ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) กับอนาคตของประเทศไทย (1)

ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) กับอนาคตของประเทศไทย (1)

ในตอนนี้ผมขอมาพูดถึงเชื้อเพลิงอีกชนิดหนึ่งซึ่งคาดการณ์กันว่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทยในอนาคต

ซึ่งก็คือก๊าซธรรมชาติเหลว หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Liquefied Natural Gas หรือที่เราอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่าก๊าซ LNG

ก๊าซ LNG ก็คือก๊าซธรรมชาตินั่นเองแต่นำมาผ่านกระบวนการที่เราเรียกกันว่า Liquefaction ซึ่งก็คือการนำก๊าซธรรมชาติที่มีสถานะเป็นไอนั้นมาลดอุณหภูมิลงไปอยู่ที่ประมาณ -160 องศาเซลเซียส ซึ่งการลดอุณหภูมินั้นก็จะทำให้ก๊าซธรรมชาติที่มีสถานะเป็นไอนั้นแปรสภาพไปเป็นของเหลว ซึ่งการทำเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการช่วยให้เราสามารถขนส่งก๊าซธรรมชาติในระยะทางไกลๆ ได้มากขึ้น

ถามว่าทำไม ก็เพราะก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้จากแหล่งผลิตที่มีสถานะเป็นไอนั้น เวลาขุดได้ก็จะต้องขนส่งไปยังผู้ใช้ซึ่งโดยปกติแล้วก็จะใช้วิธีการขนส่งทางระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การนำก๊าซธรรมชาติที่มีสถานะเป็นไอเป็นบรรจุในถังเก็บเพื่อขนส่งนั้นจะไม่ทำกันเพราะขนส่งได้ในปริมาณที่น้อยและไม่คุ้ม การขนส่งทางท่อจึงเป็นการขนส่งที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการขนส่งก๊าซธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม การขนส่งทางท่อก็มีข้อจำกัดเนื่องจากหากต้องมีการขนส่งก๊าซไปในระยะทางที่ไกลมากๆ หรือจากทวีปหนึ่งสู่ทวีปหนึ่งนั้นที่มีระยะทางหลายพันกิโลเมตร การขนส่งทางท่อก็เริ่มที่จะไม่คุ้มทุน เพราะต้องมีการลงทุนก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่สูงมากๆ ดังนั้น การนำก๊าซธรรมชาติมาแปรสภาพให้เป็นของเหลว หรือก๊าซ LNG นั้นจึงเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง

เช่นเดียวกัน การขนส่งก๊าซ LNG นั้นก็จะไม่คุ้มทุนหากต้องมีการขนส่งในระยะใกล้ๆ จึงต้องมีการพิจารณากันว่าขนส่งอย่างไหนจึงจะคุ้มกว่ากัน ซึ่งจากการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายๆ ที่ทั่วโลกก็ประมาณกันว่าก๊าซธรรมชาติหากจะขนส่งในรูปของก๊าซ LNG แล้วจะคุ้มกว่าการขนส่งทางท่อที่ระยะทางการขนส่งอยู่ในช่วง 1,000 ถึง 2,000 ไมล์ (ประมาณ 1,700 ถึง 3,400 กิโลเมตร) แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเปรียบเทียบกับท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลหรือบนบก หรือขนาดของท่อส่งก๊าซธรรมชาติด้วยว่ามีขนาดเท่าใดด้วย

เมื่อเปรียบเทียบการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลเทียบกับบนบก ต้นทุนการก่อสร้างท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลนั้นจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าต้นทุนการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเมื่อระยะทางเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เท่ากัน ขนาดของท่อที่เล็กก็จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของระบบท่อสูงกว่าท่อที่มีขนาดที่ใหญ่กว่า

แล้วก๊าซ LNG นั้นเข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่อภาคการใช้พลังงานของประเทศไทยอย่างไร รวมถึงจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร

เราก็ต้องมาดูกันก่อนว่าการใช้พลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยเป็นอย่างไร ซึ่งก๊าซธรรมชาตินั้นสามารถผลิตได้ในประเทศและส่วนใหญ่นั้นก็มาจากการสำรวจและผลิตในอ่าวไทยของบ้านเรา โดยจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่สามารถจัดหาได้ในประเทศทั้งบนบกและในทะเลรวมกับที่จัดหาได้จากแหล่งในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย ในเดือนมิถุนายน 2557 อยู่ที่ 3,989 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งปริมาณที่จัดหาได้ดังกล่าวนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศที่มีการใช้เฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 4,761 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จึงต้องมีการนำเข้ามาจากประเทศพม่าและนำเข้ามาในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่ม

แต่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อเราไปดูปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่เหลืออยู่แล้วมาเปรียบเทียบกับความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีก็จะเห็นว่าก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศมีแนวโน้มที่จะลดลงทุกปี และหากเราไม่สามารถสำรวจเจอก๊าซธรรมชาติจากแหล่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ปริมาณก๊าซธรรมชาติในประเทศก็อาจจะลดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเมื่อก๊าซในประเทศลดลงเรื่อยๆ เราก็จะต้องหันไปพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งปัจจุบันก็มีแต่ก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากประเทศพม่าเท่านั้น และดูมีแนวโน้มว่าก๊าซธรรมชาติที่เรานำเข้าจากประเทศพม่านั้นก็จะลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพราะทางประเทศพม่านั้นมีการนำก๊าซธรรมชาติไปใช้ในประเทศของตนเองมากขึ้นซึ่งก็เป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของประเทศพม่าเอง

ดังนั้นสุดท้ายแล้ว เราก็จะต้องไปหาแหล่งก๊าซธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งก็เหลือเพียงการนำเข้าก๊าซ LNG ทางเรือเท่านั้น และก็ดูมีแนวโน้มว่าการนำเข้าก๊าซ LNG นั้นจะเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทั้งนี้ก็เพราะความต้องการก๊าซธรรมชาติในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ในคราวหน้าผมจะมาพูดต่อในเรื่องของความต้องการก๊าซ LNG ของประเทศไทยในอนาคต รวมไปถึงเรื่องของตลาดก๊าซ LNG ในโลก และผลกระทบจากราคาก๊าซ LNG ทั้งทางตรงต่อผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติและทางอ้อมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าว่าเป็นเช่นไรครับ