ความขัดแย้งระหว่างประชาชน-รัฐสภา-ศาลรัฐธรรมนูญ

ความขัดแย้งระหว่างประชาชน-รัฐสภา-ศาลรัฐธรรมนูญ

การปกครองแบบประชาธิปไตยที่ผ่านตัวแทนของอเมริกาได้ปรับเปลี่ยนเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้นเมื่อร้อยปีที่แล้ว

จากการเปิดให้ประชาชนสามารถถอดถอนเจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหารได้ และเปิดให้มีการหยั่งเสียงประชามติต่อการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ รวมทั้งเปิดให้ประชาชนสามารถริเริ่มการออกกฎหมายได้เอง

การเปิดให้ประชาชนมีอำนาจทางการเมืองโดยตรงเช่นว่านี้ถือว่าเป็นครั้งแรกของการเมืองอเมริกันที่ยอมให้เสียงข้างมากประชาชนอยู่เหนือบรรดานักการเมืองตัวแทนของพวกเขาโดยสามารถกำหนดกฎหมายเองได้โดยตรง โดยเสียงข้างมากของประชาชนสามารถคัดค้านกฎหมายจากสภานิติบัญญัติได้ และก็สามารถออกกฎหมายเองได้ด้วย

สำหรับบางกลุ่ม ปรากฏการณ์ดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมทางการเมืองก็ว่าได้ และถือเป็นการท้าทายหลักการสำคัญที่ปฏิบัติกันต่อเนื่องมายาวนานนับแต่มีรัฐธรรมนูญอเมริกันในศตวรรษที่สิบแปด อย่างไรก็ตาม แม้ว่านวัตกรรมการปฏิรูปทางการเมืองนี้จะดูก้าวหน้าให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจทางการเมืองโดยตรงได้เข้มข้นมากขึ้น กระนั้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ก็มิได้ไปล้มล้างสถาบันตัวแทนไปเสียเลยทั้งหมด อีกทั้งยังไม่ได้นำไปสู่สิ่งที่รัฐบุรุษอเมริกันอย่างเจมส์ เมดิสัน เรียกว่า “ประชาธิปไตยบริสุทธิ์” (pure democracy) [“ประชาธิปไตยบริสุทธิ์” หมายถึง ประชาธิปไตยทางตรงที่ปรากฏในนครรัฐเอเธนส์นั่นเอง อันเป็นประชาธิปไตยที่ไม่น่าพึงปรารถนาในสายตาของปัญญาชนผู้ร่างรัฐธรรมนูญอเมริกัน เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นการปกครองของฝูงชนไร้ระเบียบบ้าคลั่ง (mob rule)]

ที่ว่ายังไม่ได้นำไปสู่ประชาธิปไตยทางตรงเสียทีเดียวเพราะการปฏิรูปทางการเมืองดังกล่าวที่กำหนดในธรรมนูญของมลรัฐให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจทางการเมืองโดยตรงคู่ขนานกันไปกับการใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการนั้น ได้ก่อให้เกิดระบบที่เป็นส่วนผสมทั้งประชาธิปไตยตัวแทนและประชาธิปไตยทางตรงในเวลาเดียวกัน

การพัฒนาเข้าสู่การปกครองแบบผสมเป็นการเปิดช่องทางที่เป็นทางการและถูกต้องตามกฎหมายให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจทางการเมืองตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจทางการเมืองของตัวแทนที่พวกเขาเลือกไปได้ เพราะถ้าไม่มีช่องทางที่ว่านี้ แน่นอนว่า ประชาชนก็ย่อมต้องหันไปใช้วิธีการการชุมนุมประท้วงต่อต้านในที่สาธารณะ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่รู้ว่าต้องมาชุมนุมกันมากและนานเท่าไรถึงจะสัมฤทธิผล

แม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องดีและดูเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นที่ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจทางการเมืองของผู้แทนของตนได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ประชาธิปไตยแบบตัวแทนก็จะมีปัญหาดังที่ รุสโซ นักคิดทางการเมืองฝรั่งเศสในศตวรรษที่สิบแปดได้วิจารณ์การปกครองแบบตัวแทนไว้ว่า สำหรับประชาชนในระบอบนี้ “พวกเขาเสรีเพียงแค่ระหว่างการเลือกตั้งสมาชิกสภา ทันทีที่เลือกตั้งเสร็จ พวกเขาก็เป็นทาส ไม่มีอะไรเลย เมื่อดูจากวิธีที่พวกเขาใช้อิสรภาพที่มีในระยะเวลาสั้นๆ นั้นแล้วก็สมควรอยู่หรอกที่จะสูญเสียมันไป” การเปิดช่องทางดังกล่าวจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเป็นขั้วตรงข้ามและคู่ขัดแย้งกับตัวแทนที่เขาเลือก แต่ไม่ทำตามที่สัญญา (หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวแทนที่พวกเขาไม่ได้เลือก !)

อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจการเมืองของประชาชน----ในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของนักการเมืองผู้เป็นตัวแทนในสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคัดค้าน-ออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติ-----ยังต้องเผชิญกับอำนาจฝ่ายตุลาการในการตีความการคัดค้าน-การออกกฎหมายของประชาชน เพราะในขณะที่การเปิดให้ประชาชนสามารถรวมตัวกันลงชื่อในการเสนอ-ออกกฎหมายได้ย่อมหมายถึงการยอมรับมติมหาชนเสียงข้างมากโดยตรงในกระบวนการนิติบัญญัติ แต่ส่วนหนึ่งของขอบเขตภาระอำนาจหน้าที่ของตุลาการรัฐธรรมนูญ (judicial review) ก็คือ อำนาจในการทัดทานเสียงข้างมากของประชาชนหรือเจตจำนงของประชาชนได้ หากเจตจำนงของเสียงข้างมากนั้นมุ่งไปทิศทางที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยหรือขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญหรือไปในทางที่ไร้เหตุผล (unconstitutional and unwise) ทั้งนี้ มิพักต้องพูดถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

แต่แน่นอนว่า สถาบันทางการเมืองทุกสถาบันในระบอบประชาธิปไตยจะต้องอยู่ในเงื่อนไขของการถูกตรวจสอบและถ่วงดุลได้เสมอ มิฉะนั้นแล้ว สถาบันที่ตรวจสอบไม่ได้จะกลายเป็นสถาบันที่มีอำนาจมากเกินไป และนำไปสู่การฉ้อฉลใช้อำนาจตามอำเภอใจ ดังนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องอยู่ในสถานะที่ถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้เช่นกัน หากวิจารณญาณของตุลาการรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญและไร้เหตุผล (unconstitutional and unwise) โดยมาตรา 209 และ 274 ของรัฐธรรมนูญฉบับผลพวงเผด็จการเปิดทางให้มีการถอดถอนประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลฯได้

แต่ถ้าสาเหตุของการถอดถอนคือ มีคนเห็นว่า ตุลาการรัฐธรรมนูญตีความรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญและไร้เหตุผล ก็หมายความว่า ประชาชนหรือคณะบุคคลหรือองค์กรที่ลงชื่อถอดถอนได้กระทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว

ในที่สุด คำถามสำคัญก็คือ แล้วจะมีศาลรัฐธรรมนูญไปเพื่ออะไร ? หากคนเหล่านั้นเข้าใจรัฐธรรมนูญและตีความรัฐธรรมนูญถูกต้องชอบธรรมและมีอำนาจมากกว่าศาลรัฐธรรมนูญ เราจะแก้ปัญหาวังวนนี้ได้อย่างไร ?