อนาคตเกษตรของไทย : เราแน่แค่ไหน

อนาคตเกษตรของไทย : เราแน่แค่ไหน

ถึงแม้สังคมไทยจะก้าวออกมาจากการเป็นสังคมเกษตรแล้ว แต่ภาคเกษตรยังคงความสำคัญในใจของคนไทยทุกคน

คนไทยยังยึดติดกับความคิดที่ว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว แผ่นดินไทยอุดมสมบูรณ์กว่าแผ่นดินประเทศอื่นใด เมื่อรัฐบาลเผยวิชั่น “ครัวของโลก” คนไทยทั่วไปมักจะคิดว่าน่าจะเป็นเป้าหมายที่น่าจะเป็นไปได้ไม่ยากนักและเมื่อประเทศจีนเริ่มเปิดประเทศ เราก็ตีปีกกันว่าเราจะได้ตลาดสำคัญที่เราจะได้ส่งเสบียงไปเลี้ยงมังกร ความจริงคืออะไร

จากสถิติของ FAO (2013) ที่ศาสตราจารย์ ดร.เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม นำมาแสดงในการบรรยายเรื่อง อนาคตเกษตรไทย ซึ่งจัดโดยแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) พบว่า ถ้าจะนับรวมทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ประเทศไทยส่งออกสินค้าเกษตรเป็นลำดับที่ 15 ของโลก ลำดับหนึ่งนั้น แน่นอนก็คือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคือ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ล้วนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งนั้น สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ติดลำดับโลก ลำดับ 4 คือบราซิล ลำดับ 7 คือจีน ลำดับ 11 คืออาร์เจนตินา ต่อด้วยอินโดนีเซีย และมาเลเซียเป็นลำดับที่ 14 รายละเอียดดังแผนภาพที่ปรากฏในบทความนี้

ข้อมูลนี้น่าจะเปิดโลกทัศน์ของคนไทยให้กว้างขึ้นว่า เราไม่ใช่มหาอำนาจด้านเกษตรของโลกตามที่นักการเมืองบางคนได้เคยพูดไว้ แต่ถ้าจำกัดลงมาเฉพาะพืชอาหารตำแหน่งเราก็อาจจะดีขึ้นหน่อย เพราะแต่เดิมเราส่งออกข้าวมากเป็นลำดับหนึ่งของโลก แต่มาบัดนี้เราไม่ปลูกข้าวส่งออกอีกแล้ว เพราะเราอยากปลูกไว้เก็บใส่สต็อก!

ดังนั้น นโยบายเรื่องข้าวของรัฐบาลจึงทำให้ไทยในฐานะครัวของโลกง่อนแง่นลง ยิ่งถ้าจะไปประกันราคาพืชไร่อื่นๆ นอกจากข้าวอีกก็ยิ่งแล้วกันไปใหญ่ เพราะจะส่งผลให้ต้นทุนอาหารสัตว์แพง เช่นนั้นเราคงไม่สามารถจะยกระดับตัวเองจากการขายสินค้าเกษตรประเภทวัตถุดิบไปเป็นอาหารเกษตรแปรรูปได้เป็นแน่ส่วนยางพารา น้ำตาล และมันสำปะหลัง มีจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่หรือพูดง่ายๆ ว่า เราเกือบเป็นอาณานิคม “ใหม่” ทางวัตถุดิบทางการเกษตรให้แก่จีนเพราะเราส่งออกวัตถุดิบเกษตรให้จีนในขณะที่เรานำเข้าสินค้าอาหารเกษตรแปรรูปนานาชนิดจากจีน อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำด้านปรับปรุงพันธุ์ข้าวของจีนได้ประกาศมาแล้วว่าจะผลิตข้าวหอมแข่งกับไทย และจีนสามารถผลิตพันธุ์ข้าวที่มีความหอมเข้มข้นไม่แพ้ข้าวหอมมะลิได้แล้ว!!!

ที่จริงอันดับของไทยในเรื่องการเกษตรต่ำกว่าอินโดนีเซียด้วยซ้ำ แต่อย่าเพิ่งเสียใจว่าเราสู้อินโดนีเซียไม่ได้ เพราะการจัดลำดับนี้ไม่ได้คำนึงถึงขนาดประเทศความอุดมสมบูรณ์ของดินและจำนวนแรงงาน แต่ถ้าจะดูประสิทธิภาพการผลิตที่วัดโดย Total Factor Productivity ภาคเกษตรของไทยจะพบว่า ไทยมีประสิทธิภาพดีกว่าอินโดนีเซียในช่วงปี พ.ศ. 2523-2545

ถึงจะเป็นลำดับที่ 15 โอกาสของภาคเกษตรของไทยในอนาคตยังมีอยู่มาก เพราะราคาสินค้าเกษตรได้พุ่งสูงขึ้นมาหลังจากซบเซาอยู่หลายทศวรรษเนื่องจากระบบเกษตรโลกไม่สามารถรองรับความต้องการด้านพลังงานชีวภาพซึ่งอาศัยพืชเป็นหลัก

แล้วภาคเกษตรไทยยังจะเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจในอนาคตได้หรือไม่? ในความเห็นของศาสตราจารย์ ดร.เบญจวรรณ ถ้านโยบายของรัฐไม่ทำลายความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปเสียก่อน (เช่น นโยบายจำนำข้าว) อนาคตเกษตรไทยจะประกอบไปด้วย 2 องค์ประกอบหลัก หนึ่ง ภาคเกษตรเชิงพาณิชย์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงทำมาค้าขายแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งมักจะเป็นบริษัทใหญ่ แต่ถ้าจะให้ดีต้องมีแบรนด์บริษัทเหล่านี้มีเกษตรกรที่เป็น suppliers ที่เป็น smart farmers มีทุนมีความรู้และใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ปัญหาของภาคส่วนนี้ก็คือจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เสาหลักที่สองนั้น อาจารย์เบญจวรรณ ท่านเรียกว่าเป็นเกษตรมีสีสัน เป็นกลุ่มเกษตรรายย่อยที่ทำกิจกรรมเกษตรสอดคล้องกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ เป็นเกษตรที่ซัพพลายตลาดจำเพาะ (niche market) ที่เราเรียกว่า ฟาร์มชีวภาพบ้าง เกษตรอินทรีย์ เกษตรแบบผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรพอเพียง ฯลฯ การทำเกษตรของกลุ่มนี้มีความสำคัญในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่น การอนุรักษ์ภูมิทัศน์ชนบทไทย การทำเกษตรของกลุ่มนี้ต้องมีความประณีต อาศัยการจัดการหลายระดับหลายพืชและอาจจะรวมถึงสัตว์ในพื้นที่เดียวกัน

ส่วนเกษตรกรรายย่อยในเขตน้ำฝน ดินเค็ม ฯลฯ เป็นเกษตรที่ทำไม่พอกินไม่คุ้มขาย เกษตรกรกลุ่มนี้จะค่อยๆ ทยอยออกจากภาคเกษตรไปทำอาชีพอื่น หรือค่อยๆ เกษียณออกไปแต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็ตอนทยอยออกหรือเกษียณโดยไม่มีหลักประกันใดๆ เลยกลายเป็นเกษตรกรสูงวัยและยากจน เพราะถ้าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ไม่เติบโตคนกลุ่มนี้จำนวนหลายคนก็จะไม่มีที่ไปและกลายเป็นปัญหาทางสังคมและการเมืองในที่สุด

แทนที่รัฐบาลจะเอาเงินเป็นแสนล้านไปโอบอุ้มชาวนาที่ไม่จน ควรนำเงินนี้มาลงทุนในการพัฒนาวิจัยและพัฒนา R&D เกษตร โดยเฉพาะให้กลุ่มเกษตรนิเวศน์ และนำมาโอบอุ้มเกษตรกรชายขอบที่จะต้องเปลี่ยนจากการทำเกษตรเป็นอาชีพอื่นๆ หรือลงทุนในสาธารณูปโภคที่ก่อให้เกิดอาชีพใหม่ในท้องถิ่นได้ไม่ใช่โอบอุ้มเกษตรกรที่อยู่ได้เพราะอาศัยราคากำมะลอที่คนไทยเป็นผู้อุดหนุนให้สูงกว่าราคาในตลาดโลก!

ขอเชิญ download เอกสารฟรี และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตเกษตรไทย ได้ที่ www.tuhpp.net