‘อิมพอสซิเบิ้ล ทรีนีตี้’ นโยบายที่จีนต้องเลือก!

‘อิมพอสซิเบิ้ล ทรีนีตี้’ นโยบายที่จีนต้องเลือก!

เศรษฐกิจจีนปีนี้ นับเป็นอีกหนึ่งปีที่ต้อง “เฝ้าระวัง”

 เพราะเป็นช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของการ “ปรับสมดุล” เพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กลไกเศรษฐกิจเสรีมากขึ้น ช่วงเวลาแบบนี้ ความปั่นป่วนในตลาดการเงิน พร้อมเกิดขึ้นทุกเมื่อ เพียงแต่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นเร็วตั้งแต่ต้นปี

ผ่านปีใหม่มาไม่กี่วัน “จีน” ต้องเผชิญกับการถูก “โจมตีค่าเงิน” ด้วยเพราะตลาดเก็งว่า “เงินหยวน” จะอ่อนค่าตามทิศทางเศรษฐกิจ จึงมีแรงเก็งกำไรอย่างมากในตลาด “ออฟชอร์” หรือ ตลาดซื้อขายเงินหยวนนอกประเทศ ซึ่งเทรดกันที่ “ฮ่องกง”

อาการนี้หลายคนมองว่า “คล้าย” กับสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งที่ “ไทย” เคยโดนเมื่อปี 2540 คือ มีการกู้ยืมเงินเพื่อมาขาย “ชอร์ต” ด้วยหวังว่าหากค่าเงินอ่อนลง จะมีกำไรจากส่วนต่างเหล่านี้

ทว่า..จีนสามารถ “คลี่คลาย” สถานการณ์ดังกล่าวได้อย่าง “เด็ดขาด” ด้วยการปั่นดอกเบี้ยกู้ยืมเงินหยวนจนพุ่งปรี๊ด ทำให้ “เฮดจ์ฟันด์” ที่กู้เงินหยวนมาขายชอร์ต ต้องรีบปิดสถานะเพราะไม่อาจแบกต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นได้ ทำให้แรงขายชอร์ตเงินหยวน หายไปในบัดดล

แม้จีนจะเคลียร์ปัญหาได้ “รวดเร็ว” แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่ายังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่เบ็ดเสร็จ พร้อมกับทำนายว่า ในอนาคตเหตุการณ์ลักษณะนี้คงเกิดขึ้นอีก ตราบใดที่ “จีน” ยัง “ฝืน” ทฤษฎีการเงิน “Impossible Trinity” หรือ สามเหลี่ยมที่ไม่สามารถเป็นไปได้

หลักของทฤษฎีนี้ คือ การดำเนินนโยบายการเงิน “ไม่สามารถ” ทำใน “3สิ่ง” พร้อมกันได้ นั่น คือ 1. การใช้ดอกเบี้ยเพื่อดูแลเศรษฐกิจ 2. การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ และ 3. การเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย

ที่ผ่านมา จีน ลดดอกเบี้ยไปหลายครั้งเพื่อดูแลเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวลงมากนัก แต่ขณะเดียวกันก็ใช้วิธี “คุมอัตราแลกเปลี่ยน” เพื่อดูแลไม่ให้เงินหยวนอ่อนค่าแรงด้วย ทั้งที่ในความเป็นจริงควรต้องอ่อนตามกลไกของตลาด ในเวลาเดียวกัน จีน ก็เริ่มผ่อนคลายกฎเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้น

เมื่อคนมองว่าเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่า จึงแห่นำเงินมาแลกเป็นดอลลาร์ ทำให้ทางการจีนต้องใช้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เข้าดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงิน .. ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงมองว่าคล้ายกับไทยเมื่อสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง

กรณีของจีน หลายคนมองว่าแตกต่างกับไทย เพราะปัจจุบัน “เงินสำรองฯ” ของจีนสูงเป็นอันดับหนึ่งในโลก มีมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ จึงน่าจะ “เอาอยู่” ..แต่อีกหลายคนก็ไม่ได้มองเช่นนั้น เช่น ทาง “แบงก์ ออฟ อเมริกา” ประเมินว่า ถ้าคนจีนที่อาศัยใน “เขตเมือง” ซึ่งปัจจุบันมีราว 700 ล้านคน ในจำนวนนี้เพียงแค่ 3% หากนำเงินหยวนมาแลกเงินดอลลาร์ออกไปตามที่ทางการจีนอนุญาตปีละ 5 หมื่นดอลลาร์ ก็จะทำให้เงินสำรองฯ ของจีนหายไปถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ จึงนับว่าน่าห่วงไม่น้อย

เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ “ฮารุฮิโกะ คุโรดะ” ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ก็เพิ่งแนะนำให้จีนนำมาตรการควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายมาใช้ ซึ่งจะช่วยให้จีนไม่ต้องทุ่มเงินสำรองฯ ไปกับการรักษาเสถียรภาพค่าเงินมากนัก ..และเท่ากับเป็นการปลดล็อก ข้อ3 ของทฤษฎีดังกล่าว

เพียงแต่ จีน เพิ่งสัญญากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ว่าจะทยอยทำให้เงินหยวนแลกเปลี่ยนได้เสรีมากขึ้น หลังจากเงินหยวนได้รับบรรจุเข้าสู่ตระกร้า “เอสดีอาร์” ..ข้อเสนอของ “คุโรดะ” จึงเป็นไปได้ยาก

..ที่เหลือจึงขึ้นกับว่า จีน จะเลือกหนทางใดในการปลดล็อกข้อจำกัดดังกล่าว เพราะไม่เช่นนั้น จีน ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีค่าเงินได้อีกระลอก!