"ตอบโจทย์" ไทยพีบีเอสว่าด้วยรัฐราชการ

"ตอบโจทย์" ไทยพีบีเอสว่าด้วยรัฐราชการ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากอดีตจนถึงปัจจุบัน รัฐไทยยังคงดำรงอยู่บนฐานของการเป็นรัฐราชการ

ซึ่งมีพัฒนาการมาจากระบบอำมาตยาธิปไตย ตั้งแต่เริ่มการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ปัจจุบัน เกือบทุกช่วงชั้นของกิจกรรมและหลายๆ อณูในการดำรงชีวิตของคนไทย จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับภาครัฐ ภาคราชการไม่ทางตรง ก็ทางอ้อม ตั้งแต่เกิดจนตาย

แม้ว่าปัจจุบัน รัฐไทยจะมีการปรุงแต่งให้ดูทันสมัยขึ้นตามกาลเวลา ตกแต่งให้ดูสวยงามขึ้นตามแบบตะวันตก หากแต่ในเนื้อแท้ของรัฐไทยยังฝังรากด้วยวัฒนธรรมองค์กรในแบบอำมาตย์ๆ ที่มักจะเน้นกฎระเบียบเป็นที่ตั้ง ผูกขาดไว้ซึ่งนิยามของคุณธรรมและความดีงาม ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะใช้มาตรการแบบศรีธนชัยเมื่อสบช่อง เพียงเพื่อเอาตัวรอดและหากตำแหน่งแห่งหนในการโปรโมทตัวบุคคลมากกว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนในประเทศ

แน่นอนว่าระบบอำมาตย์แบบนี้หาได้มีตัวบุคคลหรือตัวตนของแกนนำที่ชัดเจนอย่างที่กลุ่มคนเสื้อแดงเคยพยายามชี้เป้าไม่ หากแต่มันคือวัฒนธรรมที่ฝังรากในสังคมไทย ซึ่งไม่ว่าใครขึ้นมามีตำแหน่งแห่งหนในระบบราชการก็มักจะถูกกลืนกินด้วยบริบท สายการบังคับบัญชา และกฎระเบียบที่พร้อมจะบีบคั้นหากบุคคลนั้นไม่คิดจะยอมโอนอ่อนผ่อนตามวัฒนธรรมที่ว่า

ความเลวร้ายของวัฒนธรรมระบบราชการเข้าสู่จุดวิกฤติเมื่อ รัฐราชการขยายตัวเข้ามาสู่ปริมณฑลของตลาด พร้อมกับการไม่หยุดแผ่ขยายอุดมการณ์แบบรัฐราชการให้หยุดอยู่เฉพาะในปริมณฑลทางการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังแทรกตัวไปยังปริมณฑลทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คน ในนามของผู้ผูกขาดคุณธรรมและความดีงามในสังคมอีกด้วย

ปรากฏการณ์ขยายอาณาจักรของวัฒนธรรมราชการมาสู่ปริมณฑลทางวัฒนธรรมของคนไทยนี้เอง ส่วนหนึ่งนับว่าเกิดจากการสมยอมของคนไทยที่อยู่ภายใต้การปกครองนี้เอง เนื่องด้วยเราเป็นชนชาติที่มีระบบอาวุโส เชื่อว่าการตามหลังผู้ใหญ่หมาจะไม่กัด ดังนั้น การคุกคามของรัฐราชการที่เข้าแทรกแซงในปริมณฑลทางวัฒนธรรมจึงบรรจบรวมกลายเป็นวัฒนธรรมร่วมของไทยแบบกลายพันธุ์ ภายใต้การปกครองที่เห็นว่า รัฐราชการผู้รักษากฎระเบียบคือ "ผู้ใหญ่" ที่คอยสอดส่อง ความไม่ดีงามในสังคมให้กับเด็กๆ ซึ่งในที่นี้ก็คือ ประชาชนคนไทยภายใต้การปกครองนั่นเอง

หลายๆ ครั้ง การแทรกแซงของรัฐไทยในพื้นที่ทางวัฒนธรรมมักกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นอยู่บ่อยครั้งบนหน้าสื่อ ทั้งในแบบที่มี "ผู้ใหญ่" ออกมาคอยตักเตือน รวมไปถึงการยกกฎระเบียบร้อยแปดมาระบุเกณฑ์ของความดีงามทางวัฒนธรรมที่สื่อมวลชนควรจะเป็น จนท้ายที่สุด ส่งผลให้ปริมณฑลทางวัฒนธรรมกลายเป็นพื้นที่เล่นหลักของรัฐราชการไทยในการแสดงแสนยานุภาพทางคุณธรรม แทนที่ปริมณฑลทางการการเมืองอย่างที่มันควรจะเป็น

การตอบโต้อำนาจของรัฐราชการในสื่อไทยหลายๆ ครั้งถูกทำให้กลายเป็นเรื่องตลกที่เสียดสีกันในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเบลอภาพโป๊เปลือย ร่องอกดารา นักแสดงหรือเซเลบ ทั้งที่มีตัวตนจริงและอยู่ในโลกเสมือนอย่างการ์ตูน ไปจนถึงปกปิดภาพกิจกรรมการเสพเหล้าและบุหรี่ อันถือเป็นกิจสาธารณะที่รัฐราชการไทยเห็นควรให้อำพราง พร้อมกับการทุ่มเงินมหาศาลกับแคมเปญงดเหล้า-เลิกบุหรี่ ด้วยเหตุผลทางคุณธรรมและจริยธรรมของสังคมอันดีงาม โดยไม่เฉลียวใจถึงความเป็นเหตุเป็นผลที่ควรเปิดพื้นที่ให้คนในสังคมได้คิดเอง

กรณีการแทรกแซงของรัฐไทย ต่อเนื้อหารายการที่ล่อแหลมอย่างการเปิดพื้นที่ให้ได้ถกเถียงในปริมณฑลทางการเมืองดังเช่นที่เกิดขึ้นกับรายการตอบโจทย์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเองก็นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงแสนยานุภาพของรัฐราชการไทยที่ลงมาดูลึกถึงระดับเนื้อหา จนเรียกได้ว่าเป็นการมอนิเตอร์สื่อแบบคำต่อคำในบทสนทนาของรายการเลยทีเดียว โดยผลของมติ กสท. ได้ระบุให้ทางสถานีเสียค่าปรับเป็นจำนวน 5 หมื่นบาท ซึ่งแม้จะเป็นเงินไม่มาก แต่ทำลายบรรยากาศเสรีของการทำงานสื่อได้อยู่มากโข ส่งผลให้ความเป็นเหตุเป็นผลของการทำงานภายใต้กรอบของนักวิชาชีพสื่อ ซึ่งผ่านกระบวนการคิดอย่างถี่ถ้วนและท้าทายกลายเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมนี้ไป ประหนึ่งพิธีกรรมการตอนหมันให้ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงที่มาของเหตุและผลในสังคมนี้ต้องหยุดการเจริญเติบโต

แม้ค่าปรับ 5 หมื่นจะเป็นเงินเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้รับจากภาษีประชาชนในการดำเนินงานของสถานีไทยพีบีเอสก็ตาม แต่ค่าเสียโอกาสของสื่อมวลชนไทยในการที่จะนำประเด็นท้าทายมาทำอะไรที่สร้างสรรค์ เพื่อปูความเป็นเหตุเป็นผลให้กับสังคมนี้ดูจะราคาแพงเกินกว่าที่จะรับได้

ความสมยอมต่อรัฐราชการที่ค่อยๆ ขยายตัวแทรกซึมแผ่อาณาจักรมายังอุดมการณ์ ความคิด และวิถีชีวิตของผู้คนผ่านการครอบงำในปริมณฑลทางวัฒนธรรม จึงนำมาสู่การทำตัวเป็น "เด็กดี" ของสื่อไทยที่ไม่เพียงเลี่ยงไปเล่นกับประเด็นดราม่าแบบวันต่อวันเท่านั้น หากแต่บางครั้งยังเป็น "เด็กดื้อ" แบบมีเป้าหมาย เพียงเพื่อจะล่อให้รัฐราชการไทยติดกับดักความเชยของตัวเองด้วยการนำเสนอประเด็นล่อแหลมในเรื่องเพศและความรุนแรงแบบฉาบฉวย แต่หาได้ตั้งประเด็นท้าทายด้วยเหตุผลและข้อมูลเชิงลึกที่จะปูทางให้สังคมไทยคิดได้และมีวุฒิภาวะได้ด้วยตัวเอง

วงจรอำนาจในปริมณฑลทางวัฒนธรรมของรัฐราชการไทยกับสื่อไทยจึงเป็นเกมของการเอาตัวรอดไปวันๆ ซึ่งเมื่อประเด็นท้าทายแบบมีเหตุมีผลถูกทำให้เป็นเรื่องต้องห้ามแล้วไซร้ สังคมไทยก็คงต้องดำรงอยู่บนฐานของอารมณ์มากกว่าความเป็นเหตุเป็นผลกันต่อไป