กระทู้ถาม 'เศรษฐกิจดิจิทัล'

กระทู้ถาม 'เศรษฐกิจดิจิทัล'

แนวคิดเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ดูจะเป็นกระแสที่หันไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึง

โดยเฉพาะในแง่ของการยุบ เลิก ย้ายเพิ่มโครงสร้างหน่วยงานในกระทรวงใหม่ที่วันรอดีเดย์ปรับแต่งให้เป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวัง

อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว นับเป็นเรื่องที่มีมานานโดยนับตั้งแต่มีการปฏิวัติข้อมูลสารสนเทศ หลายประเทศต่างก็ก้าวกระโดดนำพาตัวเองเกาะกระแสเศรษฐกิจดิจิทัลจนสร้างเนื้อสร้างตัว สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล ซึ่งแน่นอนว่าการที่จะมีศักยภาพในการแข่งขันบนฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลได้นั้น สังคมภายในต้องมีวิวัฒนาการพร้อมสรรพสำหรับการเป็นสังคมสารสนเทศเสียก่อน ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงแต่ประกอบไปด้วยความสมบูรณ์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เท่านั้น หากแต่ต้องมีความสมบูรณ์ในด้านวิธีคิด ความเป็นเหตุเป็นผลของเนื้อหาที่ใส่ไปในเทคโนโลยีเหล่านั้นด้วย

ตามหลักของการพัฒนาสังคมสารสนเทศนั้น แต่ละประเทศต่างมีระดับของวิวัฒนาการที่แตกต่างกันออกไป นับตั้งแต่ระดับแรกซึ่งเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยข้อมูล โดยข้อมูลเริ่มมีการจัดเก็บ แต่ยังคงกระจัดกระจายตามแหล่งต่างๆ (Data) ไร้ทิศทางและยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวเท่าใดนักซึ่งเมื่อข้อมูลเหล่านั้นถูกจัดอย่างเป็นระบบก็จะเลื่อนขั้นเป็นสังคมระดับที่สอง คือการเป็นสังคมที่มีข้อมูลเชื่อมโยงประมวลผลและสามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Information) โดยหากสังคมนั้นๆ มีการพัฒนาข้อมูลเหล่านั้นอย่างเข้มแข็ง มีการเรียนรู้จากสถิติ ชุดข้อมูลในอดีตอย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งหากจนกลายเป็นสังคมที่มีฐานคิดวิเคราะห์จากองค์ความรู้ในอดีตที่สั่งสมกันมาก็จะพัฒนาขึ้นเป็นสังคมระดับที่สาม คือ สังคมความรู้ (Knowledge) ซึ่งเมื่อความรู้เหล่านี้ได้รับการพิสูจน์ ตกผลึก และสั่งสมจากรุ่นสู่รุ่นก็จะกลายเป็นสังคมที่มีภูมิคุ้มกันบนฐานของความเป็นเหตุเป็นผลของข้อมูล ซึ่งประกอบสร้างโดยภูมิปัญญา (Wisdom) อันเป็นรูปแบบสังคมระดับสูงสุดตามแนวคิดสังคมสารสนเทศ

ดังนั้นหากดูกระบวนการเปลี่ยนผ่านเพื่อเข้าสู่สังคมสารสนเทศนั้นจะพบว่า หลักใหญ่ใจความหาได้อยู่ที่เทคโนโลยีไม่ แต่อยู่ที่วิธีคิดและข้อมูลที่แต่ละสังคมใช้เป็นฐานในการบริโภคต่างหากคือ ตัวตัดสินความเจริญของแต่ละสังคมในยุคสารสนเทศ โดยรากฐานของการพัฒนาเป็นสังคมสารสนเทศนั้น คือการสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในสังคมอย่างเป็นองคาพยพที่เข้มแข็งและรู้เท่าทันข้อมูลสารสนเทศที่มีทั้งลวง หลอก และลือ

สำหรับการใช้ประโยชน์จากสังคมสารสนเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น คือการใช้ประโยชน์จากทั้งเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารในการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการที่ประเทศหนึ่งๆ สามารถผลิตได้ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจไม่ได้ขับเคลื่อนอยู่เพียงโลกกายภาพเท่านั้น หากแต่การซื้อขาย แลกเปลี่ยนยังปฏิบัติการอยู่บนโลกไซเบอร์อีกด้วย โดยพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดจากการหลอมรวมของอุตสาหกรรม 3 อุตสาหกรรมด้วยกัน คือ 1) อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ (Computing) 2) อุตสาหกรรมการสื่อสาร (Communication) และ 3) อุตสาหกรรมเนื้อหา (Content) ซึ่งหมายความว่า ทั้งสามอุตสาหกรรมที่ว่านี้ไม่เป็นเพียงแค่แพลตฟอร์มที่ให้สินค้าในโลกกายภาพได้มีโอกาสเข้าถึงลูกค้าในทุกหย่อมหญ้าได้แบบทุกที่ทุกเวลาบนโลกเสมือนของสื่อใหม่เท่านั้น หากยังเล่นบทบาทเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สามารถทำเงินได้ในเศรษฐกิจดิจิทัลอีกด้วย

หลักฐานซึ่งชี้ชัดให้เห็นถึงแนวโน้มที่กำลังมาของเศรษฐกิจดิจิทัลสามารถดูได้จากการจัดอันดับบริษัทระดับโลกของนิตยสารฟอร์บ ซึ่งหากย้อนดูในอดีตประมาณปี 1960 เป็นต้นมาบริษัทที่ติดท็อปเทนส่วนใหญ่จะอยู่ที่กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมหนัก โดยเฉพาะบริษัทน้ำมันและบริษัทรถยนต์ โดยมีบริษัทจีเอ็มมอเตอร์เป็นที่หนึ่งมาโดยตลอด แต่พอเข้าปี 2000 เป็นต้นมา เราเริ่มเห็นถึงปรากฏการณ์เศรษฐกิจดิจิทัลที่ส่งให้บริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเริ่มเบียดแซงหน้าบริษัทอุตสาหกรรมหนักเหล่านั้น ที่โดดเด่นเห็นจะเป็นบริษัทค้าปลีกอย่างวอมาร์ท (Wal-Mart) รวมถึงบริษัทสื่อสารอย่าง AT&T และในปีล่าสุดบริษัทสมาร์ทโฟนอย่าง Apple ก็ผงาดขึ้นมารั้งอันดับ 5 ในฐานะที่ของการเป็นบรรษัทข้ามชาติระดับโลก

ดังนั้นหากพินิจวิเคราะห์กันให้ถ่องแท้จะพบว่า หลักการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1) การสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการติดต่อสื่อสารให้เกิด Information superhighway เพื่อเอื้อในการเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้พ่อค้า แม่ค้าสามารถเข้าถึงลูกค้าในโลกอินเทอร์เน็ตที่นับวันจะขยายตัวมากขึ้น โดยปราศจากอุปสรรคในการเข้าถึงแบบทุกที่ทุกเวลา และ 2) การขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสาร และอุตสาหกรรมเนื้อหาสื่อ เล่นบทบาทนำทั้งในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอื่น ๆ และเป็นสินค้าหลักในการเปิดตลาดเข้าสู่ภาคบริการในยุคดิจิทัล ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วเศรษฐกิจดิจิทัลคือ การขายของ 2 อย่างด้วยกัน คือ ‘การขายนวัตกรรมทางเทคโนโลยี’ และ ‘การขายวัฒนธรรม’ ที่สามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดิจิทัลสร้างมูลค่าของสินค้าในประเทศตนให้โดดเด่นสู่สายตาชาวโลก

นโยบายการค้าในหลาย ๆ ประเทศแสดงให้เห็นถึงทิศทางที่พยายามเกาะเกี่ยวเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม การเพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ในภาคบริการ และการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเน้นภาคบริการที่เพิ่มมูลค่าสินค้า เป็นต้น ตัวอย่างของการใช้ประโยชน์เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกดูจะโดดเด่นและมีทิศทางที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกวัฒนธรรมตามแนว ‘Hayu’ ของเกาหลีใต้ผ่านเนื้อหาในอุตสาหกรรมสื่อควบคู่ไปกับการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีอย่างแบรนด์ซัมซุง หรือนโยบาย ‘Cool Japan’ ที่ขับเน้นศักยภาพของภาคบริการและสร้างภาพลักษณ์ด้วยเนื้อหาความเท่ในสไตล์ญี่ปุ่น ๆ ผ่านการส่งออกวัฒนธรรม อย่างอาหาร แฟชั่น แอนิเมชั่น รวมไปถึงการท่องเที่ยว ซึ่งนับวันจะออกดอกออกผลสร้างรายได้ให้กับประเทศ

สำหรับประเทศไทยที่ปลูกฝังความรักสนุก เก่งกาจเรื่องการสร้างภาพ และมีความอลังการด้านเนื้อหาสื่อและการจัดอีเวนท์ที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก ก็ดูเหมือนจะใช้วัฒนธรรมเหล่านั้นเกาะเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ตัวเองหลุดจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle income trap) ได้ไม่ยาก หากแต่การขับเคลื่อนอย่างเป็นองคาพยพดังกล่าวต้องประกอบพร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี และความเข้มแข็งของระบบข้อมูลข่าวสารที่จะประกอบสร้างขึ้นเป็นเนื้อหาสื่อและกำหนดกรอบทางวัฒนธรรม อันเป็นวิถีชีวิตตามการพัฒนาของสังคมสารสนเทศที่เข้มแข็ง

การโฆษณาชวนเชื่อและกำหนดกรอบวิธีคิดทางวัฒนธรรมของภาครัฐที่ไม่ปรากฏทางเลือกให้กับประชาชนในประเทศทุกวันนี้จึงกลายเป็นโจทย์ที่ย้อนแย้งกับทิศทางและความมุ่งมั่นของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลตามหลักสากล จนทำให้เกิดคำถามต่อความจริงใจของรัฐบาลที่มีต่อนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ว่า แท้จริงแล้วมันเป็นเพียงคำสวยหรูที่ใช้เป็นเครื่องมือในการปรับโครงสร้างระบบราชการและรวมศูนย์อำนาจการสั่งการและควบคุมแบบเบ็ดเสร็จเพื่อให้สะดวกสำหรับการทำงานของรัฐบาลในฐานะ ‘Big brother’ ในยุคดิจิทัลใช่หรือไม่ ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป