รัฐส่งช้อปช่วยชาติ 'ล็อต2' แก้วิกฤติกำลังซื้อ

รัฐส่งช้อปช่วยชาติ 'ล็อต2' แก้วิกฤติกำลังซื้อ

หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เห็นผลเป็น “รูปธรรม”

 ผู้คนกล่าวขวัญถึงในแง่กระตุ้นบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงที่ผ่านมา

ต้องยกให้โครงการ ช้อปช่วยชาติ ที่รัฐกำหนดให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ ระหว่างวันที่ 25 -31 ธ.ค.2558 วงเงินไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท  มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

หลังสิ้นสุดมาตรการ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ออกมาประเมินผลลัพธ์ว่า สามารถกระตุ้นการจับจ่าย ทำให้เม็ดเงินสะพัด 1.25 แสนล้านบาท จากการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้นประมาณ 20% หรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่กระทรวงการคลัง ระบุว่า แม้จะทำให้รัฐเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 4,000 ล้านบาท เพราะสิ่งที่ได้กลับมาคือ การกระตุ้นการใช้จ่าย ทำให้กรมสรรพากร มีรายได้จากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มขึ้นเท่าตัว

จากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการออกมา “ยาหอม” ให้รัฐออกมาตรการช้อปช่วยชาติ ล็อต 2  ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่จะถึงนี้

ฝันเป็นจริง..!! 

เมื่อรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ออกมารับลูกเรื่องนี้ โดยยอมรับว่า กระทรวงการคลัง กำลังเสนอโครงการ “ช้อปช่วยชาติ” ล็อต 2 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวในเร็ววันนี้ ขณะที่ระยะเวลาในการใช้มาตรการ จะอยู่ในช่วง 2 สัปดาห์ของเทศกาลสงกรานต์

เดาได้เลยว่า มาตรการช้อปช่วยชาติ ล็อต 2 ที่กำลังจะเข็นออกมานี้ จะทำให้บรรยากาศการจับจ่ายคึกคักขึ้น เนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ ถือเป็น “ปีใหม่ไทย” ที่ประชาชนจำนวนมากจะเดินทางกลับถิ่นฐาน ไปเยี่ยมญาติ พี่น้อง ทำให้เกิดการบริโภคสินค้าและบริการ ตามมาไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม อีกมุมหนึ่งมาตรการนี้ สะท้อนว่า..จนถึงขณะนี้ เศรษฐกิจไทย ยังคงอยู่ในอาการซึมเซา กำลังซื้อ” ในการโภคสินค้าและบริการ โดยเฉพาะกำลังซื้อฐานราก ยังไม่กลับมา

จนต้องตอกย้ำมาตรการกระตุ้นการจับจ่าย กันอีกรอบ

แม้ว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลจะพยายามเข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) หลายต่อหลายมาตรการ ทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน มาตรการกองทุนร่วมลงทุน การค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี,โครงการสินเชื่อ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร ซึ่งเมื่อรวมทุกมาตรการแล้ว เป็นวงเงินรวม 3.28 แสนล้านบาท ก็ตาม

ทว่า..ผลลัพธ์ของมาตรการ กลับไม่พบการฟื้นตัวของ ยอดขายและบริการ มากนัก

อาทิ ยอดขายรถยนต์ ในช่วง 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.) ที่ผ่านมา ยังคงติดลบต่อเนื่อง เดือนม.ค.ติดลบ 13% เดือนก.พ. ติดลบ 10.7%  รวม 2 เดือนติดลบ 11.9%

ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถูกกดดันหนัก จากภาวะหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยระดับราคา 3-5 ล้านบาท จนผู้ประกอบการต้องหันมาจับตลาดที่อยู่อาศัยระดับหรู โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมหรู ที่มองว่าคนกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อทดแทน 

ไม่นับรวมยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ผู้ประกอบการบ่นอุบว่ายังไม่ดีขึ้น

นี่คือ..สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่กับเศรษฐกิจไทย เวลานี้ 

แม้ว่าจะกระตุ้นบรรยากาศ การจับจ่าย ได้เป็นบาง “ห้วงเวลา” ของมาตรการ ทว่าไม่อาจ “ยืนยาว"

ตราบที่ปัญหาใหญ่ๆของบ้านเมือง ยังไม่ทุเลา 

วิกฤติภัยแล้ง การส่งออกชะลอตัว การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ไม่เกิดสักที..!