หลังและหน้ารัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

หลังและหน้ารัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ปรากฏการณ์ “มาตรา 7” ที่เกิดขึ้นก่อนหน้ารัฐประหาร 19 กันยายน 2549 บ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหาบางประการที่เกิดขึ้น

กับการอิงอ้างและตีความ “มาตรา 7” ที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมทั้งปรากฏการณ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชดำรัสที่มีเนื้อความที่ตัดสินยุติปัญหาความขัดแย้งและการตีความอ้างอิงมาตราดังกล่าว แต่เมื่อถึงปี 2557 ขั้วการเมืองคู่ขัดแย้งต่างฝ่ายต่างกลับมาอ้างมาตรา เพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายตนอีกครั้งหนึ่ง จนส่งผลให้กองทัพต้องตัดสินใจกระทำรัฐประหารในที่สุดเราจะเห็นได้ว่า เกณฑ์เงื่อนไขของการเป็นรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย (Democratic Coup d’etat) ของ Varol ไม่มีการกล่าวถึงปัจจัยสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ในกรณีของไทยในปี 2557 การทำรัฐประหารจะสำเร็จและมีความชอบธรรมได้ก็ต้องอาศัยสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันสถาบันพระมหากษัตริย์จะได้รับการปกป้องมิให้ถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมืองจนบานปลายเกินที่จะรักษาความเป็นกลางและความชอบธรรมไว้ได้ ก็ต้องอาศัยการพิทักษ์รักษาความสงบเรียบร้อยจากกองทัพด้วยเช่นกัน

การทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ปรากฏให้เห็นชัดเจน จากข้อความท้ายสุดในคำแถลงการณ์ของ คสช. นั่นคือ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยึดมั่นในความจงรักภักดี และจะปกป้อง เทิดทูน ดำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นศูนย์รวมจิตใจประชาชนชาวไทย และทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง” การทำรัฐประหารครั้งนี้กล่าวได้ว่าเป็นการพยายามยุติความแตกแยกในชาติที่จะส่งผลกระทบต่อสถาบันที่เป็นศูนย์รวมจิตใจประชาชนชาวไทย และปกป้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ให้ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง เป้าหมายดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นความพยายามที่จะรักษาจรรโลงสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นเอกภาพของชาติซึ่งตามความคิดของ Dankwart Rustow ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองได้ชี้ว่าปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จำเป็นหนึ่งเดียวในการทำให้ประเทศประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย คือ ปัจจัยความเป็นเอกภาพของชาติ (national unity) เท่านั้น และที่มีความสำคัญต่อมาคือ ความเห็นพ้องต้องกันในหมู่ชนชั้นนำ และความเห็นพ้องต้องกันที่ว่านี้ก็คือ การยอมรับกติกาต่างๆ ใหม่ร่วมกันซึ่งในสังคมไทย หากสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สามารถเป็นศูนย์รวมใจที่ธำรงรักษาความเป็นเอกภาพของชาติไว้แล้ว ก็ยากที่จะได้ความเห็นพ้องต้องกันในหมู่ชนชั้นนำ

 แต่ในอีกมุมหนึ่ง การทำรัฐประหารในฐานะที่เป็นทางออกจากวิกฤติย่อมจะไม่ใช่หนทางที่มั่นคงเข้มแข็งและปลอดภัยตลอดไปสำหรับสังคมการเมืองใดก็ตามในระยะยาว เพราะการทำรัฐประหารย่อมสร้างความไม่พอใจต่อฝ่ายที่สูญเสียอำนาจ อีกทั้งกระแสตื่นตัวทางการเมืองที่จะไม่ยอมรับการรัฐประหารโดยง่ายดายยากที่จะเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ

ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลอำนาจนิยมก็ตาม เพราะเป็นการแก้ปัญหาโดยใช้กำลังที่เหนือกว่าเข้าบังคับ มากกว่าจะเป็นการใช้กติกากลไกที่เป็นที่ยอมรับโดยสมัครใจ โดยในระยะยาว จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงน่าเชื่อถือต่อกองทัพและสถาบันพระมหากษัตริย์เองด้วย หากไม่สามารถพัฒนากลไกการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่เป็นที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

อย่างที่นักรัฐศาสตร์คนสำคัญอย่าง Juan Linz ได้กล่าวไว้ว่า หากไม่สามารถสร้างความยอมรับยึดมั่น (loyal) ในกติกาหรือหลักการร่วมกัน อันได้แก่ นัยความหมายของระบอบการปกครองและรัฐธรรมนูญในแง่นี้ เมื่อถึงเวลาที่กองทัพไม่สามารถเป็นที่ยอมรับและมีความชอบธรรมต่อไปในสังคมการเมือง ความผุเสื่อมของรัฐอาจจะเคลื่อนตัวไปจนถึงการเป็นรัฐล้มเหลวหรือล่มสลาย ทางออกก็อาจจำเป็นต้องลงเอยด้วยสงครามกลางเมือง แต่ในอีกมุมหนึ่ง อย่างที่ Charles Call ได้กล่าวไว้ นั่นคือ สงครามสามารถเป็นกลจักรขับเคลื่อนสู่การก่อตัวกลับคืนมาของรัฐ (state formation) ได้ด้วย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามแต่เมื่อถึงสถานการณ์เช่นนั้น ประเทศไทยย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแทรกแซงจากมหาอำนาจฝ่ายต่างๆ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในยูเครน ซีเรีย และก็อาจจะมองไม่เห็นอนาคตว่าเมื่อไรที่จะเกิดสันติภาพและรัฐกลับคืนสู่สภาวะปรกติได้

กล่าวโดยสรุป รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีบางส่วนที่เข้าข่ายและไม่เข้าข่าย Democratic Coup d’etat ตามทฤษฎีของ Varol เพราะตามกรอบของ Varol ประเทศที่เขาศึกษาอันได้แก่ ตุรกี โปรตุเกสและอียิปต์ เป็นประเทศที่ปกครองโดยไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และตัวแบบสามประเทศของ Varo lเป็นตัวแบบที่ไม่ได้มีปัญหาทางสองแพร่งที่พลังมวลชนก้ำกึ่งไม่มีฝ่ายใดมีพลังเหนือกว่าอีกฝ่ายอย่างชัดเจนเหมือนอย่างในกรณีของไทยในปี 2557 เป็นไปได้ว่ากรณีศึกษาของ Varol มิได้มีปัญหาซับซ้อนในแบบก้ำกึ่งพลังมวลชนเหมือนในกรณีของไทย และสภาวะของการเป็นรัฐผุเสื่อมที่พร้อมจะเคลื่อนตัวไปสู่รัฐล้มเหลว-รัฐล่มสลายได้ในที่สุด ซึ่ง Varol ในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนอาจมิได้ให้ความสนใจต่อแนวคิดเรื่องรัฐล้มเหลวนี้เหมือนนักรัฐศาสตร์-สังคมวิทยา

เขาให้ความสำคัญต่อกระบวนการสถาปนาและพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญและเน้นไปที่บทบาทของทหารในการประคับประคองเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมเท่านั้น ซึ่งเราจะพบว่า ในกรณีของอียิปต์ แม้ว่า Varol จะประเมินว่า รัฐประหาร ค.ศ. 2011 เป็นรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย แต่หลังจากมีการเลือกตั้งสภาและประธานาธิบดีใน ค.ศ. 2012 ที่ Varol ตัดสินว่าเป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม การเมืองอียิปต์ได้กลับเข้าสู่วิกฤติทางการเมืองครั้งใหญ่อีกครั้ง และทหารได้เข้าแทรกแซงทางการเมืองอีก แต่ในครั้งนี้ Varol เห็นว่าไม่ใช่รัฐประหารที่เข้าข่าย democratic coup d’etat โดยเขาเห็นว่า ทหารควรรอให้สถานการณ์งวดกว่านี้ การที่อียิปต์เกิดรัฐประหารสองครั้งภายในช่วงเวลาไม่ถึง 3 ปี (ครั้งแรก ค.ศ. 2011 และครั้งที่สอง ค.ศ. 2013) บ่งชี้ให้เห็นถึงความผิวเผินและข้อจำกัดของกรอบทฤษฎี Democratic Coup d’etat ของเขา

จากข้างต้น กล่าวได้ว่า รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ของไทยมีความแตกต่างจากกรณีศึกษาของ Varol ด้วยมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวเป้าหมายหลักของการทำรัฐประหารของไทยจึงไม่ได้มุ่งไปที่การนำไปสู่ประชาธิปไตยเป็นเบื้องแรก แต่เน้นไปที่การรักษารัฐไม่ให้เคลื่อนตัวลงสู่ความผุเสื่อมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นรัฐล้มเหลวและล่มสลายภายใต้สภาวะสงครามกลางเมือง โดยควบคู่ไปกับการพิทักษ์รักษาสถาบันสูงสุด ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมใจยามเกิดวิกฤตแตกแยกรุนแรงในสังคมไทย

ภารกิจสำคัญของกองทัพคือ การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองและมีสถานะที่เป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติ ความมั่นคงของสถาบัพระมหากษัตริย์จะส่งผลให้เกิดเอกภาพภายในกองทัพด้วย และนี่ถือเป็นผลประโยชน์สำคัญของกองทัพ (self-interest) เพราะความเป็นเอกภาพของกองทัพไทยถูกหล่อหลอมให้ผูกติดด้วยกันได้ภายใต้สถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะอุดมการณ์แห่งชาติ ส่วนภารกิจที่ตามมาคือ การดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมตามกำหนดเวลาที่ตั้งไว้

แต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จะต้องนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยและบังคับใช้กฎหมายโดยทั่วไปได้ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมผ่านการสถาปนารัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายในสังคมให้ได้ในที่สุด มิฉะนั้นแล้ว การเมืองไทยก็จะกลับเข้าสู่วังวนของความขัดแย้งนี้อีกอย่างปฏิเสธไม่ได้อย่างที่เกิดขึ้นมาแล้วหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และอย่างที่บทความ The Failed States Index (ดัชนีรัฐล้มเหลว) ได้กล่าวปิดท้ายบทความว่า “การให้มีการเลือกตั้งที่เร็วเกินไปอาจจะทำให้ระบอบที่สถาปนาขึ้นใหม่เปราะบางจากการที่แต่ละฝักฝ่ายพยายามทุกวิถีทางที่จะแย่งชิงอำนาจทางการเมืองกัน” กระนั้น การเลือกตั้งที่ช้าไปก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน และความสำเร็จหรือล้มเหลวของการสร้างชาติให้กลับคืนเป็นปรกตินี้ก็จะเป็นตัวแปรต่อการแทรกแซงจากต่างประเทศด้วย

ทางสองแพร่งที่กองทัพต้องเผชิญอยู่ขณะนี้ก็คือ การประคับประคองให้สถานการณ์ดำเนินไปได้อย่างสมดุลระหว่างการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และการฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย