Kickstarter

Kickstarter

Kickstarter.com เมื่อเอ่ยชื่อนี้ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง

ชื่อนี้คือเว็บไซต์ที่นำแนวคิดของ crowdfunding มาใช้จนประสบความสำเร็จในโมเดลธุรกิจแบบใหม่ทั้งกับตัวเว็บไซต์และผู้นำเสนอไอเดีย สำหรับท่านที่อาจยังไม่คุ้นเคย kickstarter.com เป็นเหมือนตัวกลางในการให้คนที่มีไอเดียแต่ไม่มีทุนทรัพย์นำเอาโปรเจคของตัวเองมานำเสนอผ่านเว็บนี้ เขาใช้คำว่า pledge เพื่อขอทุนจากผู้ที่อ่านรายละเอียดและสนใจจะเป็นผู้ร่วมลงทุนด้วย

โดยเริ่มด้วยเงินไม่กี่ดอลลาร์ มีการนำเสนอเหมือนการทำ proposal ทางธุรกิจแบบง่ายๆ และมี commitment ที่แจ้งกับผู้ร่วมลงเงินเอาไว้ว่าสิ่งที่จะได้รับตอบแทนจากการร่วมลงทุนลงขันนั้นจะเป็นอะไร บ้างก็จะส่งผลิตภัณฑ์ให้เมื่อมีการผลิตจริงพร้อมของพิเศษบางอย่างก็ว่ากันไป

โดยมากโครงการที่ผู้นำเสนอเอามาขายไว้ใน kickstarter จะเป็น consumer product ซึ่งกระแส crowdfunding ที่เกิดขึ้นในโลกทางฝั่งตะวันตกได้รับความนิยมและมีตัวอย่างความสำเร็จ ส่งผลให้เกิดเว็บไซต์ในลักษณะเดียวกันกับ kickstarter อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น indiegogo หรือ gofundme หรือ razoo ฯลฯ แต่มีแนวคิดหนึ่งที่เป็นที่น่าสนใจอย่างมากในเรื่องของ crowdfunding เพราะเป็นแนวคิดที่ออกจะท้าทายมากทีเดียวครับ

crowdfunding เป็นแนวคิดที่เรียกได้ว่า ปลดแอก ผู้ประกอบการรายย่อยจากสถาบันการเงินที่อาจไม่ให้ความสนใจกับโปรเจคนั้นๆ ที่ถูกเสนอขึ้นมา แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากกลุ่มชุมชน หรือ กลุ่มประชากร เริ่มหันมาใช้แนวคิดนี้บ้างกับการริเริ่มโครงการในสังคม ชุมชน และพื้นที่ของตัวเอง

เหตุการณ์เช่นนี้เริ่มเกิดขึ้นในต่างประเทศ มีโครงการนำเอาแนวคิด crowdfunding มาสนับสนุนสิ่งก่อสร้างในชุมชนบางแห่งทั้งในยุโรปและทวีปอื่นๆ ทั้งที่เงินงบประมาณในการสนับสนุนสิ่งก่อสร้างนั้นๆ น่าจะมาจากหน่วยงานในภาครัฐที่ดูแล แต่จะด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาหรือความล่าช้าในการอนุมัติ และเหตุผลอื่นๆ ในเรื่องของลำดับความสำคัญต่างๆ ทำให้โครงการบางโครงการต้องชะลอตัวและรอเงินสนับสนุนต่อเนื่องจากภาครัฐ ความต้องการของชุมชนมีเพิ่มมากขึ้นที่อยากให้โครงการนั้นเกิดขึ้นโดยเร็วและถูกใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม จึงเกิดเป็นความเคลื่อนไหวที่เอาแนวคิด crowdfunding มาใช้ครับ

ตัวอย่างโครงการแรกอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นโครงการก่อสร้างสะพานทางเดินข้ามถนนเส้นหลักที่ถูกมองว่าเป็นแนวแบ่งแยกตัวเมืองร็อตเตอร์แดม ทำให้เขตที่อยู่อาศัยถูกตัดขาดจากส่วนกลางของเมือง การเดินเท้ายากลำบากมากขึ้นเพราะปริมาณรถที่ใช้ถนนเส้นหลัก ทำให้เกิดความคิดว่าต้องมีสะพานข้ามถนนเส้นนั้น แต่ด้วยกระบวนการต่างๆ ของภาครัฐ โครงการดังกล่าวถูกดำเนินการในอีกกว่า 20 ปีข้างหน้า ชุมชนจึงหันเข้าหาโมเดลของ crowdfunding สร้างการรับบริจาคเงินเริ่มต้นที่ 25 ยูโรไปจนถึงหลักพันยูโร โดยสิ่งที่ผู้บริจาคเงินจะได้เริ่มตั้งแต่แผ่นไม้ที่จารึกชื่อผู้บริจาค จะถูกนำมาใช้เป็นแนวกั้นทางเดินตลอดแนวของสะพานไปจนถึงโครงสร้างขนาดใหญ่ที่มีโลโก้ของสปอนเซอร์จารึกอยู่

อีกโครงการหนึ่งเป็นของประเทศเวลส์ ในสหราชอาณาจักร เมื่อชุมชนในเมืองแห่งหนึ่งเคยเป็นแหล่งเหมืองแร่ที่สำคัญ หลังอุตสาหกรรมเหมืองแร่ซบเซาจึงทิ้งโครงสร้างของโรงงานถลุงแร่ ซึ่งชุมชนมองว่าเป็นสิ่งที่อัปลักษณ์และทำลายทัศนียภาพของเมือง จึงพยายามระดมทุนโดยวิธีปกติ ผ่านงานการกุศลต่างๆแต่ก็ยังได้งบประมาณไม่พอ จึงหันเข้าหาเว็บไซต์ crowdfunding ที่เจาะจงในเรื่องหาเงินทุนสนับสนุนสิ่งก่อสร้างที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนในชื่อ spacehive.com กระทั่งหาเงินส่วนที่เหลือได้ครบและทำการรื้อถอนโครงสร้างเก่า และสร้างเป็นศูนย์ชุมชนที่ให้การสนับสนุนการสอนอาชีพและศูนย์ IT เพื่อคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชน

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของแนวคิด crowdfunding ที่เข้ามาแตะเรื่องของสิ่งปลูกสร้างและสถาปัตยกรรมต่างๆ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะสิ่งที่ชุมชนพยายาม pledge ไม่ใช่สินค้าอุปโภค บริโภคชิ้นเล็ก มีการผลิตหลายพัน หลายหมื่นชิ้น และนำส่งไปให้ใช้งานได้จริงสำหรับผู้สนับสนุนทุกราย แต่นี่คือสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่กับที่ ตอบสนองความต้องการเฉพาะชุมชนบางแห่ง และไม่ได้มีประโยชน์สำหรับทุกคน ดังนั้นกลุ่มคนที่มีโอกาสจะบริจาคทุนทรัพย์มาให้ก็ย่อมมีขนาดที่เล็กลงไปด้วย รวมถึงโปรเจคเช่นนี้มีระยะเวลาในการดำเนินการนาน ไม่เหมือนสินค้าอื่นที่เข้าโรงงานผลิตไม่กี่เดือนก็จัดส่งให้ผู้บริจาคได้ ดังนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้บริจาคต้องสนใจผลในระยะยาวมากกว่าที่จะใจร้อนอยากเห็นของที่สำเร็จโดยเร็ว

มองกันลึกๆ ผมคิดว่าสำหรับแนวคิด crowfunding สิ่งปลูกสร้างต่างๆ มีนัยยะความสำคัญมากกว่าเป้าหมายที่จะดึงเงินจากผู้บริจาคมาดำเนินการให้สำเร็จเพียงอย่างเดียว แต่แนวคิด crowdfunding เป็นการสร้างกระแสได้อย่างดีในการที่จะดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่และบรรดาบริษัทต่างๆ ที่มองหาโอกาสสปอนเซอร์ที่มีความหมายสำหรับผู้บริโภคจริงๆ เพื่อให้องค์กรและนักลงทุนรายใหญ่เห็นถึงความเป็นไปได้และการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคตัวจริง