ฝรั่งเศสกับการพัฒนา

ฝรั่งเศสกับการพัฒนา

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี

แม้ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังต้องปรับตัวเข้ากับสภาพความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในประเทศที่ตื่นตัวคือฝรั่งเศส ซึ่งมองวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย นวัตกรรม และอุดมศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงไว้ซึ่งความสามารถของประเทศ ภายใต้ร่มเงาของสหภาพยุโรปจึงออกมาเป็นยุทธศาสตร์ล่าสุดที่เรียกว่า “France Europe 2020” ซึ่งออกแบบและขับเคลื่อนโดยกระทรวงที่รวมการวิจัยกับอุดมศึกษาอยู่ในกระทรวงเดียวกัน

วาระแห่งชาติของฝรั่งเศสคือ การหลอมรวมงานด้านต่างๆ ที่ต้องสร้างฐานความรู้ใหม่ๆ เข้าด้วยกันเพื่อตอบสนองต่อโจทย์ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโจทย์ด้านสาธารณสุข ความปลอดภัยของอาหาร การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม งานด้านพลังงาน การพัฒนาสังคมเมือง อุตสาหกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล ไปจนถึงงานอวกาศ

สังคมฝรั่งเศสต่างจากสังคมไทยอยู่หลายอย่างและความต่างเหล่านี้นำไปสู่นโยบายกับการให้ลำดับความสำคัญที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการวิจัยพื้นฐาน (ในขณะที่ไทยให้ความสำคัญกับการวิจัยประยุกต์และความคาดหวังว่าจะขายได้กำไร) การลงทุนในงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ไม่หวังผลในระยะสั้น (ในขณะที่ไทยให้ความสำคัญกับงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีระยะสั้น ทำให้วางแผนได้ปีต่อปีเท่านั้น) ที่สำคัญสำหรับทั้งสองฝ่ายคืองานพัฒนาเหล่านี้มี “ตลาดงาน” เป็นเดิมพัน

คำว่า ตลาดงาน (Job Market) นั้น สำหรับสังคมเราเองยังแยกตัวออกจากการศึกษาและวิทยาศาสตร์ฯ ค่อนข้างมาก เวลาเราเลือกเรียนสาขาอะไร ผู้เรียนส่วนใหญ่มักไม่คุ้นเคยกับตลาดงานของสาขาวิชาชีพนั้นๆ มากนัก เพราะไม่เคยได้รับการบอกกล่าวหรือแม้เห็นว่าคนทำงานเขาทำงานอะไรอยู่ก็ยิ่งไม่มีความรู้ เพราะสถาบันการศึกษาตั้งแต่มัธยมขึ้นมาไม่ได้ตระหนักและไม่ได้รองรับประสบการณ์เหล่านี้ ในขณะเดียวกันที่ทำงานเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ก็มักไม่ค่อยสนใจที่จะทำกิจกรรมให้เด็กในวัยเรียนได้เข้าใจงานของหน่วยงานหรือของบริษัท ซ้ำร้ายบางแห่งคิดว่าเป็นภาระหากรับเด็กมาดูงานหรือฝึกงานด้วยซ้ำ ลงท้ายด้วยการมอบหมายการฝึกงานให้ทำหน้าที่ชงกาแฟบ้าง ถ่ายเอกสารบ้าง ก็มีให้เห็นหรือได้ยินอยู่ตลอดเวลา สังคมไทยและเยาวชนไทยจะก้าวหน้าไปไหนได้…

กลับมาที่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องรีบปรับตัวไม่ให้ความตกต่ำทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ความชัดเจนคือนโยบายของผู้นำสูงสุดที่เห็นแสงสว่างว่า จะต้องฟื้นฟูชาติให้กลับมาใหญ่โตใหม่ด้วยการสร้าง "ความรู้" และ “นวัตกรรม” บนพื้นฐานของความร่วมมือกับสหภาพยุโรป

เหมือนกับแนวคิดของนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ฝรั่งเศสเผชิญกับความท้าทายทั้งหลายอย่างเข้าใจ ว่าต้องสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคม และให้ทั้งสองการพัฒนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

หากมองย้อนไปดูภาพใหญ่ของสหภาพยุโรปซึ่งมีกรอบการพัฒนาใหม่เอี่ยม ตั้งเป้าให้เกิดภายในเจ็ดแปดปีข้างหน้าที่เรียกกันว่านโยบาย “ขอบฟ้า 2020” (Horizon 2020) ประกอบด้วยการพัฒนา 9 ด้านที่จะเป็นเสาหลักสำคัญ ซึ่งไทยควรทำความเข้าใจหากต้องการจะร่วมมือกับสังคมยุโรปจากนี้ไป เก้าสิ่งนี้ประกอบด้วย

การบริหารจัดการทรัพยากรและการปรับตัวให้อยู่ได้กับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ซึ่งในคอลัมน์ที่แล้วมาของผมก็ได้อ้างอิงถึงมามากมาย ชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญหากเราจะอยู่ในโลกใบนี้ด้วยความทนทานต่อผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงจากน้ำท่วม พายุ สึนามิ แผ่นดินไหว ตลอดจนแมลงหรือเชื้อโรคใหม่ๆ ที่อุบัติขึ้นอย่างไม่คาดฝัน

แนวโน้มขนาดใหญ่ของโลกทางด้านการพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานสะอาด เช่น ชีวมวลจากผลิตภัณฑ์เกษตรธรรมชาติ แสงอาทิตย์ ลม ตลอดจนแหล่งพลังงานที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านการผลิตไฟฟ้า และเชื้อเพลิงที่ใช้ในการอุตสาหกรรมหรือในครัวเรือน

การพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งต้องอาศัยการวิจัย และนวัตกรรมเพื่อแข่งขันให้ได้ในตลาดโลก นักอุตสาหกรรมทันสมัยของไทยในปัจจุบันจำนวนหนึ่งตระหนักแล้วว่า หากปราศจากการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ที่สังคมไทยและเทศต้องการ จำเป็นอย่างยิ่งต้องสร้างความรู้จากภายในองค์กร นอกเหนือจากการใช้เงินซื้อหาความรู้ในรูปของการซื้อลิขสิทธิ์หรือเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ว่ากันว่าหาไม่แล้วภายใน 4 ทศวรรษ การล้มหายตายจากไปจากวงการค้าก็สามารถเกิดขึ้นได้เพราะไม่สามารถตามคู่แข่งได้ทัน แม้จะเป็นบริษัทที่เข้มแข็งวันนี้ก็ตาม

ความรู้ใหม่ๆ เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน สังคมไทยเองมีโจทย์ใหม่ๆ ทางด้านสุขภาพเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ ที่คนไทยต้องเผชิญอันเนื่องมาจากวิถีชีวิต และสภาพแวดล้อม

อาหารซึ่งเกี่ยวพันทั้งกับสุขภาพและความเป็นอยู่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพัฒนาความรู้ผ่านงานวิจัยและเทคโนโลยีใหม่ๆ ประเด็นสำคัญคือ ความปลอดภัยของอาหาร และความมั่นคงของการมีอาหารเพียงพอในสังคม

ที่เหลือเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมเมือง สังคมดิจิทัล การปรับตัวของสังคม และการสร้างความเชื่อมั่นของสหภาพยุโรปซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะพื้นที่

โดยสรุป เรามีภารกิจที่จะต้องปรับตัวอย่างมากมาย แต่จะต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจ และการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงทั้งจากฝั่งรัฐบาลและผู้ประกอบการ เรายังต้องลงทุนในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรายังต้องส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้สร้างสรรค์และมีนวัตกรรม โดยการจัดสภาพแวดล้อมและความเข้าใจที่ถูกต้อง เราต้องคุยกับผู้ประกอบการเล็กใหญ่ให้เข้าใจในความสำคัญของการลงทุนในวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการเชื่อมโยงกับหน่วยงานความรู้ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัย และสร้างหน่วยความรู้ขึ้นภายในภาคเอกชนเพื่อรองรับเด็กเก่งๆ ของเราในอนาคตในที่สุด