กรุงเทพมหานครกับรถไฟฟ้า

กรุงเทพมหานครกับรถไฟฟ้า

รถไฟฟ้า BTS มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนชีวิตชาวกรุงเทพมหานครให้มาเป็นชีวิตในแบบมหานคร

ผมได้รู้จักกับ "คุณคีรี กาญจนพาสน์" ประธานกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และผูกพันกับรถไฟฟ้า BTS มาตั้งแต่ยังไม่เริ่มสร้าง เพราะเมื่อผมกลับมาทำงานในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2536 (หลังจากที่ได้ไปทำงานอยู่ในสำนักงานกฎหมายที่นิวยอร์คอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง) งานสำคัญชิ้นแรกๆ ของผมเลยก็คือการเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ BTS ในการเจรจาแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับกรุงเทพมหานคร เพื่อย้ายอาคารควบคุม รวมทั้งโรงจอดและซ่อมบำรุง (Depot) จากที่กำหนดไว้เดิมให้อยู่ที่บริเวณสวนลุมพินีไปอยู่บริเวณหมอชิต เนื่องจากบริเวณเดิมมีความไม่เหมาะสม และจากนั้นก็ได้เป็นที่ปรึกษากฎหมายในการทำสัญญากู้เงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการรถไฟฟ้า BTS จนเป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2536 นั้นผมจำได้ว่าเรื่องรถติดในกรุงเทพมหานครสร้างความเบื่อหน่ายให้กับผมมาก ในวันที่มีประชุมหลายที่ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน แม้สถานที่ประชุมจะอยู่ไม่ไกลกันนัก ผมก็จะไปประชุมไม่ทัน หลายครั้งต้องตัดสินใจนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างไป แต่ช่วงนั้นก็เป็นที่ทราบกันแล้วว่าจะมีรถไฟฟ้าใช้กันในอีกห้าหรือหกปีข้างหน้า เพราะกรุงเทพมหานครได้ลงนามในสัญญาสัมปทานกับ BTS แล้วตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2535 เพื่อให้ BTS ลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 สายแรกคือ สายสุขุมวิทและสายสีลม

ผมไม่ทราบว่าใครเป็นคนต้นคิดเรื่องโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร แต่ผมเห็นว่าคุณคีรีควรได้รับเครดิตเป็นอย่างมากท่านหนึ่ง เพราะคุณคีรีต้องต่อสู้กับปัญหานานัปการกับการกำเนิดของโครงการรถไฟฟ้า BTS และการทำให้โครงการอยู่รอดตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งการ
ยืนหยัดให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนที่คัดค้านโต้แย้ง

โดยตั้งประเด็นว่าการก่อสร้างจะทำให้รถที่ติดอยู่แล้วติดหนักถึงขั้นเป็นอัมพาตและการที่มีรถไฟฟ้ามาวิ่งอยู่บนดิน (Sky Train) นั้นจะสร้างความไม่สวยงามต่อทัศนียภาพของกรุงเทพมหานคร และแม้ว่าในที่สุดชาวกรุงเทพมหานครจะได้ใช้รถไฟฟ้า BTS กันมาตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2542 แต่ BTS กลับประสบปัญหาขาดทุนมาโดยตลอดจนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในปี พ.ศ. 2549 หลังจากการฟื้นฟูกิจการเป็นผลสำเร็จ กิจการของ BTS จึงเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งก็คงสอดคล้องกับวิวัฒนาการในการใช้ชีวิตของชาวกรุงเทพมหานครที่เริ่มเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางเป็นหลักเป็นจำนวนมากขึ้นๆ ทุกปี

ในปัจจุบัน BTS ถือเป็นบริษัทชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยในปี พ.ศ. 2556 สามารถระดมทุนเพื่อไปใช้ในการขยายกิจการได้หลายหมื่นล้านบาทด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ซึ่งผมก็ได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ BTS และทำงานร่วมกับคุณคีรีในเรื่องนี้ด้วย

รถไฟฟ้า BTS ได้มีส่วนอย่างสำคัญในการเปลี่ยนชีวิตชาวกรุงเทพมหานครให้มาเป็นชีวิตในแบบมหานคร โดยมีที่พักอาศัย ที่ทำงาน และที่เที่ยวอยู่ในละแวกใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าและมีรถไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ผมนึกไม่ออกจริง ๆ ว่าหากไม่มีรถไฟฟ้าใช้กันในปัจจุบัน ถนนในกรุงเทพมหานครจะมีเพียงพอให้รถยนต์ออกมาวิ่งหรือไม่และเราจะมีชีวิตอยู่กันอย่างยากลำบากมากขึ้นเพียงใด

ผมเชื่อว่าใน Vision ของคุณคีรีตั้งแต่ยี่สิบกว่าปีที่แล้วเมื่อเริ่มโครงการรถไฟฟ้า BTS นั้น คุณคีรีต้องมองออกและเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่ารถไฟฟ้า BTS จะเปลี่ยนชีวิตชาวกรุงเทพมหานครมาเป็นแบบที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งแม้จะใช้เวลานานและมีอุปสรรคมากกว่าที่คิดก็ได้ทำการต่อสู้ฝ่าฟันอย่างไม่ย่อท้อ

เรื่อง Vision ในลักษณะนี้ทำให้ผมนึกถึง Walt Disney ซึ่งเมื่อคิดสร้างหนังการ์ตูนเรื่องแรก คือ Snow White and the Seven Dwarfs และเมื่อคิดโครงการสวนสนุก Disney Land นั้นเป็นสิ่งที่คนอื่นในขณะนั้นไม่เชื่อและมองว่าเป็นเพียงความฝัน แต่ Walt Disney ก็ได้มุ่งมั่นทำตามความฝันของตนเองด้วยความเชื่อมั่นจนเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้

All our dreams can come true, if you have the courage to purse them. Walt Disney