ปริมณฑลทางการเมือง กับพร 12 ประการ

ปริมณฑลทางการเมือง กับพร 12 ประการ

ในทางรัฐศาสตร์ ผู้ปกครองหลากหลายสมัยต่างพัฒนาการกลไกต่างๆ เพื่อสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ

พร้อมกับสร้างเครื่องมือการปกครองที่ทำให้ประชาชนอยู่ภายใต้กฎระเบียบของสังคม โดยปราศจากการกระทบกระทั่งอันนำมาซึ่งความวุ่นวายของสาธารณชน

จากงานเขียนของอันโตนิโอ กรัมชี่ นักวิชาการด้านอำนาจรัฐคนสำคัญในวงการรัฐศาสตร์เคยวิเคราะห์ถึงการสถาปนาอำนาจและการคงไว้ซึ่งอำนาจรัฐได้อย่างน่าสนใจ โดยสะท้อนให้เห็นว่า ซีกหนึ่ง รัฐต้องใช้เครื่องมือทางกฎหมายและกำลังพลในการควบคุมคนในประเทศให้อยู่ในกรอบและระเบียบที่รัฐกำหนดไว้ ในขณะที่อีกซีกหนึ่งรัฐก็จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางวัฒนธรรมในการกล่อมเกลาประชาชนให้มีความเชื่อและอุดมการณ์ที่คล้อยตาม ซึ่งอาจผ่านสื่อมวลชนและช่องทางการรับรู้อื่นๆ ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นแบบเรียน หรือกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ ที่พึงจะมี ดังนั้น การขับเคลื่อนของรัฐที่ขยายพื้นที่เข้ามาสู่การรับรู้และวิถีชีวิตประจำวันจึงเกิดขึ้นอย่างไม่เว้นวาย แล้วแต่รูปแบบการปกครองและนโยบายของแต่ละรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแม้การบังคับใช้กฎหมายยังเป็นเครื่องมือหลักของรัฐอยู่ก็ตาม แต่ในสากลโลกพบว่า การใช้กำลังหรือความรุนแรงของรัฐที่มีต่อประชาชนถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องถูกจำกัดด้วยสิทธิของปัจเจกชนในสังคมประชาธิปไตย ในขณะที่การกล่อมเกลาทางการเมืองผ่านการคืบคลานเข้าสู่ปริมณฑลทางวัฒนธรรมนั้นเริ่มกลายเป็นอีกเครื่องมือหลักอันหนึ่งที่รัฐเริ่มหยิบมาใช้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐแต่ละแห่งจะมีความเนียนในกระบวนการดังกล่าวมากน้อยต่างกันเพียงใด

จากที่ผ่านมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีที่ประเทศไทยเผชิญหน้ากับอารมณ์ทางการเมืองอย่างไม่หยุดหย่อนจนเป็นความขัดแย้งและสร้างรอยร้าวไปตั้งแต่ระดับองค์กรจนไปถึงระดับปัจเจกบุคคล ทั้งนี้ ด้วยการอยากชนะคะคานในข้อถกเถียงของฝ่ายตนโดยมีเสื้อสีและขั้วการเมืองเป็นกองเชียร์ฟูมฟักอุดมการณ์หนุนอยู่เบื้องหลัง ทำให้เกิดเป็นสถานการณ์ที่สุกงอมจนอาจนำมาซึ่งการปะทะกันด้วยการใช้กำลังและนำมาสู่การนองเลือดระหว่างคนในชาติได้

การเข้ามาของ คสช. ด้วยเหตุของการพยายามสงบสถานการณ์ความรุนแรงอาจได้รับการตอบรับระดับหนึ่งจากกลุ่มกลางๆ ที่เหนื่อยหน่ายกับสงครามเสื้อสี ซึ่งดึงเอามวลชนลงมาเป็นเบี้ยหมากในการต่อสู้อย่างไม่เว้นวายอยู่บาง แต่เมื่อ คสช. ต้องสถาปนาอำนาจรัฐและขึ้นครองอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศ นับว่าเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่คนไทยต่างเฝ้าจับตามองอย่างไม่วางตา

นับตั้งแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศไทยคู่ขนานไปกับวิวาทะที่ว่าด้วยการปฏิรูป กระบวนการขับเคลื่อนการตรวจสอบโดยคณะสื่อมวลชนรวมถึงปัจเจกชนในโลกออนไลน์ก็เริ่มกลับมาคึกคักและจริงจังอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในเชิงนโยบาย รวมไปถึงกระบวนการทำงานขององคาพยพต่างๆ ของรัฐที่นำโดยรัฐบาล

หลากหลายนโยบายที่ออกมา แม้จะดูเป็นเจตจำนงทางการเมืองที่ต้องการให้คนในชาติมีความสมัครสมานสามัคคี หากแต่ด้วยความอนุรักษนิยมแฝงการบังคับใช้ที่ไร้ทางเลือกอาจดูไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านของโลกยุคปัจจุบัน ทำให้ผลตอบรับของนโยบายหลายๆ อันกลายเป็นการข้ามจากปริมณฑลทางการเมืองละเมิดก้าวล่วงไปสู่การปริมณฑลทางวัฒนธรรมที่มากขึ้น

ล่าสุดแนวคิดว่าด้วย ค่านิยม 12 ประการ ที่พยายามสถาปนาให้เป็นคุณค่าหลักที่คนในสังคมพึงยึดโยงและรับไปปฏิบัติใช้นี้ต้องบอกว่า โดยเนื้อแท้นั้น หลายๆ ประเด็นคือสิ่งที่คนไทยหลายคนต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งหากเทียบอุดมคติดังกล่าวกับสังคมของประเทศที่เจริญแล้ว จะพบว่าสังคมหลายแห่งต่างก็ใช่อุดมการณ์เหล่านั้นในการประกอบสร้างฐานความเชื่อในการเชื่อมโยงคนในประเทศเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความรักชาติ ความซื่อสัตย์ อดทน การใฝ่รู้ ความมีวินัย มีศีลธรรม ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม แม้เนื้อหาหลายๆ ข้อจะสะท้อนสังคมอุดมคติที่มีความเป็นสากลอยู่บ้าง แต่เนื่องมาจากกระบวนการยัดเยียดท่องจำที่ไม่เนียนเอาเสียเลย จึงส่งผลให้เกิดกระแสการต่อต้านจากกลุ่มเสรีนิยมที่พร้อมจะปฏิเสธข้อบังคับซึ่งไร้ทางเลือกดังกล่าว อันเนื่องมาจากการก้าวล่วงที่มากเกินไปของรัฐซึ่งกระทบสิทธิส่วนบุคคลในการเลือกที่จะดำเนินชีวิตของตน

การอ้างความรักชาติในแบบให้พร่ำเพรื่อและให้เชื่อตามกันจึงไม่เวิร์คในสังคมปัจจุบัน เพราะสิ่งที่จะปลูกฝังให้คนเห็นและคล้อยตามได้ดีที่สุดคือ การเรียนรู้จากต้นแบบของบรรดาคนดีที่อาสาเข้ามาดูแลบ้านเมือง รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นองคาพยพหลักของการขับเคลื่อนตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นข้ออ้างของความชอบธรรมให้คนกลุ่มเหล่านี้ได้มีพื้นที่ในการยึดอำนาจการบริหารประเทศได้

การตอบโต้ระหว่างท่านผู้นำกับนักข่าวอาวุโสในมุมของความรักและไม่รักชาติ อันเกิดจากประเด็นของการรายงานข่าวเกี่ยวกับการสืบสวนของนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษจึงเป็นเรื่องตลกร้าย ที่คนไทยต่างกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกกับการที่ต้องรักษาภาพลักษณ์ในฐานะเมืองท่องเที่ยวซึ่งมีแต่รอยยิ้มและไมตรี กับความป่าเถื่อนอันน่าเจ็บปวดแต่จริงของบ้านนี้เมืองนี้

วิวาทะหน้าไหว้หลังหลอกและพฤติกรรมพูดอย่างทำอย่างจึงกลายเป็นวัฒนธรรมของจริงที่ฝังรากอยู่ในสังคมไทย โดยแม้รัฐไทยจะพยายามสถาปนาอุดมการณ์และคุณค่า 12 ประการให้เป็นพรตั้งต้นในการปฏิรูปประเทศก็ไม่สามารถกลบเกลื่อนปัญหาและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมนี้ได้

ดังนั้น การตั้งค่านิยมให้ท่องจำเพื่อให้ผู้คนยึดมั่นแบบนกแก้วนกขุนทองจึงดูเป็นการส่งมอบอุดมการณ์และความเชื่อที่แข็งขืน ไม่ยืดหยุ่น และอาจย้อนแย้งกับบุคคลต้นแบบที่เป็นอยู่

ข่าวสารเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างไมค์ห้องประชุมที่แพงผิดปกติ เบี้ยประชุมและเงินงบประมาณมหาศาลของการปฏิรูปที่ต้องจ่ายให้บรรดา สนช. และ สปช. ไปจนถึงเงินในบัญชีของผู้มีอำนาจที่พอกพูนอย่างปัจจุบันทันด่วนอันหาเหตุไม่ได้จึงเป็นประเด็นที่ผู้คนเริ่มตั้งคำถามถึงคนดี ที่ท้ายสุดก็ดูจะไม่ต่างไปจากนักเลือกตั้งก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

ดังนั้น หากทางเลือกด้านธรรมาภิบาลและการไร้ซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อนไม่มีความชัดเจนแล้ว การจะให้ลูกหลานของบ้านนี้เมืองนี้ต้องยึดมั่นในค่านิยม 12 ประการก็คงเป็นเพียงการปลูกฝังวัฒนธรรมปากว่าตาขยิบของบ้านเราที่สอนให้เยาวชนมีปากไว้บอกว่ารักชาติ แต่ท้ายที่สุดพฤติกรรมกลับเป็นอื่น