เบื้องหลัง ‘คงดอกเบี้ย’ 7 ต่อ 0 กนง.ห่วงอะไรลองฟัง!

เบื้องหลัง ‘คงดอกเบี้ย’ 7 ต่อ 0 กนง.ห่วงอะไรลองฟัง!

มติคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุด (10 มิ.ย.) ที่ออกมาให้ “คง” อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%

 ไม่น่าจะเหนือความคาดหมายของตลาดการเงินมากนัก แต่ที่ดูจะ เซอร์ไพร์ส ใครหลายคนหน่อย เห็นจะเป็นมติที่เป็น เอกฉันท์” 7 ต่อ 0 เสียง

 

ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น หลายคนคาดการณ์ไว้บ้างแล้วว่า ครั้งนี้ กนง. น่าจะตัดสินใจ “คง” อัตราดอกเบี้ยไว้ที่เดิมก่อน เพื่อรอดูประสิทธิผลของการปรับลดดอกเบี้ยในช่วง 2 ครั้งที่ผ่านมา เพียงแต่ไม่มีใครคาดคิดว่า “มติ” จะออกมา “เป็นเอกฉันท์” เช่นนี้

 

ไม่เฉพาะแค่ตลาดเงินที่แปลกใจกับมติดังกล่าว แม้แต่ บอร์ดกนง. บางท่านเอง ก็เซอร์ไพร์ส กับคะแนนเสียงที่ออกมาด้วย ..ด้วยเหตุนี้ทำให้ กนง. ต้อง สื่อสาร กับ สาธารณชน อย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ ถูกตีความไปว่า กนง. กลับมาเน้นเรื่องเสถียรภาพการเงิน (Hawkish) จนละเลยเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจ (Dovish) ไป

 

ทีมข่าวเศรษฐกิจ “เครือเนชั่น” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ซึ่งได้สอบถามถึงประเด็นที่ว่านี้ .. “ดร.ประสาร” ยอมรับว่า มติที่ออกมา 7 ต่อ 0 ทำให้ กนง. มีความเป็นห่วงเช่นกัน เพราะกลัวว่า “ตลาด” จะตีความ ว่า กนง. กลับไปเป็น Hawkish

 

วันนั้นเราถกเถียงกันเยอะ เริ่มมีประเด็นเรื่องผลของการลดดอกเบี้ยที่ปรับลงไป 2 ครั้ง ผมเองก็เดาว่าเที่ยวนี้ไม่น่าจะลด เพราะลดมาแล้ว 2 ครั้ง และก็ลงมาต่ำที่ 1.5% แต่ถ้ามติออกมา 7 ต่อ 0 แบบนี้ คนดูตัวเลขก็อาจตีความว่า เรากลับมาเป็น Hawkish ด้วยเหตุนี้ทำให้เราต้องใส่เนื้อหาในแถลงการณ์ที่เป็น Dovish เพื่อมาเคาเตอร์กับ 7 ต่อ 0” ดร.ประสารบอกกับทีมข่าวเครือเนชั่น

 

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของแถลงการณ์ในบรรทัดสุดท้ายที่ระบุว่า “กนง.จะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินของไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมใช้ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy space) ที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงิน”

 

...ประโยคนี้ ตีความ ง่ายๆ คือ กนง. พร้อมลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมถ้าเห็นว่าสถานการณ์มีความจำเป็น แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องดูแลเรื่องเสถียรภาพด้วย

 

ถามว่า กนง. ห่วงอะไร? ..ทำไมจึงไม่ ลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ ..ดร.ประสาร บอกว่า ที่ห่วง คือ พฤติกรรม “Search for yield” หรือการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น จากภาวะดอกเบี้ยต่ำ

 

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ บอกด้วยว่า ช่วงที่ดอกเบี้ยเงินออมต่ำ ทำให้คนเริ่มแสวงหาสิ่งที่สามารถให้ผลตอบแทนได้สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ตลาดหุ้นไทยมีค่าพี/อี(ราคาต่อกำไรต่อหุ้น) ร่วม 20 เท่า โดยเฉพาะหุ้นในตลาดเอ็มเอไอที่บางตัวราคาพุ่งขึ้นไปถึง 70-80 เท่า

 

ดร.ประสาร ยังบอกด้วยว่า พวกนี้เรามอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด คอยเชิญหน่วยงานที่ดูแลในแต่ละด้านมาสอบเช็ค ทางตลาดหลักทรัพย์เองก็มีรายงานข้อมูลมาเป็นระยะๆ ที่ผ่านมาทางตลาดหลักทรัพย์ก็พยายามออกกฎเกณฑ์มาดูแล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือด้านแมคโครพรูเดนท์เชี่ยว

 

มีคนถามว่า แบงก์ชาติ กลัวอะไร ทำไมไม่ลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง ก็เพราะยังมีเรื่องแบบนี้อยู่ในใจเรา ทำให้เราไม่กล้าไปลดดอกเบี้ยลงเยอะๆดร.ประสาร กล่าวอย่างเปิดใจ

 

ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องสะท้อนที่ชัดเจนว่า ..การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ยังมีความท้าทายอยู่มา ผู้ดำเนินนโยบายคงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ระหว่าง การเติบโตกับ เสถียรภาพเพราะหากเกิดข้อผิดพลาด วิกฤตอาจมาเยือนเราอีกรอบได้!