ปัญหาทางสองแพร่งของนักโทษกับการเมือง

ปัญหาทางสองแพร่งของนักโทษกับการเมือง

สมมติมีนักโทษสองคนถูกจับและถูกนำตัวไปสอบสวนแยกกัน ตำรวจพยายามหว่านล้อมให้นักโทษแต่ละคนรับสารภาพ

และให้การซัดทอดนักโทษอีกคน โดยเสนอจะให้รางวัล เช่น ลดโทษให้หรือยอมปล่อยตัวคนที่รับสารภาพ สมมติต่อไปว่า 1) ทั้งนักโทษ ก. และนักโทษ ข. ต่างรู้แผนผลตอบแทนข้างต้นของตำรวจ 2) ทั้งคู่ต้องตัดสินใจพร้อมกันว่าจะร่วมมือหรือไม่ร่วมมือ-----ร่วมมือคือ ไม่รับสารภาพ ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเลือกทำแบบใด และไม่ร่วมมือคือ สารภาพ ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเลือกทำแบบใด-----และ 3) ทั้งคู่ถูกปิดโอกาสไม่ให้พูดคุยกันก่อนที่จะตัดสินใจ ในสถานการณ์เกมเช่นนี้ ผลก็คือ มันไม่แปลกที่จะพบว่า การไม่ร่วมมือกลายเป็นยุทธศาสตร์เด่น โดยให้เราลองใช้เหตุผลดังต่อไปนี้ :

สมมุติว่าคุณเป็นนักโทษ ก. และคุณเลือกที่จะไม่ร่วมมือ-นั่นคือ รับสารภาพ----แต่อีกฝ่ายหนึ่งเลือกที่จะร่วมมือ-นั่นคือ ไม่รับสารภาพ----คุณก็จะได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องติดคุกเลย ขณะที่อีกฝ่ายต้องติดคุก ๑๐ ปี แต่ถ้าคุณและเขา ทั้งคู่ตัดสินใจไม่ร่วมมือกัน นั่นคือ ทั้งคู่หรือต่างฝ่ายต่างรับสารภาพ คุณและอีกฝ่ายก็จะติดคุกกันคนละ ๕ ปี ซึ่งสำหรับคุณแล้ว ย่อมเป็นผลลัพธ์ที่แย่กว่าการไม่ต้องติดคุกเลย และเมื่อคุณคิดคำนวณมาถึงจุดนี้ คุณก็สามารถคิดต่อไปได้อีกว่า

ถ้าทั้งคุณและอีกฝ่ายต่างตัดสินใจร่วมมือ นั่นคือ ทั้งคู่ต่างไม่รับสารภาพ ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณและอีกฝ่ายก็จะติดคุกกันแค่คนละ 2 ปี หรือเท่ากับติดคุกรวมกัน 2 ปี ซึ่งเมื่อมองจากจุดยืนของคุณและนักโทษ ข. อันเป็นจุดยืนของทั้งสองคนรวมกัน ย่อมดีกว่าการที่นักโทษ ข. ต้องติดคุกคนเดียว 10 ปี หากคุณเลือกที่จะสารภาพเพื่อเอาตัวรอด ในแง่นี้การร่วมมือโดยการไม่สารภาพจึงเป็นการกระทำที่เป็นเหตุเป็นผลที่สุด หากมองจากจุดยืนของพวกคุณทั้งสองคน ขณะที่การรับสารภาพเป็นยุทธศาสตร์เด่นหรือยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดจากจุดยืนของตัวคุณคนเดียว เมื่อคุณไม่รู้ว่าอีกฝ่ายจะเลือกทำแบบใด

แต่มีเหตุผลทางจิตวิทยาที่จะทำให้คุณและนักโทษ ข. เลือกที่จะใช้ยุทธศาสตร์เด่นแทนที่จะร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของทั้งคู่ เนื่องจากหากคุณใช้เหตุผลมาถึงตรงนี้และคุณสามารถจินตนาการได้ว่านักโทษ ข. ก็น่าจะใช้เหตุผลแบบเดียวกันกับคุณ คุณก็น่าจะสรุปว่า อย่างไรเสียนักโทษ ข. คงเลือกที่จะร่วมมือเพื่อรับโทษกันแค่ ๒ ปี แต่ถ้าคุณสรุปว่า นี่คือสิ่งที่นักโทษ ข. น่าจะทำ ขณะเดียวกัน ความเห็นแก่ตัวของคุณอาจทำให้คุณคิดต่อไปอีกว่า ถ้าเช่นนั้น คุณจะสามารถได้ประโยชน์มากขึ้นอีกจากการรับสารภาพ เพื่อที่จะไม่ต้องติดคุกเลยซึ่งย่อมดีกว่าการติดคุก 2 ปีแน่ๆ ในทางกลับกัน นักโทษ ข. เมื่อคิดมาถึงตรงนี้ก็จะได้ข้อสรุปแบบเดียวกันกับคุณอีกเช่นกัน นั่นคือ คุณน่าจะเลือกที่จะร่วมมือ และถ้าเขาคิดคำนวณคาดคะเนได้เช่นนั้น เขาก็อาจตัดสินใจหักหลังด้วยการไม่ร่วมมือ เพื่อที่เขาจะได้ประโยชน์สูงสุด นั่นคือ การไม่ต้องติดคุกเลยเช่นกัน และเมื่อพวกคุณตัดสินใจเช่นนี้ด้วยกันทั้งคู่ มันก็จะลงเอยผลลัพธ์ที่พวกคุณจะได้รับ นั่นคือติดคุก 5 ปี ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ด้อยกว่า 2 ปี ที่พวกคุณทั้งคู่จะได้รับ หากเลือกใช้หนทางที่เป็นทางออกร่วมกัน

จากตัวแบบ “ทางสองแพร่งนักโทษ” นักทฤษฎี rational choice อย่าง Jon Elster ได้นำมาใช้ทำความเข้าใจกรณีการเกิดประชาธิปไตยเอเธนส์ เขาเห็นว่า มันเป็นผลจากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ต่างฝ่ายตระหนักในพลังของมวลชน และเห็นว่ามันสามารถเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ในการต่อสู้ทางการเมืองของพวกเขาได้ ชนชั้นนำเหล่านั้นต่างพากันสนับสนุนให้อำนาจมวลชนอย่างแข็งขัน โดยหวังให้ส่งผลให้พวกเขาสามารถเอาชนะอีกฝ่ายได้ แต่ผลกลับตาลปัตร ด้วยพวกเขาไม่สามารถสร้างควบคุมอำนาจของมวลชนเหล่านั้นไว้ได้ มวลชนกลับมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผลดังกล่าวมิได้เป็นความตั้งใจที่แท้จริงของกลุ่มชนชั้นนำ

จากกรณีดังกล่าว เห็นได้ว่า ชนชั้นนำทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในสถานการณ์ทางสองแพร่งของนักโทษ จากการพยายามที่จะเอาชนะคะคานอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเต็มกำลัง ผ่านการหวังใช้อำนาจมวลชนเป็นเครื่องมือ โดยไม่คิดในมิติของการร่วมมือกันเลย ทำให้พวกเขาสูญเสียอำนาจให้มวลชนไป

ในการเมืองไทย อาจตีความได้ว่า ขั้วการเมือง 2 ฝ่ายต่างขับเคี่ยวกันอย่างถึงที่สุด ไม่เคยเห็นมิติสุดท้ายของการอยู่รอดร่วมกัน จนลงเอยด้วยการที่ “ทหาร” ขึ้นสู่อำนาจท่ามกลางความสูญเสียของขั้วการเมืองทั้งสอง ส่วนรัฐประหารครั้งนี้จะเข้าข่ายรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตยหรือจะลงเอยด้วยการที่สังคมไม่สามารถสร้างสถาบันทางการเมืองที่ควบคุมอำนาจกองทัพไว้ได้กลายเป็นรัฐประหารแบบที่ทำลายประชาธิปไตย หรือไม่นั้น เราก็คงต้องเฝ้าดูและตรวจสอบกันต่อไปอีกชั้นหนึ่ง ดังที่ผู้เขียนได้เคยตั้งคำถามไว้ก่อนหน้านี้ (กรุงเทพธุรกิจ 10ก.ค. 2557) ต่อประเด็น "การเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นธรรม" และ "การส่งผ่านสู่อำนาจสู่ผู้นำทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย"

[ทุนสนับสนุนจากโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2557 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (WCU-071-HS-57)]