ประเทศไทยกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ (4)

ประเทศไทยกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ (4)

บทความฉบับที่แล้วเราได้กล่าวถึงการก่อให้เกิดสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ตลอดจนทรัพย์สินที่สามารถนำมาเป็นหลักประกัน

ภายใต้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกันไปแล้ว วันนี้เราจะมาต่อกันด้วยเรื่องของแบบสัญญาหลักประกันและการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันนะคะ


แบบของสัญญาหลักประกัน: สัญญาหลักประกันทางธุรกิจไม่ได้กำหนดแบบมาตรฐานของสัญญาเป็นการเฉพาะ แต่ตามมาตรา 18 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดให้ต้องมีข้อความดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย คือ สัญญาหลักประกันทางธุรกิจต้องระบุวันและเวลาที่จดทะเบียน ชื่อที่อยู่ของลูกหนี้ ผู้ให้หลักประกัน ผู้รับหลักประกัน ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้บังคับหลักประกัน (รวมถึงอัตราค่าตอบแทนการเป็นผู้บังคับหลักประกัน) หนี้ที่กำหนดให้มีการประกันการชำระ รายละเอียดทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน ข้อความที่ระบุว่าผู้ให้หลักประกันนำเอาทรัพย์สินที่ระบุในรายการจดทะเบียนมาเป็นหลักประกันเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จำนวนเงินสูงสุดที่ตกลงใช้ทรัพย์สินเป็นประกัน เหตุบังคับหลักประกัน (ซึ่งต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน) และข้อกำหนดอื่น ๆ ที่เจ้าพนักงานทะเบียนอาจประกาศกำหนดเป็นครั้งคราว


การจดทะเบียน: ตามมาตรา 13 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดให้สัญญาหลักประกันทางธุรกิจต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานทะเบียน (ซึ่งในบทความตอนที่ 2 เราศึกษากันไปแล้วว่า เจ้าพนักงานทะเบียนตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจคือ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) โดยสำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจจะตั้งขึ้นในกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (ปัจจุบันยังไม่มีการจัดตั้งสำนักงานดังกล่าว) พูดกันแบบง่าย ๆ คือ ตกลงกันแบบปากเปล่าไม่ได้ และแค่ทำเป็นหนังสืออย่างเดียวไม่พอ ต้องนำสัญญาหลักประกันไปจดทะเบียนด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้ เช่น ถ้ายังไม่ได้มีการจดทะเบียน ผู้รับหลักประกันจะจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันแล้วเอามาชำระหนี้ของตนแต่เพียงผู้เดียวก่อนเจ้าหนี้รายอื่นไม่ได้ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอกให้สามารถตรวจสอบได้จากทะเบียนหลักประกัน ซึ่งตามมาตรา 14 ของร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจได้


ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ หลักประกันที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่มีทะเบียนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะนำเอาตัวทรัพย์สินดังกล่าวไปจดทะเบียนไว้กับนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น หากเป็นที่ดินต้องนำเอาโฉนดที่ดินไปจดทะเบียนจำนองกับสำนักงานที่ดิน หรือถ้าเป็นเครื่องจักรก็ต้องนำเอาทะเบียนเครื่องจักรที่จดทะเบียนไว้กับสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรไปจดทะเบียนจำนอง แต่หลักประกันตามกฎหมายธุรกิจจะต่างกัน เนื่องจากไม่ได้มีการนำเอาทะเบียนทรัพย์สินไปจดทะเบียนเป็นหลักประกันหนี้ แต่นำเอาสัญญาหลักประกันที่คู่สัญญาทำขึ้นไปจดทะเบียน ดังนั้น หากมีการนำเอาที่ดินหรือเครื่องจักรมาเป็นหลักประกันภายใต้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ แทนที่จะเอาโฉนดที่ดินหรือทะเบียนเครื่องจักรไปจดทะเบียนจำนองกับนายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินประเภทนั้น ๆ ก็นำเอาสัญญาหลักประกันทางธุรกิจดังกล่าวไปจดทะเบียนกับเจ้าพนักงานทะเบียนแทน


นอกจากนั้น ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดให้เจ้าพนักงานทะเบียนมีหน้าที่ต้องทำหนังสือแจ้งไปยังนายทะเบียนทรัพย์สินตามกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้นายทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องจดแจ้งลงในทะเบียนทรัพย์สินนั้น ๆ ทั้งนี้ทรัพย์สินที่มีทะเบียน เช่น โฉนดที่ดิน ผู้เขียนขอตั้งเป็นข้อสังเกตว่าจำเป็นต้องนำโฉนดที่ดิน (ฉบับผู้ถือ) ส่งให้นายทะเบียนเพื่อจดแจ้งลงในโฉนดฉบับผู้ถือด้วยหรือไม่ ส่วนทรัพย์สินบางประเภท เช่น เครื่องจักรอาจมีการตั้งคำถามว่าจะต้องนำไปจดทะเบียนกับนายทะเบียนเครื่องจักรก่อนนำมาเป็นทรัพย์สินตามสัญญาหลักประกันทางธุรกิจหรือไม่ หรือจำเป็นต้องมีการแจ้งนายทะเบียนเครื่องจักรในการนำเครื่องจักรมาเป็นหลักประกันตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจหรือไม่ (เนื่องจากกฎหมายจดทะเบียนเครื่องจักรไม่ได้กำหนดให้ต้องนำเครื่องจักรมาจดทะเบียน เฉพาะกรณีที่เจ้าของเครื่องจักรประสงค์จะนำเครื่องจักรไปจำนองเท่านั้น จึงจะนำเครื่องจักรไปจดทะเบียนกับนายทะเบียนก่อน) กรณีดังกล่าวนี้ผู้เขียนเห็นว่า ตามร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจไม่ได้กำหนดให้ต้องนำเครื่องจักรไปจดทะเบียนตามกฎหมายจดทะเบียนเครื่องจักรก่อน ดังนั้น หากมีการนำเครื่องจักรมาเป็นหลักประกันตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจก่อนที่เครื่องจักรจะมีทะเบียน ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องนำเครื่องจักรไปจดทะเบียนก่อน และเจ้าพนักงานทะเบียนก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งต่อนายทะเบียนเครื่องจักร เว้นแต่เครื่องจักรนั้น ๆ ได้มีการจดทะเบียนเครื่องจักรไว้แล้ว นายทะเบียนก็ต้องทำหนังสือแจ้งไปยังนายทะเบียนเครื่องจักรด้วย


ผู้มีหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียน: ร่างกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจวางหลักการไว้ไม่เหมือนกับการจดทะเบียนหลักประกันในทรัพย์สินตามกฎหมายอื่นที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต้องยื่นคำขอจดทะเบียน แต่สำหรับการจดทะเบียนหลักประกันตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจกำหนดให้การยื่นคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกัน รวมถึงการแก้ไขรายการจดทะเบียน เป็นหน้าที่ของผู้รับหลักประกันจะต้องเป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนสัญญา (โดยความยินยอมของผู้ให้หลักประกัน) แต่หากมีการตกลงเลิกสัญญาหลักประกัน หรือเมื่อหนี้ระงับสิ้นไป (โดยไม่ใช่เหตุอันเกิดจากอายุความ) หรือเมื่อต้องการไถ่ถอนทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกัน หรือเมื่อมีการบังคับหลักประกัน หรือเมื่อหลักประกันหลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับหลักประกันกำหนดให้ผู้ให้หลักประกัน (โดยความยินยอมของผู้รับหลักประกัน) เป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนเลิกสัญญาหลักประกัน


ผลของการจดทะเบียน: ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า เมื่อมีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันแล้ว สิทธิของเจ้าหนี้ในหลักประกันนั้นย่อมสามารถนำมาใช้ยันกับบุคคลภายนอกได้ และมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันก่อนเจ้าหนี้รายอื่น และมีสถานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามกฎหมายล้มละลาย (ตามมาตรา 17 วรรค