ม.112 กับการปกป้องสถาบันฯ

ม.112 กับการปกป้องสถาบันฯ

สถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นสถาบันสูงสุดและมีความสำคัญยิ่งในฐานะที่เป็นศูนย์รวมใจของประชาชนชาวไทยทุกคน

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีวิกฤติการเมืองหลายครั้ง มีบางครั้งที่เราฝ่าวิกฤติอันรุนแรงได้อย่างน่าอัศจรรย์ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นสถาบันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเฉพาะในประเทศอย่างเราที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเพียงแปดสิบกว่าปี เพราะถ้าเทียบกับประเทศที่มีระบอบการปกครองเดียวกัน กว่าระบอบการปกครองของประเทศเหล่านั้นจะลงหลักปักฐานก็ต้องใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปีที่ต้องรอให้สถาบันการเมืองอื่นๆ ลงตัวหรือมีความเข้มแข็งมากพอที่จะทำหน้าที่ทางการเมืองและสามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันและกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องเหมาะสม

ที่สังคมใดสามารถธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้สืบเนื่องจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิ ราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้นั้น ถือว่าประเทศนั้นไม่ต้องเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ แต่เปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ประนีประนอมและไม่เสียเลือดเนื้อหรือไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคม

การที่สังคมใดที่เคยปกครองในระบอบราชาธิปไตย (ซึ่งน่าจะทุกประเทศในโลกที่เคยปกครองด้วยระบอบนี้ !) จะสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างสืบสานของเดิมกับของใหม่เข้าด้วยกันได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อล้มตายมากมายได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญภายในสองประการ นั่นคือ สถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชนของสังคมนั้นเอง เพราะหากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งไม่เอื้อก็ยากที่จะสืบสานและเปลี่ยนแปลงอย่างสันติได้ ดังนั้น ปัจจัยทั้งสองนี้ถือเป็นต้นทุนสำคัญของสังคม ในประเทศที่ไม่มีหรือไม่สามารถรักษาต้นทุนที่ว่านี้ได้ ก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่อาจจะจากศูนย์หรือติดลบหรือเป็นบวกบ้าง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเฉพาะตัวของประเทศนั้นๆ รวมถึงสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศระหว่างที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นด้วย

ในบทความหนึ่งที่อธิบายสาเหตุของสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา David Herbert Donald ชี้ว่า ในช่วงกลางศตวรรษที่สิบเก้า สหรัฐอเมริกาขาดโครงสร้างทางสถาบันและสิ่งที่เรียกว่า “social cohesion” การขาดปัจจัยดังกล่าวนี้เองที่ทำให้รัฐบาลประสบปัญหาที่จะใช้อำนาจที่ประชาชนยอมรับว่าชอบธรรม ทำให้ไม่สามารถควบคุมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ และการขาดปัจจัยที่ว่านี้ก็ทำให้ประชาชนไม่สามารถพัฒนาความรู้สึกยึดเหนี่ยวผูกพันเกาะเกี่ยวซึ่งกันและกันในสังคมโดยรวมได้ และเมื่อเกิดวิกฤติที่แตกแยกเป็นฝักฝ่ายอย่างรุนแรง สหรัฐอเมริกาขณะนั้นก็ยังไม่สามารถสถาปนาสถาบันทางการเมืองที่จะสามารถตรวจสอบและผ่อนคลายวิกฤตินั้นลงได้ (David Herbert Donald, “Political and Institutional Origins of the Sectional Conflict : An Excess of Democracy : The American Civil War and the Social Process,” in The Coming of the American Civil War, edited by Michael Perman, p.57. [ต้นเหตุในทางการเมืองและสถาบันของความขัดแย้งฝักฝ่าย : ประชาธิปไตยที่เกินขอบเขต : สงครามกลางเมืองอเมริกาและกระบวนการทางสังคม])

คำว่า “social cohesion” ที่ผู้เขียนไม่แปลในตอนแรกก็คือ สิ่งที่สามารถทำหน้าที่เป็น “ศูนย์รวมใจ” ของคนในชาติ ในแง่นี้ สังคมไทยเรามี “social cohesion” และสถาบันพระมหากษัตริย์ของเราก็คือ “ศูนย์รวมใจ” ของคนไทยทั้งชาติ

คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่เป็นประมุขของชาติ แต่ก็ยังรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย เพราะอย่างในกรณีของสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ นอกจากสถานะและบทบาทหลักของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แล้ว พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นก็มีส่วนเสริมสร้างความสำคัญและความเข้มแข็งของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย และย่อมส่งผลต่อความมั่นคงทางการเมืองการปกครองและสังคมของอังกฤษ ในทางกลับกัน สถานะและบทบาทของพระผู้ดำรงตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ก็สามารถมีส่วนที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อ่อนแอและอาจถึงกับล่มสลายได้อย่างในกรณีของประเทศเนปาล

ที่ผ่านมาไม่นานนี้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การจับกุมนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และพวกส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จากการแอบอ้างสถาบันฯในการหาประโยชน์ในทางมิชอบเท่ากับเป็นการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติฯ อนึ่ง สื่อหลายสื่อ รวมทั้งตำรวจและผู้คนจำนวนหนึ่ง ก็ออกมาให้ข่าวทำนองว่า ได้ยินเรื่องราวการแอบอ้างนี้มานานแล้ว คำถามคือ การแอบอ้าง (ซึ่งมิใช่เฉพาะที่ร้ายแรงอย่างที่เกิดขึ้นเวลานี้ เพราะกระทำโดยใช้อำนาจหน้าที่เจ้าพนักงานของรัฐ แต่รวมถึงรายย่อยอื่นๆ เช่น เซียนพระเครื่องที่ถูกจับกุมติดคุกไปแล้ว) เกิดขึ้นมาได้ และดำรงมาได้ยาวนานและเป็นระบบในเงื่อนไขอะไร? อะไรคือกลไกเชิงสถาบันที่กำกับตรวจสอบระบบตำรวจ ? และทำไมกลไกเช่นนั้นจึงไม่สามารถพบและสกัดปัญหาได้ทันท่วงที การตัดไฟแต่ต้นลมทำไมเกิดขึ้นไม่ได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดับไฟกองนี้ และจะวางระบบป้องกันไฟแบบนี้มิให้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร?

ขณะเดียวกัน จะมีทางใดที่ “ประชาชน” จะสามารถใช้สิทธิ์ทางกฎหมายใดในการป้องกันหรือฟ้องร้องต่อผู้ที่สร้างความเสื่อมเสียให้เกิดขึ้นต่อสถาบันฯ? คนในธุรกิจมืดที่ถูกรีดไถแลกกับความคุ้มครองย่อมไม่กล้าร้องแรกแหกกระเชออยู่แล้ว เพราะร้องไปตัวเองก็จะถูกจับติดตะรางเท่านั้น แต่ที่ยอมให้รีดไถเพราะเชื่อว่า คำแอบอ้างนั้นเป็นจริง นั่นคือ ใหญ่จริง ที่เชื่อเช่นนั้นก็เพราะความใกล้ชิดของตำรวจใหญ่ผู้นั้น แต่สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจมืดและได้ยินเรื่องราวแบบนี้ ทำไมไม่สามารถร้องแรกแหกกระเชอออกมาเพื่อปกป้องรักษาสถาบันได้? และการปกป้องสถาบันฯ มิได้กินความแคบแค่องค์พระประมุขเท่านั้น แต่ย่อมรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย

อาจจะเพราะความกลัว และหนึ่งในสาเหตุของความกลัวที่ว่านี้ก็คือ การใช้มาตรา 112 แล้วบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ผู้ใกล้ชิดสถาบันฯที่จงรักภักดีเคยได้ยินเรื่องนี้มาบ้างหรือไม่?

ในแง่นี้จะเห็นได้ว่า การปฏิรูปหรือทำความเข้าใจมาตรา 112 เสียใหม่ ประชาชนธรรมดาย่อมจะช่วยสามารถปกป้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ได้โดยไม่ต้องปล่อยให้หมักหมมหรือต้องรอให้เกิดขึ้นหลังกองทัพทำรัฐประหารและเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจในสถานการณ์พิเศษ เพราะเราไม่สามารถมีรัฐบาลแบบนี้ตลอดไปได้