เงินเฟ้อต่ำลง ไม่ใช่เงินฝืด

เงินเฟ้อต่ำลง ไม่ใช่เงินฝืด

ระยะหลังผมได้ยินคำว่าเงินฝืดบ่อยขึ้น ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกครับด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าถึงช้ามาก

หลายๆ ท่านคงได้ยินเสียงบ่นเรื่องเงินขาดมือ หรือ อาจไม่ขนาดขาดมือแต่ก็ไม่กล้าใช้จ่ายมากเท่าในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาการอย่างนี้ทำให้คำว่าเงินฝืดได้ยินกันบ่ายครั้ง

อัตราเงินเฟ้อที่ยังเป็นบวกแต่ต่ำลงเรื่อยๆ ? เงินฝืด

ในทางเศรษฐศาสตร์ภาวะเงินฝืด (deflation) คือภาวะที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ เรียกได้ว่าราคาสินค้าเฉลี่ยในท้องตลาดอยู่ในภาวะที่ลดลง ซึ่งเป็นอาการที่แสดงถึงภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ขาดกำลังซื้อ ซึ่งมีให้เห็นบ่อยครั้งในญี่ปุ่น (ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจทำการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ ซึ่งล่าสุดก็ได้มีการขยายโครงการนี้ออกไปอีก) สำหรับในไทยนั้นก็เคยเกิดภาวะนี้เช่นกันครับในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐช่วงปี 2009 เงินเฟ้อไทยติดลบ ติดต่อกันถึงเก้าเดือน

กลับมาสู่ภาวะปัจจุบันกันดีกว่าครับ อัตราเงินเฟ้อช่วงหลังในบ้านเราถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำครับเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคม อยู่ที่ระดับ 1.5% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา แม้จะลดลงเรื่อยๆ แต่ยังเป็นบวกนะครับ ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า disinflation ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็เนื่องมาจาก

1)ราคาน้ำมันโลกลดลงค่อนข้างมาก โดยราคาน้ำมันดูไบ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันหลักที่บ้านเราใช้กัน ลดลงกว่า 25% จากต้นปี

2)ราคาสินค้าประเภทอาหารซึ่งเป็นสินค้าหลักในตะกร้าผู้บริโภคก็มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำด้วย

3)สาเหตุสุดท้ายคือกำลังซื้อในประเทศที่ยังคงมีปัญหาอยู่ ทางฝั่งผู้ซื้อก็ไม่ค่อยจะกล้าซื้อของมากเหมือนเดิม ทางฝั่งผู้ขายก็ไม่กล้าตั้งราคาสูงเพราะกลัวขายไม่ออก ส่วนใหญ่จะเป็นการลดราคาเพื่อจูงใจให้ซื้อเสียด้วยซ้ำ

อัตราเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำไปจนถึงปลายปี 2015...

แนวโน้มราคาน้ำมันโลกน่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อไปในปีหน้า เนื่องจากภาวะอุปทานน้ำมันมากกว่าอุปสงค์ (oversupplied) น่าจะเกิดขึ้นต่อ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการที่ลิเบียกลับมาผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอิหร่านที่มีแนวโน้มจะสามารถส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้น รวมถึงการที่สหรัฐเองก็มีการผลิต shale oil เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ด้วยแนวโน้มราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำนี้เอง TISCO ESU มองว่าอัตราเงินเฟ้อในปี 2015 น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป โดยเฉลี่ยทั้งปีไม่น่าจะเกิน 2% ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าผลกระทบของค่าเงินบาทและการปฏิรูปพลังงานจะมีผลอย่างไรต่อราคาพลังงานในประเทศ แต่จากการประเมินท่าทีล่าสุดของกระทรวงพลังงาน เราคาดว่าผลของการปฏิรูปพลังงานไม่น่าจะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกเพิ่มขึ้นมากและเร็วจนเป็นความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจถูกเลื่อนออกไป (อีกครั้ง)

พูดถึงเงินเฟ้อแล้ว ก็หันมาดูแนวโน้มเศรษฐกิจกันบ้างครับ เดือนที่แล้วผมได้เขียนถึงการฟื้นตัวที่ช้าของเศรษฐกิจไทย ซึ่งล่าสุดจากตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกันยายนที่ออกมา เรายังไม่พบสัญญาณการฟื้นตัวมากเท่ากับที่คาดการณ์ไว้ การลงทุนยังคงเป็นตัวถ่วงหลัก โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนยังคงติดลบอยู่ถึง 5% โดยหากพิจารณาในไส้ในของดัชนีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นยอดขายปูนซีเมนต์ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ การนำเข้าสินค้าทุน ยอดขายเครื่องจักร และการอนุมัติพื้นที่ก่อสร้าง ทุกตัวยังส่งสัญญาณติดลบ

ภาคส่งออกแม้จะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ (+3% YoY) แต่การนำเข้ากลับมาเร็วกว่า (+14% YoY) ทำให้ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาดุลการค้าขาดดุลถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์ ส่วนภาคท่องเที่ยวด้วยกฎอัยการศึกที่ยังคงมีผลอยู่ จำนวนนักท่องเที่ยวยังคงติดลบที่ 7% (YoY)

อย่าเพิ่งหมดหวังครับ เราเริ่มเห็นการบริโภคภาคเอกชนเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวบ้างแล้วครับ โดยการบริโภคภาคเอกชนโต 1.2% ซึ่งหากดูไส้ในของดัชนีแล้วพบว่าเป็นการฟื้นตัวทั้งในแง่การบริโภคสินค้าและบริการ ยกเว้นยอดขายรถยนต์ที่ยังคงติดลบอยู่ถึง 30% (อย่างที่ทราบกันครับว่าผลของมาตรการรถคันแรกยังคงมีอยู่ ซึ่งช่วงหลังผมคิดว่าผลจากมาตรการนี้น่าจะเป็นตัวถ่วงหลักของเศรษฐกิจเลยก็ว่าได้)

โดยจากการวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนในช่วงไตรมาสที่3 เราคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 (ซึ่งจะประกาศในวันที่ 17 พฤศจิกายน) น่าจะโตได้เพียง 1% ซึ่งจะทำให้ 9 เดือนแรกที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะไม่มีการขยายตัวต่อไป สำหรับการเติบโตทั้งปีในปีนี้เราคิดว่ามีโอกาสค่อนข้างสูงที่เศรษฐกิจคงโตไม่ถึง 1.5% ซึ่งเป็นเลขที่เราคาดการณ์ไว้ครับ

ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ระดับ 2% ไปอีกอย่างน้อยจนถึงกลางปีหน้า

จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้า ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางท่านเริ่มมองว่าดอกเบี้ยนโยบาย อาจถูกปรับลดลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เรายังคงมุมมอง เดิมที่คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 2% ไปอีกอย่างน้อยจนถึงกลางปีหน้า แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นค่อนข้างช้า แต่เรายังไม่คิดว่าเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะ technical recession (เศรษฐกิจหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและปรับผลของฤดูกาลแล้ว) ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลง