ความมั่นคงด้านพลังงานกับสัมปทานปิโตรเลียม (2)

ความมั่นคงด้านพลังงานกับสัมปทานปิโตรเลียม (2)

เมื่อตอนที่ผ่านมาผมก็ได้อธิบายถึงภาพโดยกว้างๆ ว่าประเทศของเรานั้นไม่ได้เป็นประเทศที่มีพลังงานมากมายอะไร

และจริงๆ แล้วก็เป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานที่ค่อนข้างมากเสียด้วย โดยเฉพาะน้ำมันดิบ

ในเรื่องของน้ำมันดิบนั้นก็ได้มีการได้ยินได้ฟังมาจากคนบางกลุ่มว่าทำไมเราต้องไปนำเข้าน้ำมันดิบเป็นจำนวนมาก แต่น้ำมันดิบผลิตได้ในประเทศไทยผลิตกลับส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งก่อนที่เราจะมาพูดกันถึงตรงนั้นเราก็จะต้องมาดูกันก่อนว่าประเทศไทยนั้นมีการใช้น้ำมันสำเร็จรูปกันอย่างไร เพราะน้ำมันสำเร็จรูปเหล่านั้นก็มาจากน้ำมันดิบที่ได้ผ่านกระบวนการกลั่นในโรงกลั่นนั่นเอง

ซึ่งเมื่อเราไปดูปริมาณการใช้น้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทยแล้วจะเห็นว่าน้ำมันที่มีการใช้กันอยู่มากที่สุดก็คือน้ำมันดีเซลนั่นเอง โดยมีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ประมาณ 60 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งมากกว่าปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินที่มีการใช้อยู่ประมาณ 20 กว่าล้านลิตรต่อวัน ซึ่งการที่เราจะต้องมีน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อรองรับกับปริมาณน้ำมันดีเซลที่สูงขนาดนี้ เราก็จำเป็นที่จะต้องมีการใช้ชนิดของน้ำมันดิบที่เมื่อกลั่นแล้วได้น้ำมันดีเซลในปริมาณที่สูง ซึ่งน้ำมันดิบที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะผลิตแล้วได้น้ำมันดีเซลเยอะๆ นั้นส่วนใหญ่จะเป็นน้ำมันจากทางประเทศตะวันออกกลางเป็นหลัก สำหรับน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศไทยนั้นจะมีคุณสมบัติที่ค่อนข้างใส ซึ่งจะเหมาะสำหรับการผลิตน้ำมันเบนซินมากกว่า ดังนั้น โรงกลั่นจึงจำเป็นที่จะต้องเลือกชนิดน้ำมันดิบที่เหมาะสมกับปริมาณความต้องการของประเทศเป็นสำคัญ หากเราจะนำน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างไปใช้ในโรงกลั่นแทนน้ำมันดิบที่ให้ผลผลิตดีเซลสูงๆ นั้น ทางโรงกลั่นก็จะต้องมีการปรับปรุงระบบการกลั่นเพื่อให้สามารถกลั่นน้ำมันดิบนั้นๆ ได้ แต่ปริมาณน้ำมันดีเซลจะกลั่นออกมาได้นั้นก็จะลดน้อยลง ก็จะมีผลกระทบต่อความต้องการน้ำมันดีเซลของประเทศ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลผลิตที่ได้จากกระบวนการกลั่นนั้นไม่ได้มีเพียงแต่น้ำมันดีเซล แต่ยังมีน้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องบิน รวมไปถึงก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และยางมะตอย ดังนั้น การที่เราใช้น้ำมันดิบเพื่อให้ผลิตได้น้ำมันดีเซลให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศแล้ว ก็จะทำให้เรากลั่นได้น้ำมันสำเร็จรูปชนิดอื่นที่มากเกินไปด้วยเช่นกัน เช่น น้ำมันเบนซิน ซึ่งปริมาณการผลิตที่ได้นั้นมากกว่าความต้องการภายในประเทศ เช่น น้ำมันเบนซินและน้ำมันเตา เราจึงเห็นว่ายังมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งการขายนั้นก็ขายในราคาตลาดของน้ำมันสำเร็จรูปชนิดนั้นๆ

ในส่วนของก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่เราผลิตได้เองและก็มีปริมาณการผลิตที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ แต่ปริมาณการผลิตนั้นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการใช้ในประเทศ เรายังต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติทั้งจากประเทศสหภาพพม่าและนำเข้าในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับน้ำมันดิบซึ่งก่อนที่เราจะไปดูว่าเราจะผลิตก๊าซธรรมชาติหรือนำเข้าก๊าซธรรมชาตินั้น เราก็ต้องมาดูกันก่อนว่าแล้วประเทศไทยเรามีการใช้ก๊าซธรรมชาติกันอย่างไร

จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายพลังงาน กระทรวงพลังงาน ก๊าซธรรมชาติที่เราใช้กันอยู่ในประเทศนั้น ประมาณร้อยละ 60 นั้นถูกใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า ที่เหลือก็จะเป็นการใช้ในภาคอุตสาหกรรมในปริมาณร้อยละ 13 ใช้ในโรงแยกก๊าซธรรมชาติร้อยละ 21 และใช้ในภาคขนส่งหรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อของ NGV อีกประมาณร้อยละ 6 ซึ่งปริมาณการใช้ของทั้งสี่กลุ่มนี้ก็ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเติบโตขึ้นจากเฉลี่ย 3,444 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2551 เป็น 4,534 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2555 และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 นี้ปริมาณการใช้เฉลี่ยนั้นก็ขึ้นไปอยู่ที่ 4,663 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

แล้วการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยเป็นอย่างไร ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 (รวมก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย) นั้นอยู่ที่ 4,122 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน นำเข้าจากประเทศสหภาพพม่าอีกเฉลี่ย 787 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และนำเข้าในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลวอีก 216 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยหากสังเกตว่าปริมาณการผลิตที่ผลิตได้นั้นเป็นปริมาณการผลิตทั้งจากบนบกและในทะเลนั้นยังไม่สามารถรองรับกับปริมาณความต้องการในประเทศได้

หากจะมองกันต่อไปในอนาคต ความต้องการก๊าซธรรมชาติก็จะเพิ่มสูงขึ้นอีก ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งก็ส่งผลให้ความต้องการไฟฟ้าซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตเป็นหลักเพิ่มสูงขึ้น การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการที่จะทำให้การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การเติบโตอย่างรวดเร็วของการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) อันเนื่องมาจากการที่รัฐกำหนดราคาให้ต่ำเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ก็ทำให้ผู้ใช้รถยนต์รวมถึงรถบรรทุกขนส่งขนาดใหญ่ รถโดยสารสาธารณะนั้นหันมาใช้ก๊าซ NGV กันอย่างแพร่หลาย

ขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศกลับลดลง โดยปัจจุบัน เท่าที่ทราบมาจากข้อมูลที่ได้รับฟังมาจากหน่วยงานของรัฐ ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศนั้นได้ขึ้นมาถึงจุดที่เรียกได้ว่าสูงที่สุดแล้ว และหลังจากนี้อีกปีถึงสองปีปริมาณก๊าซเหล่านี้ก็จะลดลงอย่างรวดเร็วทั้งจากสาเหตุที่ปริมาณสำรองที่ลดลง และจากสัญญาสัมปทานที่จะเริ่มทยอยกันหมดอายุไป ซึ่งหากเราไม่มีการดำเนินการหรือการเตรียมพร้อมใดๆ แล้ว ประเทศไทยก็จะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าการนำเข้าก๊าซธรรมชาติในอนาคตนั้นจะลำบากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากก๊าซธรรมชาติจากสหภาพพม่านั้นก็ถูกผันไปใช้เองในประเทศพม่ามากขึ้น อันเนื่องมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศสหภาพพม่าเอง รวมถึงทางประเทศพม่าก็ได้มีการเชื่อมต่อท่อส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อจำหน่ายก๊าซธรรมชาติไปยังประเทศจีนด้วย ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่เราคาดว่าจะได้จากประเทศสหภาพพม่าจึงดูเหมือนว่าจะน้อยลง

การนำเข้าก๊าซธรรมชาติในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG นั้นก็ยังมีราคาที่สูงมาก และถึงแม้ว่าจะมีการค้นพบก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน (Shale Gas) ในทวีปอเมริกาเหนือ ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ทำให้ราคาก๊าซ LNG นั้นลดต่ำลงสักเท่าไร ซึ่งจากที่ผมเคยเขียนบทความไปเมื่อไม่นานมานี้ว่ากูรูระดับโลกนั้นก็ยังมองว่าราคาก๊าซ LNG นั้นจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงอยู่ดี

ดังนั้น สิ่งจำเป็นที่จะต้องเริ่มดำเนินการ ก็คือ การพิจารณาหาทางที่จะให้มีการสำรวจก๊าซธรรมชาติในประเทศเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุด โดยจะต้องมีการเปิดสัมปทานใหม่ รวมถึงการพิจารณาการขยายหรือต่ออายุสัญญาสำหรับแหล่งที่ยังมีศักยภาพ ทั้งนี้ก็เพื่อลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติทั้งจากประเทศสหภาพพม่าและในรูปของก๊าซ LNG ซึ่งทั้งสองแหล่งนั้นมีราคาที่สูงกว่าอ่าวไทย ซึ่งในตอนหน้าเราจะไปคุยกันถึงเรื่องของระบบสัมปทานของประเทศไทยนะครับ