แนวคำพิพากษาฎีกาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ เปิดเพลงให้ร้องหรือฟัง

แนวคำพิพากษาฎีกาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ เปิดเพลงให้ร้องหรือฟัง

การแต่งเพลง ถือเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ผู้แต่งเพลงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงนั้น ส่วนผู้ประกอบกิจการบันทึกเสียงเพลงโดยได้รับอนุญาต

จากเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงนั้น เช่น บันทึกเป็นเทป ซีดี หรือดีวีดี หรือแผ่นเสียง ก็ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ผู้ประกอบกิจการที่บันทึกนั้นเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงที่บันทึกนั้น และได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์เพลงที่ได้บันทึกไว้นั้น มีโทษทางอาญากำหนดไว้ด้วย

การที่ผู้ประกอบกิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือให้บริการอื่นใด เปิดเพลงให้ลูกค้าร้องหรือฟัง อาจมีความผิดละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นได้ มีสองกรณี หลัก คือ

- กรณีเปิดเพลงจากเทป แผ่นซีดี ดีวีดี หรือแผ่นเสียง ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ในกรณีนี้ถ้าการเปิดเพลงให้ลูกค้าร้องหรือฟังนั้นเข้าข่ายเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชน และ ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็จะเป็นความผิดละเมิดลิขสิทธิ์ ฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่บัญญัติใน มาตรา 28 มีโทษกำหนดไว้ตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง ปรับอย่างต่ำสองหมื่นบาท สูงสุดสองแสนบาท แต่ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อการค้ามีโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสองปี ปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

- กรณีเปิดเพลงให้ลูกค้าร้องหรือฟังที่เปิดจากเทป ซีดี ดีวีดี หรือสิ่งบันทึกภาพและเสียงอื่นๆ ซึ่งรวมถึงฮาร์ดดิสก์ ที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น มีการก็อปปี้มา โดยผู้ประกอบการนั้นรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุควรรู้ว่าทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ และเข้าข่ายเป็นการทำเพื่อหากำไร ถือว่าผู้ประกอบการนั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 31 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 70 คือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท แต่ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าว เป็นการกระทำเพื่อการค้ามีโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงสองปี ปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสี่แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

คดีความผิดละเมิดลิขสิทธิ์เพลงจากการเปิดเพลงให้ลูกค้าร้องหรือฟัง มีคำพิพากษาศาลฎีกา วางแนว ไว้ที่น่าจะถือเป็นบรรทัดฐานได้คือ

- การเปิดเพลงบริการให้ลูกค้าฟังหรือขับร้องในร้านอาหาร ถือว่าเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้ว คือคำพิพากษาฎีกาที่ 302/2550 (ประชุมใหญ่) ที่วินิจฉัยว่า พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 4 ให้ความหมายคำว่า "เผยแพร่ต่อสาธารณชน" ไว้ว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนโดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลงการทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่ายหรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น เมื่อปรากฏตามคำฟ้อง โจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยแล้วว่า จำเลยนำแผ่นวีซีดีซึ่งเป็นงานสิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุที่บันทึกข้อมูลงานดนตรีกรรมเพลง "เทพธิดาผ้าซิ่น" และ "โบว์รักสีดำ" ซึ่งทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ 2 แผ่น เข้าประกอบไว้ในตู้เพลงวีซีดีคาราโอเกะ ปรากฏเนื้อร้องและทำนองออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนในร้านอาหารของจำเลยเพื่อให้บริการลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการฟังเพลงและขับร้องเพลง อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย เห็นได้ว่าคำบรรยายฟ้องดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดโดยทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนด้วยเสียงและหรือภาพแล้ว

- การกระทำความผิดละเมิดลิขสิทธิ์ฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อหากำไร กำไรนั้นต้องได้มาโดยตรงจากการเปิดเพลงให้ลูกค้าฟังหรือร้อง คือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10579/2551 ที่วินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องเพียงแต่ว่าจำเลยเปิดแผ่นเอ็มพี 3 และซีดีเพลงให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ร้องและฟังเพลงของผู้เสียหายจำนวน 1 เพลง เพียง "เพื่อประโยชน์ในทางการค้า" ขายอาหารและเครื่องดื่มของจำเลย แต่ตามคำบรรยายฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ร้องและฟังเพลง โดยเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าวหรือเรียกเก็บรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 31 เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นด้วย

และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553 ที่วินิจฉัยทำนองเดียวกัน ซึ่งวินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าว หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง

- เพื่อหากำไร แตกต่างจากเพื่อการค้า คือพิพากษาศาลฎีกาที่ 6380/2553 ที่วินิจฉัย แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยนำเพลงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้าก็ตาม แต่การกระทำ "เพื่อการค้า" กับการกระทำ "เพื่อหากำไร" มีความหมายแตกต่างกันได้ ดังจะเห็นได้จากการที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติให้การละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 31 เพื่อการค้า ต้องระวางโทษหนักกว่าการกระทำเพื่อหากำไรตามมาตรา 70 วรรคหนึ่ง ทั้งตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาจะหากำไรโดยตรงจากการนำเพลงดังกล่าวออกแพร่เสียง จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 ไม่ครบถ้วน

- องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของการทำความผิดตามมาตรา 31 คือ ผู้กระทำรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุควรรู้ว่าเพลงที่บันทึกนั้นทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ เทียบเคียงได้จาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14700/2551 ที่วินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าแต่เพียงว่าเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานวรรณกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์และงานโสตทัศนวัสดุเกมเพลย์สเตชั่นของผู้เสียหาย โดยมีไว้ซึ่งแผ่นดีวีดีเกมเพลย์สเตชั่น 1 แผ่น ที่มีผู้ทำซ้ำดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เพื่อให้เช่าเสนอให้เช่าแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยคำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด