ยุติความล่าช้าในการขายทอดตลาด? - บทสรุป

ยุติความล่าช้าในการขายทอดตลาด? - บทสรุป

เมื่อประมาณต้นเดือนธ.ค.2557 ผู้เขียนได้นำเสนอประเด็นการแก้ไขกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข

ในการขายทอดตลาด พ.ศ. 2554 (กฎกระทรวงปี 2554) โดยให้ใช้บังคับตามกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาด (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557 (กฎกระทรวงปี 2557) ซึ่งตามกฎกระทรวงปี 2557 ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดปัญหาในการกำหนดหลักเกณฑ์การวางหลักประกันก่อนเข้าเสนอราคาไม่เหมาะสมตามกฎกระทรวงปี 2554 ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการขายทอดตลาด


ในบทความฉบับก่อนผู้เขียนได้นำเสนอหลักเกณฑ์สำคัญที่มีการแก้ไขคือตามข้อ 16 เรื่อง เงื่อนไขในการวางหลักประกัน เพื่อต้องการได้ผู้เข้าเสนอราคาที่มีความประสงค์ในการที่จะซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดจริงโดยการกำหนดหลักประกันที่มีมูลค่าสูงขึ้นตามราคาทรัพย์ที่จะมีการขายทอดตลาด ซึ่งผลดีอาจพิจารณาได้ว่าทำให้ได้ผู้ที่ต้องการซื้อทรัพย์สินจริงและมีเงินวางมัดจำในจำนวนที่เหมาะสมกับราคาทรัพย์สิน เนื่องจากในท้ายที่สุดแล้วเมื่อผู้เสนอราคาสูงสุดก็ให้ถือว่าหลักประกันนั้นเป็นมัดจำและเป็นการชำระราคาบางส่วนของผู้เสนอซื้อราคาสูงสุด ซึ่งข้อที่อาจพึงระวังคือ อาจจะเป็นการตัดจำนวนผู้ที่ต้องการซื้อทรัพย์ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะขาดสภาพคล่องในการหาหลักประกัน แต่อาจจะต้องการใช้ทรัพย์สินที่ซื้อจากการขายทอดตลาดในการขอสินเชื่อจากธนาคาร อาทิเช่น หากทรัพย์สินราคา 110 ล้านบาท ตามกฎกระทรวงปี 2554 ก็ต้องวางประกันในจำนวนสูงสุดคือ ไม่เกิน 3 ล้านบาท แต่ในขณะเดียวกันตามกฎกระทรวงปี 2557 จะต้องวางประกันถึง 10 ล้านบาท แต่ในขณะเดียวกัน อาจมองได้ว่า การเรียกประกันจำนวนสูงจะเป็นการแก้ปัญหาการที่ผู้เสนอราคาสูงสุดไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ จนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องจัดให้มีการขายทอดตลาดครั้งใหม่ต่อไป ซึ่งทำให้เกิดความล่าช้าและเสียค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการขายทอดตลาดครั้งต่อไปโดยไม่จำเป็น


ในบทความฉบับนี้ผู้เขียนขอนำเสนอประเด็นอื่นๆ ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนอกจากเรื่องการวางหลักประกันก่อนเข้าประมูลแล้วใน 2 ประเด็น คือ มาตรการบังคับสำหรับผู้เสนอราคาสูงสุดที่ไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ เพื่อเป็นการแก้ไขประเด็นที่ผู้เสนอราคาสูงสุดที่ไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือซึ่งอาจจะเป็นมาตรการบังคับที่ยังมีความยืดหยุ่นเกินไปตามกฎกระทรวงปี 2554 ดังนั้นตามกฎกระทรวงปี 2557 จึงได้มีการแก้ไขเพื่อขจัดอุปสรรคและเพิ่มมาตรการบังคับผู้เสนอราคาสูงสุดไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ ตามข้อ 23 และ 24 ดังนี้


1. ตามข้อ 23 วรรค 3 ของกฎกระทรวงปี 2557 ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญคือ


“เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจอนุญาตให้เลื่อนการชำระราคาส่วนที่เหลือได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดแต่ไม่เกินสามเดือนนับแต่วันที่ต้องชำระราคาส่วนที่เหลือ...”


โดยการแก้ไขดังกล่าวนี้จากเดิมที่กฎกระทรวงปี 2554 กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอาจอนุญาตให้เลื่อนการชำระราคาส่วนที่เหลือตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนดแต่ไม่เกินสองครั้งๆ ละไม่เกินสามเดือน ซึ่งผลจากการแก้ไขทำให้เห็นว่านอกจากกฎกระทรวงปี 2557 ได้มีความพยายามเร่งรัดให้ผู้เสนอราคาสูงสุดชำระราคาส่วนที่เหลือให้เร็วขึ้น นอกเหนือจากต้องวางเงินประกันจำนวนสูงมากขึ้นตามที่มีการแก้ไขตามข้อ 16 ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้เราอาจมีความมั่นใจได้ว่า กระบวนการขายทอดตลาดอาจจะได้ผลสำเร็จและยุติที่เร็วขึ้นอันเนื่องมาจากผู้ที่จะเข้าร่วมการขายทอดตลาด นอกจากต้องวางหลักประกันที่สูงขึ้นแล้วยังต้องชำระเงินส่วนที่เหลือเร็วขึ้นอีกด้วย


2. ตามข้อ 24 วรรค 2 ของกฎกระทรวงปี 2557 ได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญคือ


“ในการขายทอดตลาดครั้งใหม่ หากราคาสูงสุดซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดครั้งใหม่มีจำนวนต่ำกว่าราคาสูงสุดเดิมเสนอไว้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้ผู้เสนอราคาสูงสุดเดิมชำระราคาส่วนต่างที่ขาดอยู่ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หากไม่ชำระภายในกำหนด ต้องชำระค่าปรับของราคาต่างที่ขาดอยู่ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี”


การแก้ไขในประเด็นดังกล่าวนี้เนื่องมาจากหลักเกณฑ์เดิมที่ยังคงใช้บังคับตามกฎกระทรวงปี 2554 กล่าวคือ เมื่อผู้เสนอราคาสูงสุดไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือตามระยะเวลาที่กำหนดตามข้อ 23 ข้างต้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้นำทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาดใหม่และให้ริบหลักประกันที่ผู้เสนอราคาสูงสุดนั้นวางไว้ ดังนั้น ตามกฎเกณฑ์ใหม่ในข้อ 24 วรรค 2 นี้ จึงให้ผู้เสนอราคาสูงสุดเดิมต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดครั้งใหม่ด้วย (ซึ่งตามกฎกระทรวงปี 2554 ไม่ได้กำหนดความรับผิดในค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดเดิมแต่อย่างไร) และความรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และหากไม่ชำระภายในกำหนด ต้องชำระค่าปรับของราคาส่วนต่างที่ขาดอยู่ในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี (ตามกฎกระทรวงปี 2554 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกให้ผู้เสนอราคาสูงสุดเดิมชำระค่าปรับเนื่องจากการไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีภายในสามเดือนนับแต่วันที่ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดครั้งใหม่นั้นชำระราคาเสร็จ) ดังนั้น เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้วจะเห็นว่าการแก้ไขข้อ 24 ดังกล่าว ทำให้ค่าใช้จ่ายในการจัดการขายทอดตลาดครั้งใหม่อันเนื่องมาจากการที่ผู้เสนอราคาสูงสุดเดิมไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ ไม่ตกเป็นภาระของหน่วยงานรัฐตามที่เคยเกิดขึ้นในอดีต


ผู้เขียนมีความเห็นว่า เนื่องจากกฎกระทรวงปี 2557 ได้มีการใช้บังคับเพียงปีเศษ ดังนั้น การจะพิจารณาว่าการแก้ไขข้อกำหนดเพียงบางประการนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่อการขายทอดตลาดในประเทศไทยได้หรือไม่ คงเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันในระยะยาว แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นความพยายามที่ได้เริ่มมีการขจัดอุปสรรค หรือความล่าช้าของกระบวนการขายทอดตลาด โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์การวางหลักประกันก่อนการเข้าเสนอราคา และกำหนดมาตรการสำหรับผู้เสนอราคาสูงสุดที่ไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ ซึ่งเราคงต้องติดตามกันต่อไป


พบกันใหม่ในคราวหน้าค่ะ


*********************************************
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่