ทำอย่างไรเมื่อวัตถุสำคัญกว่าตัวตน

 ทำอย่างไรเมื่อวัตถุสำคัญกว่าตัวตน

อีกไม่นานนี้คนไทยก็จะได้ใช้ไอโฟนหกเอสกันแล้ว หลายๆ คนตั้งหน้าตั้งตารอคอยกันมานานพอสมควร

จนทำให้ผมอดที่จะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาเขียนไม่ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้ ผู้บริโภคบางกลุ่มไม่ได้ต้องการสินค้าเพียงเพราะคุณภาพ หรือลักษณะของสินค้า ที่ตอบสนองความต้องการหรือความจำเป็นของตนเท่านั้น หากแต่ต้องการสินค้าเพราะต้องการการยอมรับจากสังคม หรือต้องการมีตัวตนในสังคมอีกด้วย

ความจริงแล้วผมเป็นอาจารย์ที่ยืนสอนอยู่ตรงกลาง ระหว่างกลุ่มทั้งสองกลุ่ม คือกลุ่มผู้บริโภคและกลุ่มที่ผลิตสินค้า ในมุมมองของกลุ่มผู้ผลิตสินค้านั้น หากคุณทำให้ผู้ซื้อสินค้าใช้อารมณ์ในการเลือกซื้อสินค้าได้ นั่นถือได้ว่าคุณประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะไม่ว่าคู่แข่งจะพัฒนาคุณภาพให้ทัดเทียมคุณได้แค่ไหน ผู้บริโภคก็ยังอยากจะได้สินค้าของคุณอยู่ดี ถึงแม้สินค้าของคุณจะแพงกว่าก็ตาม การยอมรับในสังคมก็เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ผู้บริโภคนำมาใช้ตัดสินใจในการซื้อสินค้า โดยใช้อารมณ์เป็นตัวนำเหตุผล

ประเด็นที่กล่าวมานี้ผมจะไม่กังวลใดๆ เลย หากผู้บริโภคมีกำลังซื้อและรู้ตัวว่ากำลังซื้ออะไร เพื่ออะไรหรือมีวุฒิภาวะพอนั่นเอง แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น กลุ่มที่อยู่ในวัยรุ่นตอนต้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้ยังไม่มีกำลังที่ซื้อสินค้าได้ด้วยเงินของตัวเอง และอยากได้โดยไม่คิดถึงความจำเป็นเพียงพอ แต่อยากได้เพราะต้องการการยอมรับจากสังคมเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ลูกเพื่อนอยากได้โน้ตบุ๊คเครื่องใหม่ เพราะเพื่อนๆ ล้อ เป็นต้น

พ่อแม่หลายคนตกอยู่ในสภาพแบบนี้ โดยไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เมื่อลูกมาของสิ่งของที่แพงเกินตัว ซื้อให้-ไม่ซื้อ หรือมีวิธีไหนดี มีคนเคยมาถามผมเช่นกันว่า จะทำอย่างไรดี จริงๆ เรื่องพวกนี้คงไม่มีคำตอบใดที่ตายตัว แต่คำตอบที่ค่อนข้างตายตัวคือ ผู้ปกครองต้องสอนและทำความเข้าใจวัยรุ่นกลุ่มนี้ให้มากๆ ด้วย แต่เราก็น่าจะลองวิเคราะห์กันดูว่า ทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงอยากได้สินค้าเหล่านี้กันนักหนา เพราะเราอาจหาคำตอบ หรือวิธีแก้ไขที่ตรงจุดได้

เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่ง ก็อย่างที่ได้กล่าวไว้ อยากได้เพราะต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคม จริงๆ แล้วผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็เคยประสบเหตุการณ์เช่นนี้กันมาแล้ว คุณคงยังไม่ลืมเวลาที่คุณมีของใหม่ๆ ทันสมัยมาโรงเรียน แล้วเพื่อนๆ ต่างพูดถึงคุณ ต่างมารุมล้อมคุณ ส่วนคนที่ไม่มีของเจ๋งๆ มาให้เพื่อนได้รุมล้อมหรือลองเล่น ก็จะรู้สึกเหมือนไม่อยู่ในพวก คุณก็อาจจะเคยเป็น ซึ่งลูกคุณก็ไม่ต่างอะไรจากคุณนั่นแหละครับ พ่อแม่หลายคนในสมัยนี้ก็รู้สึกว่าทนเห็นลูกไม่เป็นที่ยอมรับไม่ได้ ทนเห็นลูกไม่เป็นศูนย์กลางที่น่าสนใจไม่ได้ จึงพยายามสรรหาข้าวของทั้งจากในและต่างประเทศ มาให้ลูกเอาไปอวดที่โรงเรียนกันใหญ่

แต่หากคุณทำเช่นนั้น ย่อมส่งผลตามมาครับ นั่นคือ หากลูกคุณคิดว่าตนเองจะต้องเป็นจุดสนใจตลอด ลูกคุณก็จะกลายเป็นเด็กที่ไม่ยอมรับฟังความเห็นผู้อื่น รับไม่ได้หากผู้อื่นเด่นกว่าตน และต้องสรรหาสิ่งใหม่ๆมาเพื่อดึงความสนใจตลอดเวลา หากไม่ได้ก็จะไม่มีความมั่นใจ นั่นคือ การซื้อของเพื่อให้ลูกได้เป็นที่ยอมรับ หวังจะสร้างความมั่นใจให้กับลูก กลับกลายเป็นการทำลายความมั่นใจในตัวของลูกเอง และเอาความมั่นใจของลูกไปใส่ไว้ตรงสิ่งของเครื่องใช้ไปเสียอย่างนั้น

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว พ่อแม่ควรทำอย่างไร คุณจะซื้อหรือไม่ซื้ออันนี้ต้องบอกเลยครับว่า แล้วแต่กำลังของผู้ปกครอง แต่ซื้อให้โดยไม่พูดไม่สอนอะไรเลยคงจะไม่ดีแน่ สิ่งที่ผู้ปกครองต้องทำให้ได้คือ สร้างความมั่นใจให้กับเด็ก โดยให้เค้ามั่นใจในตัวของเขาเอง มากกว่าสิ่งของที่เขาใช้ การสอนเรื่องนี้ถามว่ายากไหม จริงๆ ก็ไม่ยากนะครับ แค่คุณทำให้ดูแค่นั้น การสอนลูกของคุณนั้น ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม การทำให้เขาดูเป็นสิ่งที่ดีที่สุดครับ ดีกว่าการพูดๆ สอนๆ แต่คุณไม่ทำเองหลายสิบเท่าครับ

ในกรณีนี้ หากคุณแสดงความมั่นใจในตัวเองให้ลูกเห็น เพราะคุณมีความสามารถ ไม่ใช่เพราะทรัพย์สินเงินทองที่คุณมี ลูกคุณก็จะเห็นเช่นนั้น บางบ้านชอบพูดกับลูกว่า "ดีนะที่เรามีเงินเขาจึงดีกับเรา” หรือ “ดีนะที่เราขับรถเบนซ์เขาเลยให้เราจอด” หากคุณปลูกฝังลูกแบบนี้ แน่นอนว่าลูกคุณย่อมเห็นความสำคัญของวัตถุมากกว่าตัวบุคคลแน่นอน

จริงๆ เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่ถกกันได้ยาวเลย โดยเฉพาะในกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่น ผมอยากฟังความคิดเห็นของท่านที่มีต่อประเด็นนี้ด้วยครับ ยิ่งหากท่านใดมีความคิดดีๆ ที่อยากแนะนำพ่อแม่วัยรุ่น ลองเขียนมาหาผมได้เลยนะครับที่ [email protected] เผื่อผมจะได้นำประสบการณ์ดีๆ เหล่านั้นมาแชร์ให้กับผู้อ่านท่านอื่นๆ ได้อ่านด้วยครับ

------------------

ชีวิน สุนสะธรรม