การตลาดอารมณ์

การตลาดอารมณ์

“อีโมชั่นแนล มาร์เก็ตติ้ง” หรือ การตลาดอารมณ์ ถูกนำมาใช้กับ “มาตรการรัฐ”

 ได้ผลก็คราวที่ รัฐบาลเลือกจะหยิบมาใช้ “พ่วง” ไปกับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดย “ไฟเขียว” ให้ประชาชนนำใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ จากการซื้อสินค้าและบริการ วงเงินไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี (25-31ธ.ค.) มาใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  

ปรากฏว่า ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างมาก จนน่าจะ “เกินความคาดหมาย” ของรัฐบาลด้วยซ้ำ

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง เป็นเพราะ ช่วงปลายปีเป็นช่วงที่ ผู้คนอยู่ในอารมณ์จับจ่าย ซื้อของขวัญ-ของฝาก เฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ 2559

มาตรการนี้จึง โหนกระแส สร้างความคึกคักในการจับจ่ายเพิ่มมากขึ้น ..!!

จนสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ต้องออกมา “ชื่นชม” โดยระบุว่าเป็นมาตรการที่ ถูกที่ ถูกทาง ถูกเวลา พร้อมระบุว่า มาตรการนี้ทำให้การจับจ่ายในช่วงเวลาดังกล่าว เพิ่มขึ้น 20% หรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลสู่ระบบเศรษฐกิจโดยรวม สูงถึง 1.25 แสนล้านบาท

เรียกว่า งานนี้ ห้างสรรพสินค้า-ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่”  ยิ้มหน้าบาน รับทรัพย์ถ้วนหน้า แม้จะมีเสียงบ่นจากบรรดาร้านค้าย่อยลงมา ว่าเข้าไม่ถึงมาตรการนี้มากนักจากความไม่พร้อมในการออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ 

แน่นอน ผู้ประกอบการที่ไม่ได้อานิสงส์จากมาตรการ คือ ผู้ประกอบการที่เลี่ยงภาษี โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) 

มาตรการนี้ จึงกลายเป็น “อีกแรงจูงใจ” ให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ เห็นประโยชน์ของการเข้าสู่ระบบภาษี

ผลจากมาตรการ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยังประเมินว่า จะทำให้อุตสาหกรรมค้าปลีกเติบโต เพิ่มขึ้น 0.3% ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมเติบโต 3.05% สูงกว่าเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.8% และยังอาจจะกลายเป็น “แรงส่ง” ผลักดันกำลังซื้อให้เริ่มฟื้นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะใน “ไตรมาสแรก” ของปีนี้ 

จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น คาดว่ารัฐจะนำ “การตลาดอารมณ์” นี้ที่ไปใช้ กระตุ้นเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ พ่วงไปกับ “มาตรการภาษี” อาทิ การกระตุ้น ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอีกขาสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ (ในปี 2558 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 14.8 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ -จีดีพี) เนื่องจากปีนี้ถือว่ามี “วันหยุดยาว” อยู่หลายช่วง 

ขณะที่ภาคส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของเศรษฐกิจไทย โดยมีรายได้เกือบ 70% ของจีดีพี ยังคงเผชิญแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่ไม่สู้ดี โดยเฉพาะ เศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจจะกลายเป็น “ระเบิดเวลา” อีกลูก ที่กระหน่ำภาคส่งออกไทยในปีนี้

เพราะพิสูจน์แล้วว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว เกิดเหตุระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ สะเทือนการท่องเที่ยว แต่ในปีที่ผ่านมา แต่ภาคการท่องเที่ยว ยังคงโดดเด่น ช่วยพยุงจีดีพี กลับมาได้ส่วนหนึ่ง 

โดยกระทรวงท่องเที่ยวฯ คาดการณ์รายได้จากการท่องเที่ยวปี 2558 ว่า จะมีรายได้รวม 2.21 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิม 1 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.42 ล้านล้านบาท หรือราว 30 ล้านคน ขณะที่ปีนี้ ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวไว้ที่ 2.3 ล้านล้านบาท

ขณะที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2558 ว่า จะขยายตัวได้ราว 3% ส่วนหนึ่งเกิดจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซีย

“อารมณ์” จึงมีความสำคัญ ในการดึงเงินในกระเป๋าชนชั้นกลาง 

ที่มีเงินแต่ไม่ใช้เงิน เพราะ หมดมู้ด"