AEC เปิด โอกาสธุรกิจเปลี่ยน?

AEC เปิด โอกาสธุรกิจเปลี่ยน?

กำหนดการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2015 ใกล้เข้ามาทุกขณะ

ด้วยเป้าหมายที่ต้องการทำให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค และบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก คำถามที่น่าสนใจคือการเปิด AEC จะทำให้อาเซียนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และจะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจทั้งในด้านการค้าสินค้าและบริการอย่างไรได้บ้าง? 

การกำจัดกำแพงภาษีสินค้าภายใต้กรอบ AEC จะช่วยขยายการค้าในอาเซียน และเป็นโอกาสให้กับบางธุรกิจที่จะส่งออกได้มากขึ้น นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการจัดทำแผนงานเพื่อการจัดตั้ง AEC (AEC Blueprint) ในปี 2007 การค้าขายภายในอาเซียนเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่เกือบ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2015 หรือขยายตัวกว่า 8% ต่อปี สำหรับไทยแล้วอาเซียนยังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งมาโดยตลอด โดยมีสัดส่วนการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึง 23% ในปัจจุบัน และมีการเติบโตของมูลค่าการค้าราว 7% ต่อปี ทั้งนี้ ปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางการค้าที่สำคัญคือการลดภาษีศุลกากรภายในอาเซียน

ที่ผ่านมาอาเซียนได้ทยอยลดภาษีสินค้าระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 1993 ภายใต้กรอบ AFTA ซึ่ง ASEAN 6 ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้ลดภาษีสินค้าทั้งหมดเหลือ 0% ภายในปี 2010 แล้ว ยกเว้นบางสินค้าในบัญชีอ่อนไหว (Sensitive List: SL) และอ่อนไหวสูง (Highly Sensitive List: HSL) ส่วนสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) จะลดอัตราภาษีสินค้าในบัญชี Inclusion List (IL) ทุกรายการให้เหลือ 0% ภายในสิ้นปีนี้ ยกเว้นบางสินค้าที่ยืดหยุ่นให้ได้ถึงปี 2018 ซึ่งจะเป็นโอกาสของสินค้าไทย เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ พลังงานไฟฟ้า เครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์และน้ำอัดลม ที่จะมีแนวโน้มส่งออกไป CLMV มากขึ้นหากมีการลดอัตราภาษีลงอีก เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและชนชั้นกลางในกลุ่ม CLMV ที่จะมีกำลังซื้อมากยิ่งขึ้นในอนาคต

แต่การลดภาษีสินค้าอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะช่วยให้ส่งออกได้มากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยด้านราคา คุณภาพ และคู่แข่งด้วย ASEAN 6 ยังมีสินค้าในบัญชีอ่อนไหวสูง เช่น ข้าว ที่อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ต้องลดภาษีให้เหลือ 25% และ 35% ตามลำดับ ภายในปลายปีนี้ แต่การลดภาษีดังกล่าวไม่ได้รับประกันว่าไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน ยกตัวอย่างกรณีที่มาเลเซียลดภาษีข้าวจาก 40% เป็น 20% ในปี 2010 ทำให้ไทยส่งออกข้าวไปมาเลเซียได้ถึง 1.8 แสนตันในปี 2010 หรือมีการเติบโตถึง 10% จากปีก่อนหน้า แต่ในปี 2012 การส่งออกข้าวไทยไปมาเลเซียกลับลดลงเหลือ 7 หมื่นตัน เพราะข้าวไทยมีราคาสูงกว่าเวียดนาม และอินเดีย จึงมีความเสียเปรียบด้านการแข่งขัน ดังนั้น อัตราภาษีข้าวที่ลดลงไม่ได้เป็นปัจจัยสนับสนุนหลักที่ช่วยให้ไทยส่งออกข้าวได้มากขึ้น นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์เองก็มีโครงการ Rice Self-Sufficiency Program ที่ต้องการพึ่งพาผลผลิตข้าวในประเทศให้ได้ 100% ภายในปี 2015 ซึ่งจะทำให้การส่งออกข้าวไทยไปฟิลิปปินส์อาจมีแนวโน้มลดลง แม้ว่าภาษีนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์จะลดลงอีกก็ตาม

อุตสาหกรรมการผลิตบางประเภทจะได้รับอานิสงส์จากการนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางที่มีราคาถูกลง แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำ นอกเหนือจากการลดภาษีแล้ว อาเซียนจะต้องลดและเลิกอุปสรรคการค้าอื่นที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier) เช่น การกำหนดโควตาการนำเข้า เป็นต้น ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมบางประเภทสามารถนำเข้าสินค้ามาผลิตได้ในราคาที่ถูกลง อาทิ หากมีการยกเลิกการจำกัดปริมาณนำเข้าปาล์มน้ำมันของประเทศจะทำให้อุตสาหกรรมไบโอดีเซลได้รับประโยชน์จากโอกาสการนำเข้าปาล์มน้ำมันมาจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันรายใหญ่ของโลก นำมาผลิตไบโอดีเซลในประเทศด้วยต้นทุนที่ต่ำลง อย่างไรก็ตามก็จะกระทบต่อผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศเช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ยังต้องระวังความเสี่ยงจากการรวมกลุ่มทางการค้าอื่นๆ เช่น ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ที่อาจทำให้ไทยเสียเปรียบมากกว่าประเทศอาเซียนที่เป็นสมาชิก TPP เช่น เวียดนามที่จะได้เปรียบเรื่องการเข้าถึงพลังงานรูปแบบใหม่จากสหรัฐฯ ได้ง่ายขึ้น

การเปิดเสรีของธุรกิจบริการในปี 2015 ยังล่าช้ากว่าเป้าหมาย แต่ธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงคือ โลจิสติกส์ จากแรงขับเคลื่อนด้านการค้าและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน ธุรกิจบริการ 5 สาขาเร่งรัด อันได้แก่ การขนส่งทางอากาศ e-ASEAN (คอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม) สุขภาพ การท่องเที่ยว มีการเปิดเสรีในปี 2010 และธุรกิจโลจิสติกส์ เปิดเสรีแล้วเสร็จในปี 2013 เพื่อให้นักลงทุนอาเซียนสามารถเข้ามาถือหุ้นในธุรกิจเหล่านี้ได้ถึง 70% แต่ปัจจุบันหลายประเทศยังสงวนเพดานสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่ำกว่าเป้าหมายที่ตกลงไว้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าธุรกิจโลจิสติกส์จะเป็นธุรกิจที่โดดเด่นมากกว่าธุรกิจบริการอื่นๆ เนื่องจากแผนแม่บท ASEAN Connectivity ที่สนับสนุนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงอาเซียนเชื่อมโยงต่อไปยังจีน อินเดีย ตลาดยักษ์ใหญ่ของเอเชีย การพัฒนาการขนส่งระบบรางโดยเฉพาะโครงการที่มีความสำคัญสูงอย่าง Singapore-Kunming Rail Link (SKRL) ระยะทางมากกว่า 7,000 กิโลเมตร เชื่อมอาเซียนและจีน จะทำให้ไทยก้าวเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคจากความได้เปรียบของไทยที่ตั้งอยู่ใจกลางอาเซียน รวมถึงความตกลงการขนส่งต่างๆ และ ASEAN Single Window หรือระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ

จะเป็นโอกาสให้กับธุรกิจโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้า เช่น ผัก ผลไม้ สินค้าอุปโภคบริโภค รถยนต์ น้ำมันปิโตรเลียมไปยัง CLMV สินค้าขั้นกลางในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปยังจีนเพื่อผลิตต่อ ซึ่งผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ เช่น อาจลงทุนซื้อรถพ่วงสำหรับบรรทุกรถยนต์ รถห้องเย็นสำหรับขนผัก ผลไม้ สร้างคลังสินค้าหรือศูนย์กระจายสินค้าในจังหวัดชายแดนสำคัญ เช่น หนองคาย มุกดาหาร ตาก กาญจนบุรี และใช้ประโยชน์จากการเปิด AEC โดยการสร้างเครือข่ายหาพันธมิตรทางธุรกิจและขยายการบริการในอาเซียน

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ SMEs จะมีโอกาสได้รับการพัฒนาและผนวกเข้ากับห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค ผู้ประกอบการ SME ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจอาเซียนเพราะมีสัดส่วนกว่า 90% ของจำนวนวิสาหกิจทั้งหมด และสร้างงานให้ตลาดแรงงานมากที่สุด (SME ของไทยมีสัดส่วน 99.8% มีการจ้างงานราว 77% ของแรงงานทั้งหมด) ทั้งนี้อาเซียนได้จัดทำแผนเชิงกลยุทธ์ปี 2016-2025 เพื่อพัฒนา SME ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ซึ่งคาดว่าในอนาคต SME ไทยจะสามารถเข้าถึงเงินทุน ตลาด ทรัพยากรบุคคล ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งได้รับการสนับสนุนข้อมูลคำปรึกษาด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม

ทั้งนี้ SME ที่มีโอกาสทางธุรกิจสูงในอาเซียน ได้แก่ สปา เครื่องสำอาง ธุรกิจท่องเที่ยว แต่จะต้องพัฒนาสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานเดียวกันตามความตกลงการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Agreement: MRA) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพ นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสของ SME ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ที่จะสามารถส่งออกไปยังฐานการผลิตอื่น เช่น โรงงานรถยนต์ในอินโดนีเซีย หรือธุรกิจเกษตรแปรรูปที่อาจขยายฐานการผลิตไปยัง CLM เพื่อใช้พื้นที่เพาะปลูกและส่งวัตถุดิบมาแปรรูปในประเทศ หรือเข้าไปผลิตแบบครบวงจรและส่งออกไปขายยังตลาดประเทศที่ 3 โดยอาศัยความได้เปรียบของ CLM เรื่องแรงงานราคาถูก และสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) จากประเทศพัฒนาแล้ว
เหลือเวลาอีกไม่มากกับการเปิด AEC แต่ยังไม่สายไปที่ผู้ประกอบการจะเตรียมคว้าโอกาสและปรับตัวรับความท้าทายทางธุรกิจที่จะเพิ่มมากขึ้นหลังเปิด AEC