กฎหมายกับการท่องเที่ยวของผู้สูงอายุ

กฎหมายกับการท่องเที่ยวของผู้สูงอายุ

ปัจจุบัน หากท่านได้มีโอกาสเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ จะเห็นได้ว่านักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป

นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ สืบเนื่องจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว จากการศึกษาพบว่านักท่องเที่ยวผู้สูงอายุทุกชาติส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง มีการศึกษาระดับปริญญา มีงานทำหลังเกษียณและมีรายได้จากหลายแหล่ง ในขณะที่นักท่องเที่ยวผู้สูงอายุชาวไทยชอบเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ผู้สูงอายุชาวจีนและตะวันตกกลับชอบเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่วนลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวเป็นไปเพื่อการพักผ่อน ได้ชมธรรมชาติ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรม โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวสูงวัยชาวไทยที่ชื่นชอบกับการท่องเที่ยวที่มีการแสดงทางวัฒนธรรม การชมโบราณสถาน การไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ การชมวิถีชีวิต การซื้อสินค้าพื้นเมือง และการได้กินอาหารพื้นเมือง


ความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของตลาดการท่องเที่ยวดังกล่าว ประกอบกับสถานการณ์การท่องเที่ยวของโลก (Global Tourism Landscape) และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่งผลให้การปรับตัวในขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยต้องก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศอันเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลที่ต้องกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ชัดเจนตรงทิศทาง อีกทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนต้องตระหนักและถือปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับเพื่อเป็นหลักประกันความเชื่อมั่นในธุรกิจการท่องเที่ยวให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้


ทั้งนี้ กฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยวของผู้สูงอายุ ได้แก่ พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ที่บัญญัติขึ้นเพื่อการคุ้มครอง ส่งเสริม และสนับสนุนสิทธิและประโยชน์ของผู้สูงอายุ เช่น สิทธิที่จะได้รับการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขที่สะดวกและรวดเร็วเป็นกรณีพิเศษ สิทธิที่จะได้รับความสะดวกและความปลอดภัยโดยตรงในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ หรือบริการสาธารณะอื่น สิทธิที่จะได้รับการยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ เช่น พิพิธภัณฑ์ อุทยานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ สวนสัตว์ เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีพระราชบัญญัตินี้อยู่ การปฏิบัติต่อผู้สูงอายุของผู้ประกอบธุรกิจจึงเป็นการให้บริการไปตามความต้องการโดยธรรมชาติของนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุมากกว่าเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ พบว่ากฎหมายเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุยังมีสภาพปัญหาในทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยวของผู้สูงอายุหลายประการ ได้แก่


1. ปัญหาด้านมาตรฐานความสะดวกปลอดภัยของแหล่งท่องเที่ยว พบว่าแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งยังเป็นปัญหาต่อความสะดวกปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ เช่น ขั้นบันไดขึ้นสู่ที่สูงเพื่อไปนมัสการหรือเที่ยวชมวัด โบราณสถาน หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หลายแห่งยังก่อสร้างไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย ไม่มีราวบันได ทางเดินขึ้นน้ำตกหรือที่ลาดชันไม่เหมาะสมกับผู้สูงอายุซึ่งพบว่าจำนวนมากเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิต โรคหัวใจ แต่ไม่ได้จัดให้มีป้ายเตือน หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นบ่อน้ำพุร้อนให้นักท่องเที่ยวลงไปแช่ อาบ ได้ ไม่จัดให้มีป้ายแสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่เป็นสัดส่วนปริมาณของแร่ธาตุในน้ำ ข้อห้าม ข้อควรปฏิบัติ รวมทั้งข้อมูลทางการแพทย์ว่าเป็นหรือไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักท่องเที่ยว


2. ปัญหาการเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว พบว่าสภาพยานพาหนะเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว เช่น รถบัสและรถตู้นำเที่ยวยังไม่ได้ออกแบบที่นั่งให้เหมาะสมกับสุขภาพและความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ มีการใช้รถยนต์ผิดประเภทที่มิได้จดทะเบียนเพื่อการนำเที่ยว ขาดอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการช่วยเหลือผู้สูงอายุเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ พาหนะในท้องถิ่นเพื่อการเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยว เช่น รถสามล้อ รถจักรยานยนต์รับจ้าง มักมีสภาพรถเก่าอยู่ในสภาพที่น่าจะเป็นอันตราย มีการเรียกเก็บค่าโดยสารแพงเกินควร อีกทั้งสภาพถนนเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่งขาดการซ่อมบำรุงให้เกิดความสะดวกปลอดภัย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น สภาพถนนสายเอเชียช่วงผ่านจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ต้องใช้เดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในภาคใต้ พบว่าผิวจราจรชำรุด ขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อเพราะขาดการซ่อมบำรุงมาเป็นเวลานานทำให้การเดินทางเกิดความยากลำบากและอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูงอายุได้


3. ปัญหาด้านอารยสถาปัตย์หรือสิ่งปลูกสร้างที่เหมาะสมรองรับปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ แม้ว่าจะมีการออกกฎกระทรวงกำหนดให้มีการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ แต่พบว่าห้องน้ำและสุขภัณฑ์ภายในตามแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งยังเป็นแบบทั่วไปไม่ได้จัดแยกไว้เป็นพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ จึงยังเป็นอุปสรรคสำหรับการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อยู่


4. การปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ของผู้ประกอบการที่เป็นร้านจำหน่ายอาหารตามแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากยังมีปัญหาด้านสุขอนามัยและความสะอาด ขาดการควบคุมกำกับจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการจำหน่ายอาหารตามแหล่งท่องเที่ยวในลักษณะของหาบเร่ แผงลอย ซึ่งการควบคุมตรวจสอบมาตรฐานและความปลอดภัยยังคงทำได้ค่อนข้างยาก


แม้ว่าพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 จะเป็นกฎหมายเฉพาะเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุซึ่งอาจนำมาบูรณาการใช้บังคับกับการเดินทางท่องเที่ยวของผู้สูงอายุได้ในบางประการ แต่ก็ยังขาดสภาพบังคับแก่ผู้เกี่ยวข้องที่เพิกเฉยละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้น มาตรการสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อการเดินทางท่องเที่ยวของผู้สูงอายุที่รัฐบาลทำได้ง่ายคือการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยวของผู้สูงอายุให้ชัดเจนมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ รวมทั้งการออกกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานด้านความสะดวกปลอดภัยในปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยวของผู้สูงอายุ สำหรับให้ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติภายใต้หลักการและแนวคิดที่ว่าการเดินทางท่องเที่ยวเป็นสวัสดิการอย่างหนึ่งที่รัฐจัดให้เพื่อคืนความสุขให้แก่ผู้สูงอายุ