Design Thinking

Design Thinking

ในเชิงวิชาการทางด้านการจัดการแล้วคำยอดฮิตคำหนึ่งที่เป็นที่กล่าวขวัญของนักวิชาการหลายๆ ท่านในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

คือคำว่า Design Thinking หรือที่บางท่านเรียกเป็นภาษาไทยว่า “การคิดเชิงออกแบบ” เนื่องจากกระแสของความตื่นตัวในเรื่องความสำคัญของนวัตกรรม การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ประจวบกับนักวิชาการและนักปฏิบัติในโลกตะวันตกเห็นความสำคัญของเรื่องนี้มากขึ้น ทำให้มีทั้งหนังสือ หลักสูตรอบรม ในเรื่องของ Design Thinking ออกมาอย่างมากมาย อย่างไรก็ดี ดูเหมือนพวกเราเองก็ยังคงมีความสับสนในเรื่องของ Design Thinking กันอยู่พอสมควร และที่สำคัญคือจะนำเรื่องนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร

หลายท่านเมื่อนึกถึง Design Thinking ก็มักจะนึกถึงวิธีคิดแบบนักออกแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ สินค้า บริการต่างๆ แต่จริงๆ แล้ว Design Thinking ไม่ใช่เรื่องของการออกแบบ แต่เป็นการนำกระบวนการในการคิดที่ให้ความสำคัญกับบุคคล ประกอบกับการใช้เครื่องมือต่างๆ ที่เหมาะสม มาใช้ในการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ Design Thinking นั้นไม่จำเป็นต้องใช้สำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือ สินค้าเท่านั้นครับ ปัญหาต่างๆ ที่เราเผชิญกันอยู่ก็สามารถนำหลักการพื้นฐานของ Design Thinking มาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหานั้นได้

มีนักคิด นักเขียนหลายคนที่เขียนงานเกี่ยวกับ Design Thinking ขึ้นมา แต่ในปัจจุบันที่โด่งดังและมักถูกใช้อ้างอิงบ่อยๆ ก็หนีไม่พ้น IDEO (บริษัทรับออกแบบชื่อดัง) และ Stanford Design School (Institute of Design at Stanford) ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ผมขอนำแนวทางของ Stanford D. School มานำเสนอต่อท่านผู้อ่านเผื่อจะสามารถใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้นะครับ

ขั้นแรกเขาเรียกว่า Empathize หรือเป็นการทำความเข้าใจต่อกลุ่มบุคคลเป้าหมายครับ เนื่องจากในการแก้ไขปัญหาหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ใดๆ ก็ตามเรามักจะทำไปเพื่อบุคคลอื่นเสมอ ดังนั้น ก่อนที่จะแก้ไขปัญหาหรือสร้างสรรค์สิ่งใดก็ตามเราจะต้องเข้าใจถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างถ่องแท้เสียก่อน ซึ่งการจะเข้าใจบุคคลอื่นได้นั้นก็หนีไม่พ้นการสัมภาษณ์ การสังเกต หรือ แม้กระทั่งลองจำลองตนเองอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ จริงๆ

ขั้นที่สองคือ Define ซึ่งภายหลังจากที่เราเรียนรู้และทำเข้าใจต่อกลุ่มบุคคลเป้าหมายแล้ว ก็ต้องมานั่งกำหนดให้ชัดเจนว่าจริงๆ แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร หรือ ที่ภาษาของ Design Thinking เรียกว่า Point of View ถ้าเราสามารถกำหนดได้อย่างชัดเจนว่าปัญหาที่เกิดขึ้น หรือ Problem Statement คืออะไร ก็จะทำให้เราก้าวสู่ขั้นที่สามได้ง่ายขึ้นครับ

ขั้นที่สามคือ Ideate หรือการสร้างความคิดต่างๆ ให้เกิดขึ้น โดยเน้นการหาแนวคิดและแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้มากที่สุด หลากหลายที่สุด โดยความคิดและแนวทางต่างๆ ที่คิดขึ้นมานั้นก็เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นที่สอง หัวใจสำคัญของขั้นนี้คือต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างการสร้างและระดมความคิดใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น กับ การประเมินหรือวิพากษ์ ความคิดใหม่ๆ นะครับ หลายครั้งความคิดใหม่ๆ ไม่เกิดขึ้น เพราะเรามักจะสับสนระหว่างการสร้างความคิดใหม่ กับ การวิพากษ์ความคิดใหม่

ขั้นที่สี่คือการสร้าง Prototype หรือแบบจำลองขึ้นมา เนื่องจากความคิดที่ได้ในขั้นที่สามนั้นมันอยู่ในหัวอยู่ในแผ่นกระดาษ แต่เราจะไม่รู้ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ถ้าเราไม่จำลองขึ้นมาให้สามารถจับต้องได้ เมื่อเรานึกถึงแบบจำลองนั้น เรามักจะนึกถึงแต่ตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ แต่จริงๆ ประสบการณ์ (Experience) หรือ การบริการก็สามารถที่จะจำลองสถานการณ์ออกมาได้เช่นเดียวกันครับ

ขั้นสุดท้ายคือ Test หรือการทดสอบ ที่เรานำแบบจำลองที่สร้างขึ้นมานั้นทดสอบกับผู้ใช้หรือกลุ่มบุคคลเป้าหมายจริงๆ เพื่อรับข้อแนะนำหรือ Feedback มาใช้ในการพัฒนาปรับปรุงต่อไป

เป็นไงครับหลักการของ Design Thinking ทั้งห้าขั้นตอนดูแล้วไม่ยากเลยนะครับ เพียงแต่แนวทางของ Stanford Design School นั้นเขาจะมีเครื่องมือและแนวปฏิบัติที่เข้ามาช่วยเสริมในแต่ละขั้นตอน และที่สำคัญคือขั้นตอนทั้งห้าขั้นนั้นไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับแบบนี้เสมอไป อาจจะถึงขั้นสามแล้วกลับไปขั้นหนึ่งใหม่ก็ได้ ที่สำคัญคือหลักการของ Design Thinking นั้นเน้น Human-Center Approach หรือเน้นที่ตัวคนเป็นหลัก ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ ความคิด ความคิดเห็นของคนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

จริงๆ เราสามารถนำหลักการของ Design Thinking มาปรับใช้กับกระบวนการในการแก้ไขปัญหาและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้หมดนะครับ เพียงขอให้เข้าใจหลักการ และรู้จักนำเครื่องมือมาปรับและประยุกต์ใช้เป็นสำคัญ