A Completely Transparent System

A Completely Transparent System

จากการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในเรื่องต่างๆ เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ผมได้ผ่านเรื่องราวที่น่าสนใจมามากมาย

ความน่าสนใจนั้นอาจจะมาจากบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือทั้งสองอย่าง

ในกระดาษลงเวลาช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้ของผมมีลูกความที่น่าสนใจรายหนึ่ง คือ กระทรวงยุติธรรมของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งได้ว่าจ้างให้ผมทำงานวิจัยในหัวข้อ Effectiveness of Enforcement of Contract under Thai Legal System

งานวิจัยในลักษณะนี้ต้องใช้ผู้ประกอบวิชาชีพที่มีประสบการณ์สูงในหัวข้อที่กำหนดเพราะนอกจากการรายงานสภาพที่เป็นอยู่จริงแล้ว ในงานวิจัยนั้นผู้วิจัยจะต้องเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางแก้ไข ปรับปรุง จากมุมมองของผู้ประกอบวิชาชีพด้วย ซึ่งกระทรวงของเกาหลีใต้ได้ติดต่อขอว่าจ้างผมจากการแนะนำของสำนักงานกฎหมายชั้นนำแห่งหนึ่งของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเคยทำงานร่วมกันกับผม

อันที่จริง ผมได้รับทำงานวิจัยในหัวข้อเดียวกันนี้มาครั้งหนึ่งแล้วในปี 2556 งานวิจัยในปีนี้จึงเป็นการ update งานวิจัยปี 2556 ว่า ระบบยุติธรรมของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ให้ดีขึ้นจากปี 2556 หรือไม่/อย่างไร
ประเทศเกาหลีใต้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง” เพราะมีจุดเริ่มต้นจากประเทศไทย แต่ประเทศเกาหลีใต้ได้พลิกผันวิกฤตครั้งนั้นให้เป็นโอกาสในการผลักดันการปรับปรุงและพัฒนาระบบต่างๆ ของประเทศ รวมทั้งระบบยุติธรรมควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วย จนสามารถพัฒนามาอยู่ในระดับต้นๆ ของโลกได้ World Bank จึงได้ขอให้ประเทศเกาหลีใต้เป็น sponsor ในการผลักดันให้ประเทศในภูมิภาคนี้ที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ พม่า ศรีลังกา ฯลฯ ทำการพัฒนาระบบต่างๆ ให้ดีขึ้นเพื่อให้อันดับความน่าสนใจใน “Ease of Doing Business” ซึ่งเป็นโครงการจัดอันดับประเทศของ World Bank สำหรับประเทศของตนสูงขึ้น

โดยในปี 2558 ประเทศเกาหลีในอันดับที่ 2 และประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 57 ของ 189 ประเทศทั่วโลกที่มีการจัดอันดับใน Ease of Doing Business ซึ่งการพัฒนาประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมเป็นหัวข้อสำคัญในการจัดอันดับ

ดังนั้น แม้กระทรวงยุติธรรมของประเทศเกาหลีใต้จะเป็นผู้ว่าจ้างให้ทำการวิจัย แต่ประเทศไทยจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ผมจึงสนุกกับการทำงานนี้เป็นอย่างยิ่ง

บทบาทนอกจากงานวิจัย คือ ผมจะต้องไปบรรยายสรุปผลงานวิจัยต่อที่ประชุมซึ่งจัดโดยกระทรวงยุติธรรมของประเทศเกาหลีใต้ที่กรุงโซลด้วย ซึ่งจะมีผู้แทนจากประเทศเกาหลีใต้ ประเทศไทย และประเทศอื่นที่อยู่ในโครงการและได้รับเชิญเข้าร่วมฟัง ในปีนี้มีงานวิจัยของประเทศศรีลังกามาบรรยายสรุปร่วมด้วย

ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์มากในความเห็นของผมคือ การจัดให้มีผู้แทนจากกระทรวงยุติธรรมของประเทศเกาหลีใต้และทนายความจากสำนักงานกฎหมายชั้นนำของประเทศเกาหลีใต้มาร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม จากมุมมองของวิวัฒนาการที่ผ่านมาของประเทศเกาหลีใต้ซึ่งทำให้ประเทศเกาหลีใต้ได้รับการจัดอันดับสูงมากโดย World Bank ในโครงการ Ease of Doing Business โดยในตอนหนึ่งได้มีการเล่าให้ที่ประชุมฟังถึงการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลยุติธรรมในประเทศเกาหลีใต้

ประเทศไทยเราก็มีการนำคำพิพากษาของศาลมาเปิดเผยแต่จำกัดเฉพาะคำพิพากษาของศาลฎีกา ส่วนคำพิพากษาชั้นต้น และศาลอุทธรณ์นั้นจะมีการสรุปไว้โดยย่อในคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้องนั้น แต่ไม่มีการนำคำพิพากษาของศาลทั้งสองนี้มาเปิดเผยให้บุคคลนอกคดีได้มีโอกาสศึกษา และหากคดีจบไปที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ โดยไม่มีการพิพากษาของศาลฎีกา คำพิพากษาของศาลนั้นก็จะไม่มีผู้ใดนอกจากตัวความในคดีได้รับรู้เลย และบุคคลที่ไม่ใช่คูความจะไปขอตรวจดูไม่ได้

ข้อมูลที่ทำให้ผมทึ่งมาก คือ ในปัจจุบันคำพิพากษาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาของศาลในประเทศเกาหลีใต้ (สำหรับคดีที่ยุติไปแล้ว) ไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกานั้นจะเปิดเผยให้ประชาชนโดยทั่วไปสามารถตรวจสอบได้ทาง website ของศาลและการขอตรวจดูด้วยตนเองโดยไม่ต้องเป็นคู่ความ โดยจะมีข้อจำกัดในเรื่องการนำลง website หรือการขอตรวจดูอยู่บ้างในกรณีที่อาจเกิดการละเมิดสิทธิส่วนตัวในบางคดี

ประเทศเกาหลีใต้เชื่อว่า ระบบยุติธรรมที่ดีต้องเป็น “A Completely Transparent System”