4 ประเด็นด้านตลาดทุนที่ สปช. จะเสนอให้ใส่ในรัฐธรรมนูญ

4 ประเด็นด้านตลาดทุนที่ สปช. จะเสนอให้ใส่ในรัฐธรรมนูญ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน พบกันเช่นเคยทุกวันพุธที่สามของเดือน

วันนี้ผมขออนุญาตไม่เขียนเกี่ยวกับแนวโน้มตลาดหุ้น เพราะมีเรื่องที่น่าสนใจมากกว่า นั่นก็คือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็น ในส่วนของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เราเริ่มเปิดให้มีการอภิปรายเรื่องประเด็นที่จะส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่เราจะถกกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปว่าจะส่งประเด็นอะไรบ้างให้กับ คณะกมธ. ยกร่างฯ เพื่อบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ

ในส่วนประเด็นด้านตลาดทุน ซึ่งผมเองเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะ ประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปตลาดทุน ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ เราได้นำเสนอ 4 ประเด็นหลักให้กับ คณะกมธ. ยกร่างฯ ดังนี้

ประเด็นที่เสนอให้บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญ

1. รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมและขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อทำให้ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งด้านการเข้าถึงแหล่งทุนของกิจการทุกขนาดอย่างมีธรรมาภิบาล และเป็นช่องทางในการออมและลงทุนของภาคประชาชนกับภาคครัวเรือน เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับสากล

คำอธิบาย:ตลาดทุนมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยเป็นแหล่งระดมทุนหลักของภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและก่อให้เกิดการจ้างงาน ตลอดจนเป็นช่องทางการออมและการลงทุนที่สำคัญของประชาชน ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งและประสิทธิภาพของตลาดทุนไทย โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของระบบตลาดทุนไทยให้เป็น International Financial Center ที่เชื่อมโยงได้กับระบบตลาดทุนทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งจะทำให้ตลาดทุนไทยเป็นอีกหนึ่งเสาหลักที่สำคัญนอกเหนือจากระบบธนาคารพาณิชย์ที่ช่วยสร้างความสมดุลในระบบการเงินไทย รวมถึงเอื้อประโยชน์ในภาคส่วนต่างๆ ของสังคม อาทิ ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง และภาคเกษตร ในการเข้าถึงแหล่งทุน อันจะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

2. รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนทุกระดับมีความรู้ทางการเงินและต้องปลูกฝังให้ประชาชนมีความสามารถในการบริหารการเงินของครัวเรือนได้อย่างเหมาะสมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยจัดให้มีหน่วยงานอิสระรับผิดชอบในเรื่องนี้

คำอธิบาย:รัฐบาลมีหน้าที่จัดการให้ประชาชนทุกระดับมีความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) อย่างทั่วถึงและต้องปลูกฝังให้ประชาชนมีความสามารถในการบริหารการเงินของครัวเรือนได้อย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นในระยะยาวอย่างยั่งยืน โดยขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน แหล่งเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ และสามารถเก็บออมได้อย่างพอเพียงต่อการใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความยากจนและหนี้ภาคครัวเรือน ในปัจจุบันประเทศไทยมีหลายองค์กรที่จัดทำโครงการให้ความรู้ทางการเงิน โดยเนื้อหาของโครงการความรู้มักเกี่ยวข้องกับพันธกิจหลักขององค์กรนั้น ๆ ทำให้เนื้อหาสาระของการให้ความรู้ทางการเงินยังไม่ครอบคลุมและอาจไม่ตรงกับความต้องการของประชาชนในทุกระดับชั้น ดังนั้นรัฐพึงจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อเป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายและแนวทางการให้ความรู้ทางการเงินในระดับครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลูกฝังให้ประชาชนไทยมีวินัยในการออม นำมาซึ่งความยั่งยืนทางการเงินของระบบเศรษฐกิจและสังคม

3. รัฐต้องจัดให้มีระบบบำเหน็จบำนาญของประชาชน โดยต้องคำนึงถึงความเพียงพอในการยังชีพหลังเกษียณและไม่เป็นภาระทางการคลังของรัฐ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีหน่วยงานกลางเพื่อเป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแล

คำอธิบาย: ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ แต่ยังไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณอายุให้คนไทยโดยรวมได้ เนื่องจากระบบการออมเพื่อการเกษียณอายุในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมแรงงานทั้งประเทศ อีกทั้ง ระดับเงินออมที่มีในระบบยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพและภาครัฐมีงบประมาณจำกัดในการสนับสนุนให้ระบบเงินออมดังกล่าวมีความยั่งยืน ยิ่งไปกว่านั้น ระบบการออมเพื่อเกษียณอายุในปัจจุบันยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหลายหน่วยงานและขาดองค์กรกลางที่ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์การออมเพื่อการเกษียณอายุอย่างเป็นองค์รวม รัฐบาลจึงควรจัดให้มีองค์กรเฉพาะ (Single Pension Regulation) ที่มีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์การออมเพื่อการเกษียณอายุในระดับประเทศ โดยมีหน้าที่วางแผนและกำหนดนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนติดตามและปรับปรุงแผนงานให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างเป็นพลวัต

4. รัฐต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ ทั้งในแง่ความจำเป็นในการดำรงอยู่ ความมีประสิทธิภาพ การแข่งขันอย่างเป็นธรรมกับภาคธุรกิจ การกำหนดเป้าหมายการดำเนินการที่ชัดเจน และการยกระดับธรรมาภิบาลให้เทียบเท่าสากล โดยให้แยกหน่วยงานซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจรายสาขาและหน่วยงาน ซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจแทนประชาชนอย่างชัดเจน ในการนี้ ให้รัฐจัดตั้งองค์กรซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจแทนประธานที่มีความเป็นอิสระ ซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง

คำอธิบาย:ปัจจุบันรัฐยังขาดความชัดเจนของวัตถุประสงค์ในการคงไว้ซึ่งรัฐวิสาหกิจ ในขณะเดียวกัน รัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีการสร้างภาระต่อฐานะทางการเงินและทางคลังของประเทศด้วยการบริหารจัดการอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และไม่มีเหตุผลอันสมควร อีกทั้งยังมีการแข่งขันกับการดำเนินงานของภาคเอกชนอย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ องค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในปัจจุบันยังขาดความเป็นอิสระและขาดความเข้มแข็งในการป้องกันมิให้รัฐวิสาหกิจตกเป็นเครื่องมือของการหาประโยชน์โดยมิชอบทั้งทางตรงและทางอ้อมของนักการเมืองและผู้ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากรัฐวิสาหกิจเปรียบเสมือนบริษัทที่ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ดังนั้น จึงต้องจัดตั้งองค์กรอิสระที่จะเปรียบเสมือนเจ้าของเพื่อทำหน้าที่แต่งตั้งกรรมการ และกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาล รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสให้สาธารณชนรับทราบและสามารถติดตามตรวจสอบได้

ผมหวังว่าข้อมูลข้างต้นจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านทุกท่าน แล้วพบกันใหม่เดือนหน้าครับ สวัสดี