พฤติกรรม ลักษณะนิสัย การทำงานกับคนพม่า

พฤติกรรม ลักษณะนิสัย การทำงานกับคนพม่า

ผมให้การบ้านกับ คุณทรงพล ไตรเนตร Country Manager ประจำประเทศพม่าของอินเด็กซ์ ให้ช่วยแชร์ประสบการณ์การทำงาน

กับคนพม่า ทำให้มีเรื่องราวที่น่าสนใจในมุมมองของคนที่ได้สัมผัสกับคนพม่า

ในฐานะคนที่ไปทำงานจริงๆ อยู่ที่ย่างกุ้งเกือบสองปี

คนต่างชาติส่วนใหญ่ที่ได้เข้าไปทำงานที่พม่าในระยะแรกๆ นั้น อาจจะมีความรู้สึกต่อคนพม่าไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ ประทับใจ และรู้สึกชื่นชอบในน้ำใจใสซื่อของคนพม่า ที่คิดอะไรตรงไปตรงมา และดูเป็นตัวของตัวเองแบบซื่อๆ จนกลายเป็นความน่ารักไปเสียอย่างนั้น หรือบางคนคิดไปเสียด้วยซ้ำว่าคำว่า "สยามเมืองยิ้ม" ของไทยเรานั้นเทียบไม่ได้เลยกับรอยยิ้มพิมพ์หมากของพี่หม่อง

แต่พอได้ไปลองใช้ชีวิตในพม่าสักพักหนึ่ง ไม่ใช่ในฐานะนักท่องเที่ยว แต่ในฐานะผู้ร่วมงานกับชาวพม่าจริงๆ เราจึงได้เรียนรู้เรื่องราว และวิธีคิดแบบพม่ารามัญมากขึ้น ดังนี้

คนพม่าพื้นฐานโดยรวมเป็นคนจิตใจดี ใสซื่อ ไม่คดโกง และมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ยกตัวอย่างเช่น ในร้านอาหาร หรือโรงแรม เราไม่จำเป็นต้องให้เงินทิปแก่บริกร และบริกรก็ไม่แม้แต่จะยืนรอด้วยซ้ำ ถึงแม้ว่ารายได้คนพม่าจะไม่มากก็ตามที

ของที่เราวางลืมไว้ หรือของหายแทบจะไม่เกิดขึ้นเลยในเมืองพม่า ยกตัวอย่าง เช่น ผมลืมร่มไว้ในร้านกาแฟ หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ผมกลับไปที่ร้านกาแฟร้านนั้น ร่มก็ยังคงอยู่ที่เดิม

“จ่ายสด งดเชื่อ เบื่อทวง” คนพม่านิยมทำธุรกิจกันด้วยเงินสด เป็นเรื่องลำบากของสังคมพม่าในเรื่องการซื้อของ เพราะในสังคมพม่าแต่ก่อนไม่มีบัตรเครดิต ไม่เชื่อถือในระบบธนาคารของรัฐ และเอกชน ฉะนั้นคนพม่าจึงเก็บเงินสดไว้ที่บ้าน และหอบไปซื้อของกันเป็นกองๆ นับและจ่ายเงินกันจนมือหงิกกันไปข้างหนึ่ง

"คนพม่านี้รักสงบ" จริงๆ ความคิดนี้ไม่ค่อยถูกต้องนัก เพราะหากมองผิวเผิน คนพม่าเหมือนจะเป็นคนง่ายๆ ชิลๆ ตามใจทุกคน ไม่เคยทะเลาะกับใครแรงๆ แต่ในการทำงานจริงๆ กับคนพม่านั้น เขามีความคิดเป็นของตนเอง และค่อนข้างดื้อเงียบ เพียงแต่คนพม่าเป็นคนที่ไม่ค่อยแสดงออกถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตน และมักจะมีนิสัยหนึ่งที่พบเห็นบ่อยๆ คือ พยักหน้ารับฟังเรา และพูดว่า โอเค โอเค ไอ โนว์ แต่เวลาปฏิบัติงานจริงกลับทำอีกอย่างหนึ่ง

"รู้ทุกเรื่อง" คนพม่าเป็นชนชาติที่มีฟอร์ม ไม่ยอมขายหน้า และเสียฟอร์มเลย ฉะนั้นคนพม่าจะไม่แสดงออกว่าตนไม่รู้ แม้ว่าที่จริงแล้วจะไม่เข้าใจในสิ่งที่คุยกันเลย ก็ตาม

"ไม่ยอมตกเทรนด์" ของใหม่มีที่ไหนขอให้บอก ในสังคมพม่าเมื่อมีสิ่งใหม่ๆ มา คนพม่าจะแห่แหนกันไปเสพตามกระแส Social Media หรือ Viral Marketing จึงใช้ได้ผลดีในพม่า โฆษณาชวนเชื่อและการบอกต่อจึงเป็นวิธีที่ได้ผลดีมาก

"นินทากาเลเหมือนเทน้ำ" อาจเพราะสังคมพม่าไม่เร่งรีบ เรื่องหนึ่งที่เป็นผลมาจากความว่างของชาวพม่าคือ เม้าท์มอยกันจนสนุกปาก เรียกได้ว่า เห็นใครดีกว่าเป็นไม่ได้ เห็นมดพูดเท่าช้าง ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจเลยสื่อหนังสือพิมพ์มักมีผลต่อสังคมในเรื่องคำวิจารณ์

"น้อยใจไปเสียทุกเรื่อง" คนพม่าเหมือนเด็กน้อย เวลาทำงานชอบให้ชมมากกว่าให้ติ ถึงแม้จะทำผิดก็ไม่ชอบฟังคำวิจารณ์ ชอบให้ชม และเยินยอเสมอ

"เหนื่อยนักพักซะเลย" ลองหลับตานึกภาพดูนะครับว่า พม่าวันนี้เหมือนเชียงใหม่ของเราเมื่อสามสิบปีก่อน ที่สังคมยังต๊ะยอนยอนกันอยู่เลย ไม่ชอบทำงานหนัก ไม่ดิ้นรน และไม่ขวนขวาย ถ้าเหนื่อย หรือถูกกดดันมากๆ จากการทำงาน ก็จะลาออกไปเลยซะดื้อๆ โดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น และนี่เป็นปัญหาหลัก หลังจากพม่าเปิดประเทศ และมีบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุน คนพม่าจึงไม่อยากทำงานด้วย เพราะทนแรงกดดันไม่ไหว

"ทะเยอทะยานแต่ไม่ขวนขวาย" คนพม่าอยากได้ดี และอยากประสบความสำเร็จ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ค่อยขวนขวาย ส่วนมากมักจมปลักอยู่กับสิ่งเดิมๆ

ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราว และมุมมองจากคนได้ไปทำงานจริง และคลุกคลีกับคนพม่า อย่างน้อยก็เป็นข้อมูลเบื้องต้น สำหรับคนที่จะต้องไปร่วมงานกับคนพม่าในอนาคตได้นะครับ