นายกรัฐมนตรี ?

นายกรัฐมนตรี ?

ข้อความมาตรา 19 ธรรมนูญการปกครอง 2557 กำหนดว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง

ตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” และ “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติถวายคำแนะนำตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เสนอโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”

จะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ ผู้ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติไว้วางใจ ซึ่งก็คือเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ขณะนี้ จำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีราว 200 คน เป็นทหารเสียมาก จึงทำให้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า เสียงเกินครึ่งนี้น่าจะลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกัน และกล่าวกันไปว่าผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือทหาร แต่ทหารคนไหน ? หลายคนเชื่อว่า พลเอกประยุทธ์น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี

ถ้าเช่นนั้น ข้อความในมาตรา 19 ข้างต้น ก็ดูจะประหลาด เพราะหากพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีควบหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในเวลาเดียวกัน มันเป็นไปได้อย่างไรที่ “พลเอกประยุทธ์” ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้มีมติให้ตัวเองพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี !

ยกเว้นว่า เมื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จะไม่ได้เป็นหัวหน้า คสช. แต่จะมีผู้นำกองทัพท่านอื่นขึ้นมาเป็นแทน ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็เป็นไปได้ที่ คสช. จะเสนอ สนช. ให้มีมติให้พลเอกประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และการถ่วงดุลระหว่างกองทัพกับฝ่ายบริหารก็จะเป็นไปได้ สมมุติว่าพลเอกประยุทธ์บริหารงานผิดพลาดล้มเหลวไม่ตอบสนองแนวทางของ คสช. หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ แนวทางของกองทัพ ถ้าเป็นได้อย่างนี้ กองทัพก็จะสามารถรักษาตัวเองให้รอดได้ โดยไม่ต้องล้มตามพลเอกประยุทธ์ในยามที่พลเอกประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีล้มเหลว

แต่คำถามที่ตามมาคือ หากพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี และไม่ได้ควบตำแหน่งหัวหน้า คสช. แต่มีผู้นำทัพท่านอื่นขึ้นมาเป็นแทน จะสามารถนำเหล่าทัพได้เท่าพลเอกประยุทธ์ในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการทหารบกหรือไม่ ?

ขณะเดียวกัน ก็ดูเหมือนจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า พลเอกประยุทธ์จะไม่ต่ออายุราชการ ซึ่งก็หมายความว่า หลังกันยายนนี้ นายทหารท่านอื่นจะเป็นผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งถ้าผู้ที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนใหม่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้า คสช. แทนพลเอกประยุทธ์ที่ออกไปเป็นนายกรัฐมนตรี การถ่วงดุลระหว่าง คสช. กับนายกรัฐมนตรีก็เป็นไปได้ ถ้าจำต้องถ่วง แต่ถ้าพลเอกประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว จะกลับไปดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งใน คสช. หรือไม่ ? ถ้ากลับ ก็คงไม่ใช่ตำแหน่งหัวหน้า คสช. แน่นอน

หรือถ้าพลเอกประยุทธ์ควบสองตำแหน่ง นั่นคือ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. แต่กระบวนการการตัดสินใจของ คสช. ใช้เสียงข้างมากในการตัดสินว่าจะเสนอให้ สนช. มีมติให้พลเอกประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็หมายความว่า แม้ว่าพลเอกประยุทธ์จะเป็นหัวหน้า คสช. แต่ก็ใช่ว่าจะคุมเสียงของ คสช. ได้ แต่เสียงของ คสช. คือ เสียงของกองทัพที่จำต้องรักษาแนวทาง ผลประโยชน์และภาพลักษณ์ที่ดีที่น่าเชื่อถือของกองทัพ ก็เป็นไปได้ว่า คสช. จะสามารถเสนอให้ สนช. มีมติให้พลเอกประยุทธ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากเมื่อพ้นแล้ว แต่จะยังดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. ต่อไป ก็จะเป็นเรื่องแปลก น่ากระอักกระอ่วนยิ่งนักสำหรับการทำงานร่วมกันต่อไปใน คสช.

เมื่อเป็นแบบนี้ จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่กองทัพ หรือ คสช. รวมทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย จะสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุผลในเงื่อนไขมาตรา 19 ข้างต้น เพราะนอกจากจะทำให้เจตนารมณ์ในข้อความนั้นไม่สามารถเป็นจริงได้ ซึ่งหมายความว่า นอกจากการถ่วงดุลระหว่างกองทัพกับนายกรัฐมนตรีจะเป็นไปไม่ได้ กลับจะกลายเป็นการควบรวมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งก็เท่ากับว่า นายกรัฐมนตรีก็จะคงกระพันยิ่ง แต่ถ้าเกิดนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนคนเดียวกันกับหัวหน้า คสช. เกิดทำงานล้มเหลว แต่ คสช. ไม่สามารถเสนอ สนช. ให้พ้นจากตำแหน่งได้ คสช. ก็จะพังไปด้วย และกองทัพก็จะพังไปด้วย ยกเว้นแต่กองทัพจะแยกตัวเป็นอิสระจาก คสช. และ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น ก็ย่อมหมายถึงการทำรัฐประหารนั่นเอง

ยกเว้นอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า หากพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ควรพ้นจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไปด้วย คสช.และกองทัพก็จะมีความเป็นอิสระมากขึ้น ไม่พัวพันตามพลเอกประยุทธ์ที่มาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีมากนัก

อย่างไรก็ตาม นอกจากข้อเสียต่างๆ ที่กล่าวไป ข้อเสียอีกประการหนึ่งของการที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะไม่เป็นหัวหน้า คสช. ด้วยก็ตาม ก็คือ ภาพลักษณ์ของการที่ผู้นำกองทัพที่ทำรัฐประหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง ก็จะทำให้ต่างประเทศมองว่า ต้องการสืบทอดอำนาจ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะอยู่สั้นหรือยาวแค่ไหน เพราะไม่ได้มีอะไรกำหนดไว้ตายตัว

หนทางที่มั่นคงปลอดภัยสำหรับตัวพลเอกประยุทธ์-คสช.-กองทัพ แต่อาจไม่มีประสิทธิภาพเต็มร้อย---เพราะตัวพลเอกประยุทธ์-คสช.-กองทัพเองไม่ได้มีอำนาจในการบริหารโดยตรง---คือ ปล่อยให้ สนช. ลงมติให้ “คนอื่น” เป็นนายกรัฐมนตรี หากทำงานดี พลเอกประยุทธ์-คสช.-กองทัพ ก็จะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้ แต่ถ้าล้มเหลว พลเอกประยุทธ์-คสช.-กองทัพก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลโดยการเสนอ สนช. ให้เปลี่ยนตัวและสรรหาใหม่ ผู้ที่อาสาจะเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะต้องรู้ตัวว่าอาจถูกพ้นจากตำแหน่งได้ไม่ยากนัก

ส่วนพลเอกประยุทธ์-คสช.-กองทัพน่าจะดูแลในเรื่องที่ถนัดนั่นคือ ความมั่นคงมากกว่า อีกทั้งถ้าจำเป็นจริงๆ ในอนาคต พลเอกประยุทธ์ก็เข้ามาเป็นนายกฯได้ แต่ถ้าเป็นเสียตั้งแต่แรกแล้วและมีปัญหา ก็จะเสียของทันที การบริหารงานบ้านงานเมืองไม่สามารถมีหลักประกันความสำเร็จเต็มร้อยได้ !

[ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2557 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (WCU-071-HS-57)]