กรุงเทพฯ...จมแน่?

กรุงเทพฯ...จมแน่?

ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร รายงานสถานการณ์ฝนตกในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 11.30 น.

         เมื่อวานนี้ (24) ฝนอ่อนถึงปานกลาง หลายพื้นที่

          สังคมโซเชียล ได้เผยแพร่สภาพพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ทำให้ถนนหลายสายน้ำท่วมขังสูง รถยนต์สัญจรด้วยความลำบาก อาทิ ถนนอโศกมนตรี ถนนมิตรไมตรี บริเวณสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดน ถนนเพชรบุรี แยกพร้อมพงษ์ และถนนสีลม ท็อปซูเปอร์มาร์เก็ต ในห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สุขุมวิท มีน้ำทะลักเข้ามา

          กังวาฬ ดีสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ เตือนประชาชนว่าตั้งแต่วันที่ 24-27 มี.ค. พื้นที่กรุงเทพฯ จะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ประชาชนต้องเตรียมรับมือ

          ลักษณะทางกายภาพของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กอปรกับอยู่ใกล้ทะเล บางช่วงเวลามีน้ำทะเลหนุน ที่สำคัญกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีร่องมรสุมพาดผ่าน ทำให้นับตั้งแต่ตั้งเมืองบางกอก หรือกรุงเทพมหานคร ขึ้นเป็นเมืองหลวง เมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว กรุงเทพฯ ได้ผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมมาหลายครั้งหลายครา

          เหตุน้ำท่วมในอดีตกรุงเทพฯ นั้น เป็นเมืองที่แม่น้ำลำคลองมากมาย วิถีชีวิตผู้คนผูกพันกับสายน้ำทั้งการเกษตร การสัญจร ใช้เรือในการสัญจรไปมา และติดต่อค้าขายทางเรือ จนได้รับการเรียกขานกันว่าเป็น "เวนิชตะวันออก"

          หนังสือ "เหตุการณ์น้ำท่วม พ.ศ.2485" ของ "กระทรวงมหาดไทย" ระบุสาเหตุที่กรุงเทพฯ ต้องเจอปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะสภาพภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายอ่าวไทย

          เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งสำคัญในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อดีตตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน เกิดขึ้นหลายครั้ง

          รัชกาลที่ 1 พ.ศ.2328 ระดับน้ำที่ท้องสนามหลวง สูง 8 ศอก 10 นิ้ว ปริมาณน้ำภายในพระบรมมหาราชวัง พื้นท้องพระโรงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ได้ถึง 4 ศอก 8 นิ้ว

          รัชกาลที่ 2 วันที่ 28 ต.ค.2362 น้ำท่วมหนักส่งผลให้เกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง

          รัชกาลที่ 3 วันที่ 4 พ.ย.2374 น้ำท่วมทั่วพระนคร มากกว่าปี 2328

          รัชกาลที่ 4 เกิดน้ำท่วมใหญ่ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 25 พ.ย. 2402 ครั้งที่ 2 วันที่ 1 พ.ย. 2410

          รัชกาลที่ 5 วันที่ 13 พ.ย. 2422 น้ำท่วมสูงถึงขอบประตูพิมานไชยศรี (ประตูทิศเหนือ พระบรมมหาราชวัง)

          รัชกาลที่ 6 พ.ศ.2460 น้ำท่วมลานพระบรมรูปทรงม้า จนมีการจัดแข่งเรือขึ้น

          รัชกาลที่ 8 น้ำท่วมกรุงเทพฯ นานถึง 2 เดือน ปี 2485 ตั้งแต่ปลายเดือนก.ย.น้ำท่วมลานพระบรมรูปทรงม้า สูง 1.50 ม.นานถึง 3 เดือน รวมถึงพื้นที่สำคัญๆ อีกหลายแห่ง อาทิเช่น รถไฟหัวลำโพง เยาวราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขาทอง ราชดำเนิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พระที่นั่งอนันตสมาคม นับเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

          พ.ศ.2518 พายุดีเปรสชันได้พาดผ่านตอนบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเหตุให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯ

          พ.ศ.2521 พายุ "เบส" และ "คิท" พาดผ่านพื้นที่ตอนบนลุ่มน้ำ ทำให้ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯถูกน้ำท่วมไปโดยปริยาย

          พ.ศ.2523 น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ทวีระดับความสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนวัดระดับน้ำที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ สูงกว่าน้ำทะเล 2 เมตร ประกอบกับมีฝนตกในกรุงเทพฯ 4 วัน 4 คืน

          พ.ศ.2526 พายุหลายลูกพัดผ่านเข้าภาคเหนือ และภาคกลางช่วงก.ย. - ต.ค.ปริมาณฝนตลอดทั้งปี 2,119 มม. ส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล น้ำท่วมเป็นเวลานานถึง 4 เดือน

          พ.ศ.2529 ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันที่กรุงเทพฯ น้ำท่วมในหลายพื้นที่

          พ.ศ.2533 เดือนต.ค. พายุโซนร้อน "อีรา" และ "โลล่า" พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง มีฝนตกหนักที่กรุงเทพฯ 617 มม.เกิดน้ำท่วมขังสูง 30-60 ซม.หลายพื้นที่

          พ.ศ.2537 เดือนพ.ค. กรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำฝน 200 มม. จนเรียกว่าเป็น "ฝนพันปี" ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันที่ ถ.จันทร์ เขตยานนาวา ถ.พหลโยธิน สวนจตุจักร ถ.ลาดพร้าว ถ.สุขุมวิท 

          พ.ศ.2538 พายุโอลิส และพายุอีกหลายลูก ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 27 ต.ค. สูงถึง 2.27 ม.ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

          พ.ศ.2539 ช่วง พ.ย.ระดับน้ำสูงล้นแนวป้องกันน้ำท่วมเข้าท่วม ถ.จรัญสนิทวงศ์ ถ.เจริญนคร ฝั่งพระนคร ถ.สามเสน ถ.พระอาทิตย์ ซึ่งน้ำได้ท่วมขังกินระยะเวลานาน 2 เดือน

          พ.ศ.2549 อุทกภัยใน 47 จังหวัด ทั่วประเทศ น้ำไหลเข้าท่วมขังที่กรุงเทพฯ สูงเกือบ 1 ม. นานหลายสัปดาห์

          พ.ศ.2554 มหาอุทกภัย ส่งผลกระทบต่อบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 12.8 ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท

          กระทั่งล่าสุดเมื่อวานนี้เป็นลางบอกเหตุ ว่าเราต้องเตรียมรับมือกับสภาพน้ำท่วมได้แล้ว