บอกรักด้วยช็อกโกแลต

บอกรักด้วยช็อกโกแลต

ใครเป็นแฟนการ์ตูนวัยรุ่นของญี่ปุ่นต้องคุ้นเคยกับฉากยอดฮิตที่สาวน้อยนักเรียนมัธยมปลายแอบหลงรักรุ่นพี่

ซึ่งเป็นดาวเด่นหรือไม่ก็เป็นประธานชมรมกีฬา ส่วนมากหนีไม่พ้นชมรมเบสบอล ฟุตบอล หรือไม่ก็ชมรมการต่อสู้สารพัดแบบ พอถึงวันวาเลนไทน์ สาวเจ้าก็จะเอาช็อกโกแลตที่ตั้งใจทำเป็นพิเศษใส่กล่องผูกโบมามอบให้ หากรุ่นพี่รับไว้ สาวเจ้าจะรู้สึกเป็นสุขราวกับได้รุ่นพี่คนนั้นมาเป็นแฟนเรียบร้อยแล้ว ถ้าโดนปฏิเสธกลับมา ก็จะมีฉากเศร้ารันทดวิ่งร้องไห้น้ำตาคลอ รำพึงรำพันถึงความรักที่ผิดหวัง เพื่อเรียกคะแนนสงสารจากคนอ่าน อิทธิฤทธิ์ของช็อกโกแลตที่มีต่อชีวิตรักของสาวน้อยแดนปลาดิบมันช่างน่ากลัวเสียเหลือเกิน

วัฒนธรรมการให้ช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1936 ต้นคิดของเรื่องนี้มาจากบริษัทช็อกโกแลตชื่อ โมโรซอฟ แต่ก็ไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้างอะไรขึ้นมาทันที สาเหตุสำคัญที่ทำให้การสร้างกระแสยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะญี่ปุ่นไม่ได้เป็นสังคมคริสต์ และยังเป็นสังคมค่อนข้างปิด คนญี่ปุ่นจำนวนแค่หยิบมือเดียวที่เคยเห็นฝรั่ง ดังนั้นกิจกรรมส่วนใหญ่จึงจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มคนที่นับถือศาสนาคริสต์และคนที่มีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมของฝรั่งมังค่าเป็นอย่างดี

กว่าช็อกโกแลตจะแจ้งเกิดได้ ก็ต้องรอไปอีกยี่สิบกว่าปี ในปี ค.ศ. 1958 บริษัทช็อกโกแลตของญี่ปุ่นได้จับมือกันประกาศให้วันวาเลนไทน์เป็นวันที่หญิงสาวต้องบอกรักกับชายหนุ่มที่ตนมีใจด้วยการมอบช็อกโกแลตให้กับเจ้าหนุ่มคนนั้น

การสร้างกระแสครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาแบบปุบปับ บริษัทช็อกโกแลตเหล่านี้เห็นโอกาสทางการตลาดที่ชัดเจน เพราะวัฒนธรรมของญี่ปุ่นไม่เคยมีพื้นที่ให้กับผู้หญิง สังคมญี่ปุ่นคาดหวังให้ผู้หญิงต้องอยู่ในโอวาท อยู่ใต้อำนาจของผู้ชาย อยู่ในบ้านก็ต้องฟังผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชาย หรือถ้าออกไปทำงานก็เป็นได้แค่พนักงานประจำ ทำแต่งานเดิมๆ คอยรับคำสั่ง แทบไม่มีโอกาสก้าวหน้าไปสู่ระดับบริหาร จะแต่งงานกับใครก็ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ รันทดได้ขนาดนั้น

ภายใต้วัฒนธรรมแบบนี้ การที่ผู้หญิงจะบอกรักผู้ชายก่อนย่อมเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ หญิงสาวแดนปลาดิบเลยต้องเก็บกดหัวอกกลัดหนอง ได้แต่คอยแอบมอง แทบไม่มีโอกาสเปิดเกมรุกเลย ไม่รู้ว่าหญิงสาวชาวญี่ปุ่นจำนวนสักเท่าไหร่ที่เสียโอกาสจะได้สานสัมพันธ์ความรักกับชายที่ตนหมายตาไว้ เพราะกำแพงทางวัฒนธรรม

การเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีวันที่สามารถทำอะไรอย่างที่ตัวเองต้องการได้ปีละวัน ก็ไม่ต่างอะไรกับการเปิดประตูน้ำปล่อยให้น้ำที่ถูกเก็บกักในเขื่อนได้ทะลักออกมา เพียงแค่สองปีหลังจากเริ่มสร้างกระแส ยอดขายช็อกโกแลตในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ก็พุ่งพรวดแบบฉุดไม่อยู่

เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อกระแสช็อกโกแลตฟีเวอร์ทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของญี่ปุ่นยุคใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว บริษัทเหล่านี้ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงเป็นชายล้วน ยังหาทางถลุงเงินในกระเป๋าหญิงสาวได้อีกรอบด้วยการขยายขอบเขตการให้ช็อกโกแลตวันวาเลนไทน์ไปยังคนในครอบครัว เพื่อนฝูง และเพื่อนร่วมงาน กลายเป็นว่า ถึงวันวาเลนไทน์ทีนึง หญิงชาวญี่ปุ่นต้องหอบช็อกโกแลตไปแจกคนทั่วไปหมด แถมยังต้องมานั่งรัดเข็มขัดประหยัดเงินไปอีกหลายเดือนเพื่อชดเชยกับเงินที่ต้องจ่ายไปในช่วงวันแห่งความรัก

ยิ่งช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ สาวเจ้ายังต้องลำบากหนักเข้าไปอีก เพราะนอกจากจะต้องแจกช็อกโกแลตให้กับคนรอบตัว แถมก็ต้องตีโจทย์ให้แตกอีกว่า จะเลือกช็อกโกแลตแบบนี้ถึงเหมาะกับชายที่เป็นหวานใจของตัวเอง ยิ่งถ้าคนที่หมายตาไว้มีคนมาชอบพอหลายคน ก็ยิ่งต้องมีการแข่งขันกัน หากให้เขาไปแล้วสู้ของคู่แข่งไม่ได้ทางรักของตัวเองอาจมีสิทธิ์ถึงทางตันได้

ทางออกมีอยู่แค่สองทาง ทางแรกคือยอมกัดฟันหมดตัวซื้อช็อกโกแลตนำเข้าราคาแพง ซึ่งบางแท่งอาจมีราคาเกือบหมื่นบาทเลยทีเดียว หากสภาพคล่องไม่เป็นใจหรือรู้สึกชอบของสำเร็จรูป ทางเลือกที่เหลือคือต้องทำมันเสียเอง สาวน้อยจำนวนไม่รู้เท่าไหร่ที่ต้องยืนเข้าแถวเป็นนานสองนานเพื่อซื้อวัตถุดิบ ต้องทนแสบทนร้อนหัดทำช็อกโกแลตครั้งแล้วครั้งเล่าจนมั่นใจว่าช็อกโกแลตของตนใช้ได้จริงๆ ส่วนบริษัทช็อกโกแลตและอุปกรณ์การผลิตช็อกโกแลตทั้งหลายต่างก็นั่งยิ้มร่ารับทรัพย์ไปตามระเบียบ

ในปี ค.ศ. 1965 บริษัทผลิตขนมมาร์ชเมลโลรายหนึ่งเกิดไอเดียว่า การจะให้เคราะห์กรรมจะตกอยู่กับฝ่ายหญิงเท่านั้นดูจะเป็นเรื่องไม่ค่อยสมเหตุสมผล ฝ่ายชายเองก็ควรแสดงความรับผิดชอบออกมาบ้าง จะปล่อยให้ฝ่ายหญิงเสียเงินเพียงฝ่ายเดียวได้ยังไง ก็เลยมีการสร้างกระแสวัน White Day ซึ่งตรงกับวันที่ 14 มีนาคม ในวันนี้ผู้ชายต้องซื้อของขวัญตอบแทนให้กับผู้หญิงที่ได้ให้ช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์ และคงไม่มีอะไรจะเหมาะสมไปกว่าการให้ขนมมาร์ชเมลโลสีขาวอีกแล้ว เจ้าขนมสีขาวนี่เองที่ได้กลายเป็นชื่อวัน White Day

กระแสนี้เข้าทางของบริษัทช็อกโกแลตพอดี เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทเหล่านี้พอจะสังเกตเห็นแล้วว่า หญิงชาวญี่ปุ่นเริ่มรู้สึกไม่ค่อยดีกับการที่ต้องเสียเงินเสียทองเสียเวลาเพื่อซื้อช็อกโกแลตไปแจกผู้ชายที่ไม่ใช่คนรักของตน ยอดขายของช็อกโกแลตในส่วนนี้ก็เริ่มชะลอตัวลง ประกอบกับผลสำรวจพฤติกรรมของผู้ชายในช่วงนั้น พบว่า กว่าร้อยละ 90 ยินดีที่จะใช้ช็อกโกแลตกับผู้หญิงในวันวาเลนไทน์ แทนที่จะรอรับจากผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว ด้วยเหตุนี้ การทำตลาดผู้ชายด้วยการโหนกระแส White Day จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลทางธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ ผู้ชายที่ไปตามกระแส White Day เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช็อกโกแลตสีขาวและสีน้ำตาลถูกผู้ชายซื้อเพิ่มขึ้นทุกปี

มองย้อนกลับไปแล้ว แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์จะกลายเป็นประเทศที่คลั่งไคล้วันวาเลนไทน์เป็นอันดับต้นๆ ของโลก งานนี้ต้องให้เครดิตกับบริษัทช็อกโกแลตที่จับมือกันอย่างเข้มแข็ง จนสามารถทำลายกำแพงทางวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้หญิงสาวสามารถแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาได้ แม้จะต้องเสียเงินไปไม่น้อยก็ตาม

ขนาดญี่ปุ่นยังเสียท่าให้ช็อกโกแลตได้ แล้วไข่เค็มไชยาที่ทาสีสดใสเป็นลายสวยงามจะกลายเป็นของขวัญในวันอีสเตอร์ของฝรั่งไม่ได้เชียวหรือ ของแบบนี้ไม่เชื่ออย่าลบหลู่จะดีกว่า