

เนื้อหาคำให้สัมภาษณ์ของคุณยูนุส น่าตื่นตาตื่นใจและกระตุ้นให้เราคิดอย่างลุ่มลึกเปิดกว้าง และเริ่มลงมือทำงานอย่างจริงจัง

หาอ่าน ดู และฟังได้ในสื่อเครือเนชั่นในเร็ว ๆ นี้ครับ