ก้าวสู่ปีที่ 40 ตลาดหลักทรัพย์ไทย

ก้าวสู่ปีที่ 40 ตลาดหลักทรัพย์ไทย

เป็นสถาบันสำหรับผู้ประกอบการ สร้างมูลค่าธุรกิจระดมทุนอย่างมีประสิทธิภาพ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ก้าวสู่การดำเนินการเป็นปีที่ 40 ในปีนี้ หลังจากที่ครบรอบวันเกิดเมื่อ 30 เมษายน ที่ผ่านมา ถ้าเปรียบเป็นบุคคลก็เข้าสู่วัยที่เติบโตเต็มที่ พร้อมที่จะสร้างประโยชน์ให้กับครอบครัวและสังคมรอบข้าง โดยตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงทศวรรษแรกของการดำเนินงานนั้น เป็นช่วงเริ่มต้นที่ผ่านภาวะความผันผวนและขาดเสถียรภาพ ทำให้ต้องมีการปรับปรุงระบบการทำงาน และระเบียบวิธีการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และเป็นการวางรากฐานของระบบการทำงานในทศวรรษต่อไป

ต่อมาในทศวรรษที่สองนั้น เป็นการขยายตัวอย่างมากทั้งจำนวนบริษัทที่จดทะเบียน และปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถที่จะยังคงใช้วิธีการซื้อขายแบบเดิมที่เรียกว่าการเคาะกระดาน โดยเจ้าหน้าที่การตลาด จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบการซื้อขายด้วยคอมพิวเตอร์อย่างเต็มรูปแบบ นับเป็นตลาดหลักทรัพย์แรกๆในแถบเอเชีย ที่ใช้ระบบการซื้อขายที่ทันสมัยเช่นนี้ และทำให้ตลาดหลักทรัพย์ริเริ่มการให้บริการต่อเนื่องของการซื้อขาย ได้แก่ การชำระราคาและการส่งมอบหลักทรัพย์ โดยได้มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการซื้อขาย

ทั้งนี้ การดำเนินการด้านการส่งมอบและชำระราคานั้น ได้ปรับให้เป็นรูปแบบไร้ใบหุ้น หรือที่เรียกว่า Scripless ซึ่งผู้ซื้อผู้ขายไม่ต้องยุ่งยากในการส่งมอบใบหุ้นเมื่อมีรายการซื้อขายระหว่างกันในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์สามารถที่จะเป็นตัวกลางในการชำระเงิน และส่งมอบหุ้นให้กับสมาชิกโบรกเกอร์ และสมาชิกเหล่านั้นก็มีระบบการทำงานในรายละเอียดของแต่ละบัญชีรายลูกค้า

ในทศวรรษที่สามนั้น เป็นช่วงของความผันผวนจากความรุ่งเรืองสู่ความตกต่ำของตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากในช่วงต้นทศวรรษนี้เป็นขาขึ้นของทั้งบริษัทจดทะเบียน ปริมาณซื้อขาย บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นโบรกเกอร์ขยายสาขาไปสู่จังหวัดต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการลงทุนของลูกค้า

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ขึ้นสูงสุดที่ระดับ 1753.73 ในปี 2537 สภาพความร้อนแรงได้ส่งผลต่อความเสี่ยงของระบบที่เพิ่มขึ้น การแข่งขันด้านบุคลากร จนในที่สุดเกิดวิกฤตของระบบเศรษฐกิจ ในปี 2540 หรือ วิกฤตต้มยำกุ้ง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต้องปิดตัวลงอย่างถาวรถึง 56 แห่ง ตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทั้งปริมาณซื้อขายและดัชนีหลักทรัพย์

นอกจากนี้ เมื่อต้นทศวรรษที่สามของการดำเนินงาน ภายหลังจากที่ได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ซึ่งเป็นการแยกการกำกับดูแลออกจากการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ นับเป็นทศวรรษแห่งการปรับปรุงการดำเนินงาน การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การทำงาน พร้อมๆ ไปกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจของไทย

มีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ mai และบริษัท settrade.com เพื่อให้บริการด้านการซื้อขายแก่ผู้ลงทุนแบบออนไลน์ พร้อมๆ ไปกับวางแผนแม่บทของตลาดทุนไทยตั้งแต่ปี 2544 เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐาน การพัฒนาศักยภาพตลาดทุนไทย โดยการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของตราสารเพื่อการลงทุน การสร้างฐานผู้ลงทุนให้กว้างขวาง เข้มแข็ง และสมดุล รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันตัวกลาง การปรับโครงสร้างระบบการกำกับดูแลและการพัฒนาตลาดทุน และการพัฒนาบรรษัทภิบาลในระดับประเทศ

งานสำคัญที่ได้เกิดขึ้นและดำเนินการต่อเนื่องไปสู่ทศวรรษที่สี่ของการดำเนินการ ก็คือการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องการออมและการลงทุน ให้เป็นที่แพร่หลายในกลุ่มบุคคลต่างๆ ทุกระดับอายุและความรู้ โดยมีการจัดตั้ง สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน หรือ TSI ซึ่งได้ดำเนินงานในหลากหลายรูปแบบ เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนในวงกว้างตั้งแต่ระดับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ผู้ลงทุน ผู้ประกอบวิชาชีพ และผู้เกี่ยวข้องในวงกว้าง รวมทั้งการจัดตั้ง ห้องสมุดมารวย ในรูปแบบที่ทันสมัย โดยเปิด 7 วันต่อสัปดาห์และมีบริการหนังสือ และสื่อการเรียนรู้หลากประเภท

นอกจากนั้น ยังได้มีการพัฒนาความร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในโครงการให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม ทำให้ฐานผู้ลงทุนในตลาดทุน ทั้งด้านกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และในตลาดหลักทรัพย์นั้น ขยายตัวอย่างกว้างขวาง

ที่สำคัญตลาดหลักทรัพย์มีนโยบายการเพิ่มความหลากหลายของตราสารเพื่อการลงทุน ได้แก่ ตลาดตราสารหนี้ (BEX) ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) และตราสารประเภทใหม่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอีทีเอฟ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ใบสำคัญแสดงสิทธิ์อนุพันธ์ ดัชนีหลักทรัพย์ประเภทใหม่ และบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองต่อการเป็นแหล่งระดมทุนให้กับผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากฐานผู้ลงทุนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นพร้อมๆไปกับการเพิ่มขึ้นของบริษัทจดทะเบียนและตราสารการลงทุนประเภทใหม่ที่ครบวงจรนั้น ระบบงานและระบบการซื้อขายที่เป็น Infrastructure ที่สำคัญของตลาดหลักทรัพย์ก็ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพที่เทียบเคียงได้กับตลาดต่างประเทศในปลายทศวรรษที่สี่

การก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ห้าของตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย ตลาดหลักทรัพย์ขอโอกาส ในการที่จะเป็นสถาบันที่เป็นเครื่องมือสำหรับผู้ประกอบการในการสร้างมูลค่าทางธุรกิจและสามารถระดมทุนอย่างมีประสิทธิภาพในเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ยังมีความมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโดยรวม และที่สำคัญ คือ ความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านการลงทุน เพื่อความมีอิสระทางการเงินของประชาชนชาวไทยในระยะยาว จะยังคงเป็นพันธกิจที่จะดำเนินต่อไป