เศรษฐกิจสร้างคุณค่า พัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน (2)

เศรษฐกิจสร้างคุณค่า พัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน (2)

ผมเล่าไว้ในตอนที่แล้วว่า โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงการส่งออกประสบความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน

เราจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และพัฒนาเป็นเศรษฐกิจที่ก้าวนำโดยเพิ่มคุณค่าสินค้าและบริการที่เรียกว่า Value-driven Economy

แนวทางพัฒนาในรูปแบบนี้เราต้องเสริมจุดแข็งด้านยุทธภูมิศาสตร์ที่เรามีอยู่แล้วนะครับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่มีผู้บริโภคในประชาคมอาเซียนมากถึง 600 ล้านคนการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของสินค้าและบริการเงินทุนแรงงานและการลงทุน ไทยจึงมีศักยภาพอย่างมากที่จะอาศัยจุดแข็งนี้ผนวกกับศักยภาพด้านอื่น ๆ ในการพัฒนาสู่การเป็น Value-driven Economyผ่านการสร้างฐานเศรษฐกิจ 4 ฐาน อันได้แก่ เศรษฐกิจฐานความเชื่อมโยง (Connectivity-based Economy)เศรษฐกิจฐานดิจิทัล (Digital-based Economy) เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy)และเศรษฐกิจฐานความคิดสร้างสรรค์(Creativity-based Economy) ครับ

ตลาดทุนไทยซึ่งเป็นเสาหลักและกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

เห็นความสำคัญของการก้าวเข้าสู่ Value-driven Economy จึงมียุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนการสร้างฐานเศรษฐกิจ 4 ฐานข้างต้นดังนี้ครับ

ยุทธศาสตร์แรก คือการสร้างเครื่องมือและบริการทางการเงินในตลาดทุนให้หลากหลาย เพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก ให้พร้อมสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจฐานความเชื่อมโยง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องมือทางการเงินที่รองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอสังหาริมทรัพย์ อาทิ (1) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ประเภทต่าง ๆ เช่น ระบบขนส่งทางราง ระบบถนน โรงไฟฟ้า ประปา ท่าอากาศยาน ทางพิเศษ ท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคม พลังงานทางเลือก การชลประทาน และระบบป้องกันภัยธรรมชาติเป็นต้น ทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถระดมทุนผ่านกองทุนประเภทนี้ครับโดยในส่วนของภาครัฐจะช่วยลดภาระด้านงบประมาณและหนี้สาธารณะของประเทศได้ (2)กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trusts: REITs)เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในด้านต่าง ๆ เช่นที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวตั้ง สำนักงาน นิคมอุตสาหกรรม และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่จะรองรับการเข้ามาของธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และเป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุน ช่วยให้การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเครื่องมือทางการเงินทั้งสองนี้ ก.ล.ต.ได้พัฒนากฎเกณฑ์ให้ทัดเทียมกับสากล จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงและการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค รวมทั้งดึงดูดผู้ลงทุนทั่วโลกด้วยครับ

ยุทธศาสตร์ที่สอง เปิดช่องทางให้กิจการทุกประเภท ทุกขนาดในทุกภูมิภาค สามารถเข้าถึงทุนในรูปแบบที่เหมาะสม ประเทศไทยมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจหลายด้านครับ ทั้งในส่วนของเศรษฐกิจฐานดิจิทัล เศรษฐกิจฐานความรู้ และเศรษฐกิจฐานความคิดสร้างสรรค์ภาคธุรกิจของเรามีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากรที่มีความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้ใครในโลก ภูมิปัญญาของไทยก็โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ยุทธศาสตร์นี้จึงมีขึ้นเพื่อให้ธุรกิจได้รับการสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งทุน เพื่อใช้พัฒนาศักยภาพที่มีให้เป็นที่ยอมรับตัวอย่างของโครงการที่ประสบความสำเร็จและดำเนินการต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการหุ้นใหม่ความภูมิใจของจังหวัดที่ส่งเสริมกิจการในทุกภูมิภาคและโครงการหุ้นนวัตกรรมและสร้างสรรค์

ความภูมิใจของไทยที่เน้นสนับสนุนธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม และธุรกิจเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความรู้ความเข้าใจ มีความพร้อมในการเตรียมตัวระดมทุนผ่านตลาดทุน

เป็นที่น่ายินดีครับที่ ก.ล.ต. ได้จัดโครงการหุ้นใหม่ฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 มาจนถึงปัจจุบันรวม 3 รุ่นแล้ว รวมบริษัทเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นประมาณ 300 บริษัท กระจายอยู่กว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศและโครงการหุ้นนวัตกรรม ฯ ที่เพิ่งเริ่มรุ่นแรกในปี2557 ก็มีผู้เข้าร่วมโครงการถึงกว่า 50 บริษัท ซึ่งบริษัทที่เข้าร่วมโครงการข้างต้นได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วกว่า 30 บริษัทและอยู่ระหว่างเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้พัฒนาเครื่องมือทางการเงิน เพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงทุนได้มากขึ้น อาทิ PE Trust (Private Equity Trust) ซึ่งเป็นการอนุญาตให้นำทรัสต์มาใช้ในการจัดตั้งกิจการเงินร่วมลงทุน เพื่อเอื้อให้ธุรกิจเกิดใหม่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ธุรกิจที่ต้องการปรับโครงสร้างธุรกิจและธุรกิจที่ต้องอาศัยนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าถึงการระดมทุนง่ายขึ้น รวมทั้ง ก.ล.ต. ก็กำลังจะออกเกณฑ์การระดมทุนแบบ Crowdfunding ซึ่งเป็นการระดมทุนจากคนจำนวนมากแต่เพียงคนละเล็กละน้อยผ่านช่องทางดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต โดยผู้ที่ต้องการระดมทุนจะนำเสนอโครงการ หรือแนวคิดผลิตภัณฑ์ ผ่านเว็บไซต์ แล้วระบุวงเงินที่ต้องการ หากเป็นที่สนใจของมวลชน หรือ crowd แล้ว ก็จะได้รับเงินลงทุน เพื่อนำมาดำเนินโครงการหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามที่เสนอไว้

ยุทธศาสตร์ที่สาม ยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงและพัฒนาตลาดทุนไทยสู่สากลนอกจากการสนับสนุนการพัฒนาของประเทศสู่การเป็น Value-driven Economy ผ่านกลไกตลาดทุนตามแนวทางข้างต้น ตลาดทุนไทยไม่สามารถเติบโตได้อย่างลำพังครับ เราต้องเพิ่มความโดดเด่น เพื่อให้เป็นผู้นำในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ จึงต้องมียุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาให้ตลาดทุนไทยสามารถเชื่อมโยงตลาดทุนในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Connector) โดยการเปิดช่องทางและผลักดันให้มีสินค้าต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภูมิภาค GMS ด้วยการออกหลักเกณฑ์เพื่อเปิดช่องทางให้สินค้าจาก GMS เข้ามาเสนอขายในตลาดไทยได้เช่น ใบอ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เปลี่ยนมือได้ (Unsponsored Depositary Receipt หรือ DR) บนหุ้นจาก GMS และให้กองทุนรวมไทยลงทุนใน GMS ได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งในส่วนของตลาดทุนประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ ก.ล.ต.ได้สานความสัมพันธ์ให้ความร่วมมือและให้ความสนับสนุนในด้านการพัฒนาศักยภาพ (Capacity Building) อย่างต่อเนื่องด้วยครับ

เส้นทางการพัฒนาของประเทศไทยนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญที่จะร่วมกันกำหนดอนาคตของประเทศ ผมและ ก.ล.ต. จะมุ่งมั่นสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่โดดเด่นของภูมิภาคได้อย่างภาคภูมิและยั่งยืนในอนาคตครับ