ผลประโยชน์.... สัมปทานปิโตรเลียม

ผลประโยชน์.... สัมปทานปิโตรเลียม

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กำหนดให้เอกชนยื่นซองประมูลสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21

         ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ นี้ ท่ามกลางกระแสคัดค้านของประชาชนเครือข่ายสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย แต่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันให้เดินหน้าโครงการนี้ เพราะแหล่งพลังงานที่มีอยู่ จะเหลือใช้ได้ไม่เกิน 6-7 ปี จำเป็นต้องมีแหล่งพลังงานสำรองเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลน

          การสำรวจรอบที่ 21 ทั้งหมด 29 แปลง พวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า ได้ปรับเกณฑ์ตามข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ใน 3 แปลงกลางอ่าวไทย ซึ่งมีศักยภาพ ให้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อลดกระแสต่อต้าน

          เมื่อกลางปี 2556 บริษัทอพิโก้ ซึ่งรับเช่าช่วงสำรวจจาก ปตท. เข้าพื้นที่ด้วยวิธีเช่าที่ดินต่อจากชาวบ้านรายหนึ่ง จากนั้นก็เริ่มเข้าหาชาวบ้านผ่านผู้ใหญ่บ้าน และอบต.หนองกุงศรี อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี เมื่อผ่านไป 3 เดือน ภูธร อโนชาเดช แกนนำชาวบ้านนาเหล่า ต.หนองกุงศรี บอกกับ "ทีมข่าวเนชั่น เอ็กซ์ไฟล์" ว่า ชาวบ้านใกล้เคียงหลุมสำรวจ เริ่มได้รับผลกระทบจากการเจาะสำรวจ

          บริษัทอพิโก้ ซึ่งได้สิทธิสำรวจหลุมดงมูล-บี ในพื้นที่ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ซึ่งอยู่ห่างจากหลุมสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี ประมาณ 70 กิโลเมตร โดยพื้นที่นี้บางส่วนเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ชาวบ้านชำระภาษียอดหญ้า แต่ในครั้งนี้ บริษัท เข้าหาชาวบ้านด้วยวิธีการเคาะประตูบ้าน พูดคุยทีละหลังๆ สมหมาย จงไพบูลย์ แกนนำชาวบ้านนามูล ต.ดูนสาด  บอกว่าบริษัท ขอให้ประชาชนเซ็นชื่อรับแจกเสื้อและสิ่งของ โดยไม่บอกจุดประสงค์ว่า จะนำไปสนับสนุนการเปิดหลุมเจาะสำรวจปิโตรเลียม

          ทรงยศ แสนโครต ชาวบ้านนามูล ต.ดูนสาด บอกถึงการยื่นฟ้องศาลปกครองขอนแก่น เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 เพื่อพิสูจน์การใช้ลายเซ็นของชาวบ้านไปสนับสนุนการเปิดหลุมสำรวจดงมูล-บี โดยผู้ถูกฟ้องมีทั้งข้าราชการและเอกชน ประกอบด้วย กระทรวงพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อบต.ดูนสาด บริษัท ปตท.สผ. และบริษัทอพิโก้ รวมถึงร้องเรียนไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ ขอให้ยกเลิกการขนย้ายเครื่องมือขุดเจาะเข้าพื้นที่ จนกว่าจะมีการสืบสวนข้อเท็จจริง

          รสนา โตสิตระกูล รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน บอกกับ "ทีมข่าวเนชั่น เอ็กซ์ไฟล์" แม้ภาครัฐจะเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยให้เหตุผลด้านความมั่นคงทางพลังงาน แต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ เห็นว่า ควรชะลอการให้สัมปทานออกไปก่อน และเสนอให้เปลี่ยนระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตทั้งหมด เพราะระบบเดิมจะทำให้เอกชนได้กรรมสิทธิ์ ส่วนภาครัฐได้เพียงแค่ค่าภาคหลวง ขณะที่ประชาชนยังต้องซื้อก๊าซและน้ำมันในราคาที่ไม่แตกต่างจากราคานำเข้า

          ปัญหาการขุดเจาะปิโตรเลียม ไม่อาจถกเถียงกันเพียงเรื่องสัมปทาน รอบที่ 21 กับระบบแบ่งปันผลผลิต เนชั่น เอ็กซ์ไฟล์ ซึ่งออกอากาศทาง เนชั่นทีวี วันเสาร์ (14 ก.พ.) นี้ จะนำเสนอผลกระทบทางสังคม สิทธิชุมชน บนแปลงสัมปทานปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ป่าอนุรักษ์ ท้องทะเล ทั้งหมดนี้ที่เป็นแหล่งผลิตอาหารให้คนไทยทั้งชาติ ขณะนี้ชาวบ้านหลายพื้นที่ ซึ่งอยู่ในแปลงสัมปทานที่ให้ไปแล้ว กำลังถูกกดทับด้วยอำนาจ แทบไม่อาจส่งเสียงความทุกข์ของพวกเขาได้

          พลังงานมีความสำคัญและจำเป็นต่อประเทศ แต่ประเทศต้องไม่ทอดทิ้งคนในชาติ ต้องไม่สร้างความร่ำรวย บนความทุกข์ยากของประชาชน