ข่าวร้ายและข่าวดีของโมดีในเดือน พ.ย. 2558

ข่าวร้ายและข่าวดีของโมดีในเดือน พ.ย. 2558

ช่วงต้นเดือนนี้เป็นช่วงที่นายกรัฐมนตรีโมดีของอินเดียคงต้องทำใจ เมื่อเผชิญกับความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป

ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งประกาศผลเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ก็ยังดีที่ได้รับการปลอบใจจากข่าวดีหลายเรื่อง เกี่ยวกับแนวโน้มภาคเศรษฐกิจอินเดียที่ดีขึ้น

ข่าวร้ายก็คือ การพ่ายแพ้ของนายโมดีและพรรค BJP ในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐพิหาร (Bihar) ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของอินเดีย (ประชากร 104 ล้านคน) การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างนโยบายการพัฒนา (Development Agenda) ของนายโมดี กับการใช้ฐานเสียงจัดตั้ง โดยไม่ต้องสนใจเรื่องนโยบายพัฒนาของกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นเดิม นำโดยนาย Nitish Kumar หัวหน้าพรรค Janata Dal (United) หรือ JDU และเป็นมุขมนตรีของรัฐคนปัจจุบัน กับกลุ่มของนาย Lalu Prasad Yadav หัวหน้าพรรค Rashtriya Janata Dal (RJD) ซึ่งเป็นนักการเมืองรุ่นเก๋าที่จับมือเป็นพันธมิตรกับนาย Kumar เพื่อตีกันไม่ให้พรรค BJP ของนายโมดีมาแจ้งเกิดในรัฐพิหารได้สำเร็จ

การรณรงค์เป็นไปอย่างเข้มข้นจนถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งก็ปรากฏว่านักการเมืองท้องถิ่นที่เพียงอาศัยคำมั่นสัญญาใจและประชานิยมแบบเดิมๆ ก็สามารถเอาชนะนโยบายการพัฒนาของโมดีไปได้ โดยมีปัจจัยเสริมมาจากประเด็นเรื่องการแบ่งชั้นวรรณะ บวกความไม่ไว้วางใจพรรค BJP โดยชาวมุสลิมที่เห็นว่าพยายามผลักดันความเป็นรัฐฮินดูมากเกินไป ทำให้นายโมดีที่แม้จะชนะการเลือกตั้งระดับประเทศอย่างท่วมท้นเมื่อ 20 เดือนก่อน ต้องมาพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นครั้งที่ 2 หลังจากพ่ายแพ้มาแล้วในการเลือกตั้งสภากรุงนิวเดลีก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี แม้จะเผชิญกับข่าวร้ายจากการเมืองภายในประเทศ แต่นายโมดีก็ได้รับการปลอบใจด้วยข่าวดี ที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นจากต่างประเทศต่อการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจอินเดีย ซึ่งก็น่าจะเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนนักธุรกิจไทยที่กำลังมองตลาดอินเดียน่าจะให้ความสนใจ

ข่าวดีประการแรกคือ อินเดียได้รับการปรับอันดับความง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business)อย่างก้าวกระโดดจากอันดับที่ 142 ในรายงานสำหรับปี ค.ศ.2015 มาเป็นอันดับที่ 130 ในรายงานสำหรับปี ค.ศ. 2016

การจัดอันดับดังกล่าวดำเนินการโดยธนาคารโลกทุกปีจากบรรดา 189 ประเทศทั่วโลก ซึ่งก็ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะก้าวพรวดขึ้นมาถึง 12 อันดับภายใน 1 ปี ในขณะที่อันดับความง่ายในการทำธุรกิจของไทย ตกลงจากอันดับที่ 26 มาเป็น 49 ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนประเทศที่ยังครองอันดับหนึ่งในเรื่องความง่ายในการทำธุรกิจต่อไปคือ สิงคโปร์

ตั้งแต่ที่นายโมดีขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ตั้งเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาเรื่องกฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวย ความยากในการซื้อที่ดินหรือการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่าง ๆ นายโมดีได้ตั้งเป้าที่จะปรับปรุงอันดับความง่ายในการทำธุรกิจของอินเดียให้อยู่ในอันดับที่ 50 เป็นอย่างน้อย ภายในปี 2560 การปรับอันดับที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปีนี้ จึงเป็นทิศทางที่น่าพอใจ

อย่างไรก็ดี ภายหลังการเปิดเผยรายงานข้างต้น นายอรุณ เชฏลี รัฐมนตรีคลังของอินเดียก็ยังไม่ค่อยพอใจ โดยให้สัมภาษณ์ว่า การจัดอันดับยังมิได้สะท้อนภาพที่แท้จริงของอินเดีย เพราะยังเป็นการประเมินการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน 2 เมืองหลักคือ กรุงนิวเดลี และนครมุมไบ ทั้งๆ ที่รัฐบาลนายโมดีถือเป็นนโยบายหลักที่จะให้รัฐทุกรัฐปรับปรุงเรื่องกฎระเบียบและขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจทั่วประเทศ ให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลกลางของอินเดียก็กำลังผลักดันแก้กฎหมายที่ดิน และกฎหมายเพื่อนำเอาอัตราภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Taxes) ในอัตราเดียวกันมาใช้ทั่วประเทศด้วย ซึ่งควรส่งผลให้การปรับอันดับความง่ายในการทำธุรกิจในอินเดียดีขึ้นอีก

ข่าวดีประการที่สองคือ อินเดียได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีมูลค่าของชื่อเสียงประเทศ (Nation Brand) มากเป็นอันดับที่ 7 ของโลก จากจำนวน 100 ประเทศ โดยนิตยสาร BrandFinance

การประเมินและจัดอันดับมูลค่าดังกล่าว ดูจากความเข้มแข็งและมูลค่าแบรนด์อินเดียในช่วง 5 ปี ติดต่อกันว่า เป็นที่ยอมรับและมีมูลค่าเท่าไร ทั้งนี้ ประเทศที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดอันดับ 1-6 คือ สหรัฐ (มูลค่าแบรนด์ 19.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) รองลงมาคือ จีน เยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ส่วนอินเดียมาเป็นอันดับที่ 7 มีมูลค่าแบรนด์เท่ากับ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 32)

สำหรับสโลแกนที่ทำให้อินเดียเป็นที่รู้จักทั่วโลกก็คือ “ความเหลือเชื่อของอินเดีย (Incredible India)” ซึ่งมีขึ้นตั้งแต่ปี 2545 และโด่งดังเป็นปัจจัยดึงดูดให้คนต่างชาติเข้าไปเที่ยวอินเดียมากขึ้น

คนที่คิดสโลแกนนี้ก็คือนาย Amitabh Kant ที่ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงด้านการส่งเสริมการลงทุนของกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย

ข่าวดีประการที่สามคือ สถาบันมูดี้ส์ (Moody’s Investors Service) ปรับอันดับแนวโน้มความน่าเชื่อถือของภาคธนาคารอินเดีย จาก “ยังมีความเสี่ยง (NegativeOutlook)” มาเป็น “มีเสถียรภาพ (Stable Outlook)” เป็นการยืนยันว่า ภาคธนาคารของอินเดียมีความเข้มแข็งมากขึ้น หลังจากมีการลดภาระหนี้เสีย (NPLs) ในภาคการเงินลงต่ำกว่าร้อยละ 4.8 และการดำเนินนโยบายปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจที่ดีขึ้นมาตั้งแต่ปี 2554 นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียก็ยังประกาศที่จะอัดฉีดเงินจำนวนกว่า 7 แสนล้านรูปี (3.5 แสนล้านบาท) เพื่อสนับสนุนธนาคารและสถาบันการเงินของรัฐ ให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นในช่วง 4 ปีข้างหน้าด้วย

เศรษฐกิจอินเดียกำลังมีทิศทางที่สดใส เมื่อเร็วๆ นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้ประเมินแล้วว่า อินเดียจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลกแทนประเทศจีน (อัตราการขยายตัวของ GDP ร้อยละ 7.5)

อินเดียเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทย มีชนชั้นกลางที่จะเพิ่มขึ้นจาก 318 ล้านคน เป็น 523 ล้านคน ภายในปี 2568 (ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษา McKinsey Global Institute - MGI) ซึ่งจะกลายเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ที่มีความต้องการซื้อคล้ายคลึงกับบ้านเรา แน่นอนว่าอุปสรรคและความท้าทายก็ย่อมต้องมีบ้าง แต่หากจะรอให้คนอื่นเข้ามาชิมลางก่อน ผมก็ไม่รู้ว่าจะเหลืออะไรให้นักลงทุนไทยอีก