โมดี เวอร์ชั่น 2.0 (The Game Changer)

โมดี เวอร์ชั่น 2.0 (The Game Changer)

ปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาไม่มีข่าวใดได้รับความสนใจในอินเดียมากเท่ากับการมาเยือนของ ปธน. โอบามา เพื่อเข้าร่วมงานวันฉลองการสถาปนาอินเดีย

เป็นสาธารณรัฐปีที่ 66 ในฐานะแขกเกียรติยศระหว่าง 25-27 ม.ค. 2558 ทั้งนี้ อดีต นรม. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรของไทยก็เคยมาร่วมงานดังกล่าวเมื่อปี 2555

ปธน. โอบามา นับเป็น ปธน. สหรัฐ คนแรกที่เดินทางมาเยือนอินเดียถึง 2 ครั้งในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งและเป็นครั้งแรกที่ ปธน. สหรัฐ ตอบรับมาเป็นแขกเกียรติยศในงานดังกล่าว แน่นอนว่าในช่วง 3 วันของการเยือนอินเดีย ทั้งสองฝ่ายต้องได้ประโยชน์เป็น Win-Win Situation ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย และบรรดานักการทูตในกรุงนิวเดลีเชื่อว่าหลังการเยือนครั้งนี้จะมีการเปลี่ยนเกมการเมืองระหว่างประเทศในเอเชียที่น่าจับตามองก็ว่าได้

ตลอด 3 วันของการเยือน นายโมดีได้มีโอกาสพูดคุยแบบเปิดอกกับ ปธน. โอบามา รวมเวลาแล้วไม่น่าจะน้อยกว่า 10 ชั่วโมงเต็ม ซึ่งไม่ธรรมดาที่ใครจะสามารถฉวยเวลาอันมีค่าจากผู้นำมหาอำนาจอย่างสหรัฐ เริ่มตั้งแต่การไปต้อนรับ ปธน. โอบามาและภริยาที่สนามบินด้วยตนเอง การนั่งคู่กันในงานเลี้ยงรับรองทางการของ ปธน. อินเดีย การสนทนาสองต่อสองพร้อมจิบน้ำชาในสนามหญ้าก่อนการหารือทวิภาคี การนั่งคู่กันในวันรุ่งขึ้นเพื่อชมพิธีสวนสนามของเหล่าทัพอินเดียเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงเต็มท่ามกลางฝนปรอย ๆ กลางแจ้ง ต่อด้วยการเป็นประธานร่วมในการประชุมกับภาคธุรกิจอินเดีย-สหรัฐในตอนค่ำ และจบลงด้วยการออกรายการพูดคุยกับผู้ฟังที่สถานีวิทยุกระจายเสียงด้วยกันในวันสุดท้ายเป็นเวลา 35 นาที

ที่ผ่านมาทางการสหรัฐ ยังไม่เคยให้เวลากับใครมากเท่านี้ ฝ่าย รปภ. ของสหรัฐ ก็ไม่เคยยอมให้ผู้นำของตนเข้าร่วมพิธีกลางแจ้งเกินกว่า 45 นาทีเพื่อความปลอดภัยหลังเกิดเหตุการณ์ก่อการร้าย 911 แต่งานนี้ต้องยอมให้ ปธน. สหรัฐ นั่งคู่กับนายโมดีชมการสวนสนามกลางแจ้งโดยขบวนรถถังและการบินผ่านของเครื่องบินรบที่ทำในรัสเซียถึง 2 ชั่วโมงเต็ม สหรัฐต้องระดมเจ้าหน้าที่ รปภ. ของตนเองกว่า 2,000 นาย พร้อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทันสมัยร่วมประกบกับฝ่าย รปภ. ของอินเดียจำนวนเกือบหมื่นเพื่อป้องกันการก่อการร้าย นอกจากนี้ สหรัฐยังต้องส่งสัญญาณขู่รัฐบาลปากีสถานคู่ปรับของอินเดียว่าห้ามก่อเหตุการณ์ร้ายที่จะมาทำลายบรรยากาศการเยือนอินเดียในช่วง 3 วันด้วย

อินเดียได้อะไรจากการเยือนครั้งนี้

ประการแรก ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศในช่วงปลายปี 2556 อยู่ในช่วงขาลง สืบเนื่องมาจากการจับกุมนักการทูตหญิงของอินเดียที่นครนิวยอร์ก และนายโมดีเองก็เคยถูกรัฐบาลสหรัฐ ปฏิเสธไม่ให้วีซ่าเข้าประเทศ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในเหตุจลาจลในรัฐคุชราตเมื่อปี พ.ศ. 2545 เมื่อครั้งที่นายโมดีดำรงตำแหน่งมุขมนตรี (นายกรัฐมนตรีของรัฐ) และมีคนตายกว่า 1,000 คน ซึ่ง 3 ใน 4 เป็นชาวมุสลิม แต่หลังจากมีชัยในการเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดียเมื่อเดือน พ.ค. 2557 นายโมดีก็ได้เก็บความรู้สึกนั้นและยอมปรับความสัมพันธ์โดยตอบรับคำเชิญไปเยือนสหรัฐ เมื่อเดือน ก.ย. 2557 และต่อมาก็ได้พบกับ ปธน. โอบามา อีกครั้งในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ที่พม่าเมื่อเดือน พ.ย. 2557 การที่นายโมดีสามารถเชิญให้ ปธน. โอบามามาเยือนอินเดียตอบแทนในครั้งนี้ได้สำเร็จ จึงเท่ากับว่านายโมดีใช้เวลาหลังขึ้นสู่ตำแหน่งเพียง 8 เดือน พลิกภาพลบจากการถูกสหรัฐ มองว่าเป็นผู้ร้าย มาเป็นสหายที่ผู้นำสหรัฐ ถึงกับยอมเสียสละเวลามาเยือนถึง 3 วันเต็ม

ประการที่สอง อินเดียทำให้สหรัฐยอมรับในความสำคัญของตนและโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะได้รับจากรัฐบาลใหม่ที่พร้อมอ้าแขนรับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด (Market Economy) และจากกำลังซื้อมหาศาลของประชากร 1.2 พันล้านคน ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และพลังงานทดแทนซึ่งอินเดียมีความต้องการอย่างมาก การร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ (ซึ่งอินเดียเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก) และการเข้ามาร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) 3 แห่ง (เมือง Ajmer, Allahabad และ Vishakhapatnam) จากจำนวน 100 เมืองอัจฉริยะที่อินเดียประกาศชักชวนให้ประเทศต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม (ซึ่งขณะนี้ก็มี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อังกฤษ หรือแม้แต่จีนเสนอตัวเข้ามาแล้ว) อินเดียในขณะนี้จึงเป็นตลาดอันสดใสสำหรับสหรัฐ ทดแทนสหภาพยุโรปและจีนที่เริ่มอิ่มตัวแล้ว

ประการที่สาม ภาพลักษณ์ของอินเดียได้รับการยอมรับมากขึ้นในฐานะประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีเสถียรภาพ พร้อมที่จะมีบทบาทในเวทีโลก จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่ ปธน. โอบามา ประกาศสนับสนุนให้อินเดียเข้าเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และเป็นสมาชิกของเอเปก (APEC) อย่างเต็มตัว (ทั้งๆ ที่ผู้นำจีนเพิ่งออกปากเชิญนายโมดีเข้าร่วมประชุมสุดยอดเอเปกที่กรุงปักกิ่งเมื่อเดือน พ.ย. 2557 แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น)

แล้วสหรัฐ ได้อะไรตอบแทน

นอกจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว สหรัฐยังสามารถดึงรัฐบาลอินเดียชุดใหม่ให้เข้ามาร่วมเป็นจิ๊กซอตัวหนึ่งที่จะสนับสนุนนโยบายปรับสมดุลในเอเชีย ที่ผ่านมาอาเซียนพยายามสนับสนุนอินเดียให้เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นในเวทีการประชุม EAS แต่ก็ไม่อาจดึงอินเดียก้าวพ้นแนวความคิดเดิมๆ ที่จะไม่ยอมเล่นบทบาทคานอิทธิพลกับใครหากไม่กระทบผลประโยชน์ของอินเดียที่จับต้องได้ชัดเจน แต่ครั้งนี้สหรัฐสามารถดึงให้อินเดียเข้ามาร่วมกับตนในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ด้วยการออกแถลงการณ์ว่าด้วยวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย (U.S. - India Joint Strategic Vision for Asia-Pacific and Indian Ocean Region) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองฝ่ายกล่าวถึงเรื่องความมั่นคงทางทะเลในทะเลจีนใต้อย่างชัดเจน และก็ได้รับปฏิกิริยาสวนกลับจากจีนทันควันว่าประเทศอื่น ๆ นอกภูมิภาคไม่มีสิทธิที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องทะเลจีนใต้ซึ่งจีนกำลังเจรจากับประเทศอาเซียนบางประเทศที่เกี่ยวข้องอยู่ ต่อไปนี้เราจึงอาจเห็นอินเดียพร้อมเล่นบทบาททางการเมืองและการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกับญี่ปุ่น สหรัฐและออสเตรเลีย เป็นวงล้อมเพื่อคานอิทธิพลของจีนที่กำลังแผ่ขยายไม่เฉพาะในมหาสมุทรแปซิฟิก หากแต่รวมถึงมหาสมุทรอินเดียด้วยเช่นกัน

หากในช่วง 100 วันแรกของการขึ้นสู่อำนาจของนายโมดีคือการใช้นโยบายต่างประเทศผูกใจประเทศเพื่อนบ้านในวงที่ 1 หรือ เวอร์ชั่น 1.0 ในช่วง 100 วันที่สองของนายโมดีขณะนี้ก็คือการขยับขึ้นสู่วงที่ 2 หรือ เวอร์ชั่น 2.0 เพื่อสร้างพันธมิตรกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ อินเดียในขณะนี้จึงไม่ธรรมดา แต่กำลังจะมีส่วนในการเปลี่ยนเกมการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Game Changer) ที่เราไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป