AGM ฉบับปรับปรุง

AGM ฉบับปรับปรุง

ดิฉันกำลังจะเล่า เรื่องเกณฑ์การประเมิน การจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2559 ที่กำลังจะเกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือน

มีนาคมเป็นต้นไป จนถึงสิ้นเดือนเมษายน

เกณฑ์ที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ใช้ประเมินเพื่อยกระดับธรรมาภิบาลของตลาดทุนไทย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ A,B,C ซึ่ง คือ ก่อน-ระหว่าง-หลังประชุม คะแนนรวม 100 คะแนน ด้วยกรอบแนวคิดที่ครอบคลุม 2 ประเด็นหลัก คือ การเปิดเผยข้อมูล และการให้ความเท่าเทียมกันของผู้ถือหุ้น โดยมีรายละเอียดในข้อย่อยตามที่เข้าใจกัน

มาวันนี้ ไม่มีข้อใดต้องกังวลใจเลยคะ เพราะกรอบแนวคิดยังคงไว้เช่นเดิมทุกประการ มีเพียงเนื้อในของสาระ อันเป็นข้อพึงปฏิบัติ ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี หาใช่ข้อกฎหมายไม่ ซึ่งหมายความว่า บางข้อไม่ทำก็ไม่ผิดกฎหมาย มาตราใดๆ แต่เป็นการแสดงความซื่อสัตย์สุจริต ของทีมผู้บริหาร ที่พึงมีต่อหุ้นส่วนของท่าน อันหมายถึงผู้ถือหุ้นทุกคน

การปรับปรุงมีเรื่องใดบ้าง ขอนำมาเรียนแจ้งไปยังผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนและพี่น้องอาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น ตลอดจนนักลงทุนทุกท่าน ที่จะช่วยกันสอดส่อง เป็นหูเป็นตา สร้างและยกระดับความถูกต้องเป็นธรรมให้กับตลาดทุนไทยร่วมกันดังนี้

ปรับปรุง เรื่องที่ 1 : สัดส่วนของคะแนน ก่อนประชุม/ระหว่างประชุม/หลังประชุม จากเดิม คือ 50/40/10 เป็นสัดส่วนใหม่ 45/45/10 พบว่า การเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมนั้น ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ทำได้ดีมากแล้ว เพราะเป็นเกณฑ์ปกติของการเป็นบริษัทมหาชน ดังนั้น จึงขอโยกคะแนนเพิ่มความสำคัญไปยังวันประชุม-วันที่จะพบกันระหว่างผู้บริหารและผู้ถือหุ้น

ปรับปรุง เรื่องที่ 2 : ข้อมูล ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ คือ การบันทึกบอกข้อมูล ให้ความมั่นใจ ในเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งการนำข้อมูลนั้นๆ มากล่าวถึงในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นด้วย อาทิ เรื่องของผลการดำเนินงาน ประธานในที่ประชุม (หรืออาจมีการมอบหมาย ให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง) มีการนำเสนอแบบย่อๆ ในที่ประชุม แม้จะได้มีการบันทึกไว้ในรายงานประจำปี หรือใน แบบ 56-1 แล้วก็ตาม, การจ่ายเงินปันผล หากแม้ว่า มาก หรือน้อยกว่านโยบายที่กำหนดไว้ก็ตาม,การเข้าเป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทย ใน การต่อต้านการทุจริต-CAC

ความสำคัญของกรรมการที่เปรียบเสมือนผู้กำหนดนโยบายการบริหารงาน ควรมีคำบางคำที่กำกับไว้ถึงความเหมาะสมของการสรรหา ว่าเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าต่อองค์กร มีประวัติการเข้าร่วมประชุม แบบอุทิศเวลา ประสบการณ์ ความสามารถ และกำหนดค่าตอบแทนเหมาะสม รวมทั้งระบุค่าตอบแทน ในรูปของเงินสด หรืออื่นใด รวมทั้งระบุว่า กรรมการท่านนั้น เป็นกรรมการของบริษัทอื่นๆ ที่เป็นบริษัทในตลาดและนอกตลาดหุ้น

อีกประเด็นสำคัญ ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน คือ การดำรงตำแหน่ง เกิน 9 ปีขึ้นไป เป็นเรื่องที่มีหลายมุมมองยิ่งนัก เช่น ท่านสามารถแยกแยะได้ ว่า ความอิสระไม่ได้จำกัดอยู่เพียง 9 ปี ความอิสระเป็นเอกทัศน์ของแต่ละบุคคล, แสวงหาบุคลากรไม่ง่าย ที่จะเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นๆ ล้วนเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่หลักธรรมาภิบาลสากล เขาใช้เกณฑ์เดียวกันทั่วโลก สังคมโลกจึงเป็นตัวชี้วัด เมืองไทยหากจะค้าขายกับพวกเขา จึงต้องใช้เกณฑ์เดียวกันด้วยเหตุผลนี้

ปรับปรุง เรื่องที่ 3 : เป็นการ ให้ความสำคัญกับการกำกับ-การดำเนินการประชุม ให้ราบรื่น พระเอกของงานนี้ คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ ประธานในที่ประชุม บางบทอาจต้องเนี๊ยบ เข้ม บางบทต้องยืดหยุ่น นุ่นนวล มองไปอาจไม่ต่างจากการประชุมสภาผู้แทนราษฏร์ ที่เราเห็นการถ่ายสดทางโทรทัศน์ ที่ผู้เข้าร่วมประชุม ต้องอิงประธานที่ประชุมเท่านั้น โดยมารยาทไม่ความก้าวข้ามไปพูดจากันเองระหว่างสมาชิก โดยต้องหารือผ่านประธานที่ประชุมเท่านั้น

และยังมีข้อเล็ก ข้อน้อย ที่มิใช่เรื่องแปลกใหม่ ล้วนเป็นเรื่องที่บริษัทมหาชน พึงกระทำ แบบไม่เหลือบ่ากว่าแรง อาจจะมองว่าเป็นเรื่องจุกจิก เพิ่มงาน แต่สุดท้ายหากทำด้วยความเข้าใจ ย่อมเข้าใจด้วยหัวใจเช่นกัน

เรื่องที่สำคัญอีกเรื่อง นอกเหนือจากเรื่องข้อมูลแล้ว การทำหน้าที่ของท่านประธาน ในที่ประชุม ก็มีความสำคัญ ด้วยการว่า ต้อง “เอาอยู่” จึงจะควบคุมดำเนินการประชุม ให้อยู่ในวาระ ราบรื่น และบรรยากาศเปี่ยมมิตร

บทบาทของประธานที่ประชุม เข้าใจว่าไม่มีท่านใด เก่ง คล่อง ได้ทุกคน หากเป็นระดับผู้ใหญ่ขององค์กรใหญ่ ย่อมได้เปรียบ คุ้นเคยเวที ด้วยประสบการณ์ที่ “รู้ทางมวย” ก็จะช่วยได้มาก ดิฉันเอาใจช่วยสำหรับบางท่านที่ยังไม่มั่นใจ แนะนำให้ไปเข้าห้องเรียนแบบมี Workshop ที่ IOD จะช่วยได้เยอะ

จากประสบการณ์ภาคสนาม พบว่ามีผู้ถือหุ้นและผู้รับมอบฉันทะบางราย บางกลุ่มคน ลุกขึ้นเรียกร้อง “สิทธิ” จนอาจเป็นการรอนสิทธิ ของผู้ถือหุ้นท่านอื่นๆ แบบไม่เกรงใจหน้าอินทร์พรหม เช่น ลุกขึ้นอภิปรายร่ายยาว เชิงสั่งสอนผู้บริหาร, ถามแบบจับผิดหรือกล่าวโทษแบบผู้มีภูมิ (ทั้งที่อาจมีความรู้ไม่ครบทุกมิติ),ประชดประชัน เสียดสีผู้บริหาร,เรียกร้องอาหาร-อาหารว่าง-ของชำร่วย และอื่นๆ

การปรับปรุงแบบประเมินคุณภาพการจัดประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบสิบปี อาจติดขัด (ใจ) หรือมองว่ายุ่งยากในภาคปฏิบัติอยู่บ้าง แต่ล้วนเป็นเรื่องที่บริษัทมหาชนพึงกระทำอยู่แล้ว รู้ทั้งรู้ ตั้งแต่เริ่มเข้าตลาดฯ วันนี้ก็ยังทำแบบที่ตัวเองรู้ ตัวเองเป็น แบบเสมอต้นเสมอปลายแบบนี้จะต้นแบบที่ดี ไม่ต้องซื้อหา สบายใจด้วยกันทุกฝ่าย

ปรับเพื่ออยู่… ต่อสู้เพื่อชาติ.. บจ.สู้ สู้… และผู้ถือหุ้น มืออาชีพ… แบบนี้ อยู่กันยั่งยืนแน่ๆ

บันทึกช่วยจำ : ขอแจ้งว่า เมื่อมีการปรับปรุง แบบประเมิน AGM Checklist เพื่อใช้งาน ในปี 2559 นี้ ทันทีเลยนั้น สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยจึงเปิดห้องสัมมนาชี้แจงกับผู้บริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 172 บริษัทจดทะเบียน จึงขอเชิญบริษัทที่ยังตกหล่น รีบเข้าร่วมทำความเข้าใจด้วยกัน รอบสุดท้ายจะจัดในวันที่ 1 มีนาคม โทร.0-2359-1196, 0-2359-1255